ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“มะเร็งรักษาได้ทุกที่ ที่มีความพร้อม” หนึ่งในนโยบายยกระดับบัตรทอง ของ นายอนุทิน ชาญชีวรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการให้ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน

นั่นเพราะปัจจัยที่ส่งผลต่อการรักษามะเร็ง คือการตรวจและเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะทำให้โอกาสรักษาหายหรือรอดชีวิตสูงขึ้น

ในวันนี้ “The Coverage” จะพามารู้จักกับ ศูนย์เชี่ยวชาญสาขาโรคมะเร็งช่องปากครบวงจร โรงพยาบาลอุดรธานี ที่มีความโดดเด่นในการให้บริการแก่ผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากแบบครบวงจร ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง การส่งต่อ การรักษา และการดูแลฟื้นฟูหลังการรักษา

ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยบริการที่สำคัญ ที่รองรับนโยบาย “มะเร็งรักษาได้ทุกที่ ที่มีความพร้อม” ในครั้งนี้

ทพญ.ศิริลักษณ์ วีระเศรษฐกุล หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลอุดรธานี ให้ข้อมูลว่า มะเร็งช่องปากถือเป็นโรคสำคัญ มีความรุนแรงและมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งช่องปากรายใหม่วันละ 12 ราย หรือประมาณ 4,000 ราย/ปี ปัญหาคือผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยช้าทำให้รักษายาก อัตราการรอดชีวิตต่ำเนื่องจากโรคลุกลามไปมากแล้ว

ด้วยเหตุนี้กลุ่มงานทันตกรรมจึงได้พัฒนาศักยภาพในการดูแลรักษาทั้งด้านบุคลากร สถานที่และระบบบริการในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก เน้นหลักให้บริการรวดเร็ว ปลอดภัย มีการฟื้นฟูสภาพครบวงจร รวมทั้งให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองเพื่อให้ค้นพบผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงหรือเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้น อันจะทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีกว่าเดิม

“การคัดกรองในอดีตที่ผ่านมายังไม่ครอบคลุมเนื่องจากขาดทั้งบุคลากรและภาระงานที่มีเยอะ ปัญหาเหล่านี้ทำให้เราพยายามพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยมะเร็งช่องปากทั้งระบบ โดยให้ความสำคัญกับการคัดกรองเพื่อให้เจอผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น

“อย่างรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปาก ถือเป็นอาการเริ่มแรกที่สำคัญ ถ้าสามารถพบได้ จะทำให้การรักษาง่ายขึ้น  ซึ่งการพัฒนาระบบการคัดกรองจะมีทั้งการคัดกรองเชิงรุกโดยบุคลกรของโรงพยาบาล การคัดกรองโดยเครือข่ายทันตสาธารณสุขในชุมชน และยังได้พัฒนาแอปพลิเคชันให้ประชาชนสามารถคัดกรองได้ด้วยตัวเองด้วย" ทพญ.ศิริลักษณ์ กล่าว

สำหรับกระบวนการในการรักษาจะเริ่มจากการคัดกรอง โดยในปี 2561 เป็นปีที่เริ่มปูพื้นความรู้แก่ทันตบุคลากรในจังหวัด เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการตรวจคัดกรองและตรวจรอยโรคในระยะเริ่มแรก ส่วนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ไม่มีทันตาภิบาลหรือทันตแพทย์ประจำก็จะลงไปตรวจคัดกรองเชิงรุกให้ โดยการตรวจจะเน้นที่คนอายุ 60 ปีขึ้นไปก่อน

อย่างไรก็ดี ในปี 2562-2563 ตรวจพบว่ายังมีกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ที่ตรวจเจอมะเร็งในระยะเริ่มต้นด้วย จึงมีการขยับกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มดังกล่าวด้วย

"จากการคัดกรองเชิงรุกเมื่อปลายปี 2563 พบผู้ป่วยมีรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปากประมาณ 5.8% ปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่มีแผลเรื้อรังในช่องปาก มีพฤติกรรมเสี่ยงสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เคี้ยวหมาก ซึ่งถ้าตรวจเจอรอยโรคก็จะนัดมาตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม หากเป็นมะเร็งก็จะส่งเข้ารับการรักษาต่อไป" ทพญ.ศิริลักษณ์ ระบุ

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่บุคลากรของโรงพยาบาลไม่สามารถลงไปตรวจได้ในทุกๆ ชุมชน ดังนั้นจึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจคัดกรองด้วยตัวเองได้ เป็นลักษณะเหมือนแบบสอบถาม เพื่อดูว่ามีรอยโรคในช่องปากหรือไม่ มีปัจจัยเสี่ยงสูบบุหรี่ ดื่มสุราหรือไม่

จากนั้นจะมีค่าคะแนนขึ้นมาว่าคะแนนเท่าไหร่ถึงจะเสี่ยง และมี Fast track ให้ในกรณีที่มีความเสี่ยงและต้องการตรวจเพิ่มเติม หรือสามารถไปตรวจยืนยันอีกชั้นที่ รพ.สต. ใกล้บ้านก่อนก็ได้

ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้ป่วยนอกในคลินิกทันตกรรมของโรงพยาบาลก็จะมีจุดคัดกรองให้ตรวจด้วยอีกทาง โดยเน้นที่คนอายุ 40 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังมีระบบการให้คำปรึกษาและส่งต่อสำหรับน้องๆ ใน รพ.สต. หรือโรงพยาบาลชุมชนเพราะบางครั้งผู้ป่วยอยู่ไกล ในพื้นที่ก็จะส่งข้อมูลมาขอคำปรึกษาก่อนเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องเดินทางบ่อยครั้ง

ในส่วนของขั้นตอนการรักษานั้น ขอบเขตการรักษาจะรักษามะเร็งทุกชนิดในช่องปาก ทั้งนี้ เมื่อตรวจคัดกรองแล้วสงสัยว่ามีความเสี่ยงก็จะนัดผู้ป่วยมาทำการตรวจวินิจฉัยที่คลินิก ส่งตรวจชิ้นเนื้อโดยใช้เวลาทราบผล 1-2 สัปดาห์ และหากทราบผลว่าเป็นมะเร็งก็จะนัดคนไข้มาคุยถึงแนวทางการรักษา ซึ่งมะเร็งช่องปากจะต้องทำการผ่าตัดแล้วฉายรังสีหรือทำเคมีบำบัดร่วมด้วย ก่อนผ่าตัดจะต้องถูกส่งไปเตรียมช่องปากเพื่อกำจัดสาเหตุของโรคหรือถอนฟันที่ไม่ดีออกไปก่อนแล้วจึงทำการรักษา

"ส่วนมากผู้ป่วยจะมี 2-3 ลักษณะ ในกรณีคนไข้ตกลงผ่าตัดก็จะนัดวินิจฉัยเพิ่มเติม ทำ lab investigation ทำ CT scan กำหนดวันนัดผ่าตัด และเมื่อแผลหายแล้วก็ส่งไปโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานีเพื่อรับการฉายรังสีรักษา หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่อยากผ่าตัด จะขอรับแค่รังสีรักษา เราก็จะทำ lab investigationทำ CT scan เตรียมให้แก่โรงพยาบาลมะเร็งฯต่อไป แต่ในกรณีที่คนไข้ปฏิเสธการรักษา เช่น ญาติไม่พร้อม อายุมากแล้ว ก็จะเข้าไปสู่กระบวนการดูแลรักษาระยะสุดท้ายโดยคลินิก palliative care ซึ่งจะเน้นการบำบัดความเจ็บปวดเป็นหลัก

"เราจะนัดผู้ป่วยที่ทำการรักษาแล้วมาติดตามอาการอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งขณะนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ผลการรักษาในผู้ป่วยต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก 17 ราย เข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดและฉายรังสี 10 ราย ปฏิเสธการรักษา 7 ราย ซึ่งผู้ป่วยที่ติดตามผลการรักษา 2 ปียังไม่พบการกลับมาเป็นซ้ำของโรค" ทพญ.ศิริลักษณ์ กล่าว

ด้าน พญ.ปิยะฉัตร วรรณาสุนทรไชย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลอุดรธานี และประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) สาขา Palliative Care เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า ในส่วนของการดูแลรักษาแบบประคับประคองหรือ Palliative Care นั้น ทางคลินิก Palliative จะดูแลผู้ป่วยในทุกโรคแต่ส่วนใหญ่ 80% จะเป็นผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งในส่วนของผู้ป่วยมะเร็งช่องปากก็จะมีทั้งคนไข้ที่ผ่าตัดได้และผ่าตัดไม่ได้ สำหรับคนไข้ที่ผ่าตัดได้ ส่วนมากจะเป็นมะเร็งก้อนเล็กที่ผ่าตัดแล้วต้องทำการฉายรังสีและมีอาการปวดเกิดขึ้นชั่วคราว ทางทีม Palliative ก็จะทำงานร่วมกับทีมแพทย์อื่นๆ ในการดูแล

ขณะที่ผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้ เช่น เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายๆ ทำได้เพียงฉายรังสีให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงบ้าง กลุ่มนี้กว่า 80-90% จะมีปัญหาเรื่องกินยากและปวด คลินิก Palliative จะดูแลในเรื่องการบรรเทาความปวดทั้งปวดจากรังสีรักษาและปวดจากก้อนมะเร็ง ดูแลทั่วไปแบบประคับประคองให้มีความทรมานน้อยที่สุด รวมทั้งให้คำปรึกษากับตัวผู้ป่วยและญาติว่าจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรบ้าง

“คลินิกก็มีทั้งผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยนอกมีคลินิกทุกวันช่วงบ่าย ส่วนผู้ป่วยในก็จะเดินดูคนไข้ที่อยู่ตามตึกต่างๆ ถ้าคนไข้อยู่ในเขตเทศบาลก็มีการติดตามดูแลที่บ้าน แต่ถ้าต่างอำเภอก็จะส่งต่อให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลช่วยติดตามดูแล ปรับยาให้ โดยให้คำปรึกษาผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ” พญ.ปิยะฉัตร กล่าว

พญ.ปิยะฉัตร กล่าวด้วยว่า เป้าหมายการทำงานของ Palliative Clinic จะพยายามลดความปวดลงให้ได้มากกว่า 50% ภายใน 3 วัน โดยเป็น KPI ที่โรงพยาบาลพยายามทำในเชิงคุณภาพเองเพราะถ้าไม่เน้นเรื่องนี้ ผู้ป่วยจะมีความเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง