ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ โดยในปี 2563 ไทยมีประชากรสูงอายุ 11.13 ล้านคน หรือ 16.73 % ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

การดูแลคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องให้ความสำคัญและสอดแทรกเข้าไปในทุกๆ มิติของบริการทางสังคม

สิ่งหนึ่งที่น่ากลัวสำหรับการเป็นผู้สูงอายุ คือการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงเนื่องจากเจ็บป่วยหรือชราจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

เมื่อไม่อาจช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองได้ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกสูญเสียคุณค่าความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกเป็นภาระแก่คนรอบข้าง ขณะที่ผู้ทำหน้าที่ดูแลก็ต้องเสียโอกาสในการหารายได้ เกิดความเครียดสะสมในครอบครัว และบางกรณีอาจถึงขั้นกระทบกับฐานะทางการเงิน

ส่วนในภาพรวมของประเทศก็ต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่จะร่วมสร้างผลิตภาพแก่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งผู้ตัวดูแลและตัวผู้สูงอายุเองที่สั่งสมองค์ความรู้และประสบการณ์มาตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังเกิดภาระงบประมาณในการรักษาดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเหล่านี้ด้วย

ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดคือการป้องกันหรือชะลอให้ผู้สูงอายุเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงให้ช้าและน้อยที่สุด

ที่เขตสุขภาพที่ 8 มีการจัดทำโครงการที่น่าสนใจขึ้นมาโครงการหนึ่ง มีชื่อว่า โครงการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ป้องกันความเสี่ยงหกล้ม สมองเสื่อม โดยใช้ Self -Sustained Movement Program (SSM Program)

 ที่เน้นเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อขา หน้าท้อง และกล้ามเนื้อแขน ร่างกายแข็งแรง ป้องกันการพลัดหกล้มและสมองเสื่อม สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ ถือเป็นโครงการที่ตอบโจทย์การชะลอการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงในกลุ่มผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี

รัชชดา สุขผึ้ง พยาบาลวิชาชีพ กลุ่มงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 8 ในฐานะผู้จัดการโครงการ SSM Program บอกเล่าถึงที่มาของการทำโครงการดังกล่าวว่า โปรแกรมการออกกำลังกายนี้ใช้ในคลินิกผู้สูงอายุที่ประเทศญี่ปุ่นและได้ผลดี ทางมหาวิทยาลัยชิซูโอกะซึ่งคิดค้นโปรแกรมนี้จึงได้นำมาเผยแพร่ในประเทศไทย ผ่านความร่วมมือระหว่างองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) และเขตสุขภาพที่ 8

การดำเนินการในลักษณะโครงการนำร่องมาแล้ว 3 ปีในพื้นที่ 4 ตำบลในจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และ หนองบัวลำภู รวมจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 100 คน ซึ่งการดำเนินการได้ผลลัพธ์ที่ดี ผู้สูงอายุที่ใช้ไม้เท้า พอมาเข้าโครงการก็ไม่ต้องใช้ไม้เท้าแล้ว จากที่เคยนั่ง พอเห็นเพื่อนยืนก็ยืนตามได้เอง ฝึกไปเรื่อยๆ ก็สามารถเดินได้เองโดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าอีก

ในปี 2564 นี้ ทางเขตสุขภาพที่ 8 จึงต้องการขยายผลให้ครอบคลุมทั้งใน 7 จังหวัดคืออุดรธานี สกลนคร นครพนม หนองคาย เลย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

รัชชดา กล่าวว่า ขั้นตอนการเข้าร่วมโปรแกรมนี้ ในขั้นแรกผู้สูงอายุจะต้องทำการทดสอบความแข็งแรงของร่างกายก่อน แบ่งเป็น 4 ฐาน คือ ฐานทดสอบความสามารถในการเดิน ฐานทดสอบความสามารถในการเคลื่อนไหว ฐานทดสอบความสามารถในการใช้มือ และฐานทดสอบความสามารถในการปรับเปลี่ยนท่าทาง จากนั้นนำคะแนนที่ได้มาแปลผลว่ามีระดับความแข็งแรงเท่าใด โดยใช้สัญลักษณ์เป็นสัตว์ต่างๆ เริ่มจากระดับที่ไม่ดีคือเต่า สุนัข ม้า กระต่าย และที่ดีที่สุดคือเสือชีตาร์

ทั้งนี้ เมื่อทดสอบร่างกายในรอบแรกแล้ว ผู้สูงอายุจะได้รับแจกหนังสือคู่มือ อุปกรณ์การออกกำลังกาย ซึ่งจะประกอบด้วย ลูกบอล ห่วงยาง วงแหวน และ ยางยืด พร้อมกับพี่เลี้ยงทำการสาธิตท่วงท่าในการออกกำลังกายให้ดู ซึ่งการออกกำลังกายนี้จะมีท่าทางที่ง่าย ปลอดภัย และสนุก เน้นกล้ามเนื้อ 3 ส่วน คือ กล้ามเนื้อแขน เพื่อให้ถอดเสื้อผ้าได้เอง กล้ามเนื้อมือ เพื่อให้ใส่กระดุมได้เอง กล้ามเนื้อหน้าท้อง ให้สามารถลุกนั่งได้ ป้องกันการติดเตียง

ผู้สูงอายุต้องเอาอุปกรณ์เอาไปฝึกเองที่บ้าน 3 ครั้งใน 2 สัปดาห์ การออกกำลังกายแต่ละท่าจะเริ่มจากจำนวนน้อยๆ แล้วเพิ่มจำนวนครั้งไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ต้องมาพบทีมพี่เลี้ยงเพื่อติดตามความคืบหน้าในทุกๆ 2 สัปดาห์รวม 6 ครั้ง จากนั้นเมื่อจบโปรแกรมการออกกำลังกายแล้วก็มาทดสอบกับทั้ง 4 ฐานอีกครั้งเพื่อดูว่ามีพัฒนาการความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมากน้อยแค่ไหน

"ผลลัพธ์จากการทำโครงการนำร่องได้ผลดี เราจึงขยายโครงการให้ครอบคลุมทั้ง 7 จังหวัดในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 โดยหวังว่าผู้สูงอายุจะแข็งแรง ไม่มีปัญหาการหกล้ม ไม่มีปัญหาป่วยแล้วติดเตียง กล้ามเนื้อแข็งแรง ยิ่งทำตอนอายุน้อยๆยิ่งแข็งแรงไปเรื่อยๆ" รัชชดา กล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการ SSM Program ในปี 2564 ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบสมรรถนะผู้สูงอายุใน 7 จังหวัด และจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการออกกำลังกายตามโปรแกรมนี้พร้อมๆ กันในเดือนถัดไป

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ มีจำนวนสูงอายุมาขึ้นเรื่อยๆ แม้ สปสช.จะดูแลระบบหลักประกันสุขภาพ เมื่อเจ็บไข้ก็สามารถไปรับการรักษาในโรงพยาบาล แต่จะดีกว่านั้นคือไม่ป่วย ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุยังแข็งแรงไปได้นานๆ

"ในการจำแนกผู้สูงอายุในทางวิชาการ เราแบ่งเป็นผู้สูงอายุที่ร่างกายแข็งแรง ไปไหนมาไหนได้เอง ช่วยเหลือตัวเองได้ เรียกว่าผู้สูงอายุติดสังคม แต่ถ้าไม่ค่อยแข็งแรง ออกไปไหนไม่ค่อยได้ แต่อยู่บ้านได้ ทำความสะอาดบ้านได้ ก็เป็นผู้สูงอายุติดบ้าน และกลุ่มที่ลุกจากเตียงไม่ได้ ก็เป็นผู้สูงอายุติดเตียง เราอยากให้มีผู้สูงอายุติดเตียงให้น้อยที่สุด ติดบ้านน้อยลงมา และติดสังคมเยอะๆ

“ในพื้นที่ กทม. ผู้สูงอายุอยู่แต่ในบ้าน หรือไม่ก็ไปอยู่ตามสถานดูแลคนชราหรือโรงพยาบาล และเพิ่งจะเริ่มตื่นตัวในการดูแลผู้สูงอายุ แต่ในต่างจังหวัดเราดูแลกันมานานแล้ว การมาครั้งนี้เพื่อมาดูตัวอย่างดีๆ โครงการนี้ที่ญี่ปุ่นซึ่งมีผู้สูงอายุเยอะมากและอายุยืนมากก็ทำ สปสช.เห็นว่าถ้าสามารถจัดกิจกรรมให้ต่อเนื่องก็จะทำให้ผู้สูงอายุมีร่างกายแข็งแรง แล้วเผยแพร่เพื่อเป็นตัวอย่างแก่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป" ทพ.อรรถพร กล่าว

สามารถรับชมเนื้อหาเพิ่มเติมได้ทาง https://youtu.be/BEGwb3zQYAk