ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดผลวิจัย อันตรายบุหรี่ไฟฟ้า พบรุนแรงกว่าบุหรี่มวน สิงห์อมควันมีโอกาสเกิดภาวะอิวาลีจากการสูบเพียงครั้งเดียว ปอดอักเสบเฉียบพลันถึงตายได้


ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า จากการวิจัยเรื่อง “อันตรายของการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์และนโยบายควบคุมการใช้ บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์” ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มีข้อสรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากกว่าบุหรี่มวน

ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีมากกว่าบุหรี่มวนนั้น ในระยะสั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ภาวะ ได้แก่ 1. ความเสี่ยงของการใช้อุปกรณ์ เช่น ระเบิด ส่งผลต่อความบาดเจ็บ พิการ และรุนแรงถึงเสียชีวิต 2. การเกิดภาวะอิวาลี (E-cigarette or Vaping Product Use-Associated Lung Injury : EVALI) ที่ทำให้ปอดอักเสบเฉียบพลัน และเป็นสาเหตุให้ผู้สูบเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ 80% ของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เกิดภาวะอิวาลี เป็นผู้ที่ใส่สารสกัดกัญชาในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า โดยจำนวนผู้ป่วยด้วยภาวะอิวาลีในสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 5,000 คน ขณะที่บุหรี่ธรรมดาจะไม่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้

“แม้จะสูบครั้งแรกหรือสูบครั้งเดียวก็สามารถป่วยเป็นภาวะอิวาลีและเสียชีวิตได้ หรือสูบเพียงไม่กี่ปีก็ป่วยและเสียชีวิตจากภาวะดังกล่าวได้” ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

สำหรับระยะยาว มีข้อบ่งชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำให้เกิดโรคเช่นเดียวกับบุหรี่มวนได้แล้ว เช่น โรคหัวใจ แต่ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคยังน้อยกว่า

“บุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยให้คนสูบบุหรี่มวนน้อยลงได้จริง แต่นั่นไม่ใช่การเลิกบุหรี่ แค่ผู้สูบเปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน ฉะนั้นจึงไม่มีความหมายอะไรในแง่การลดผลกระทบทางสุขภาพ” ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

อนึ่ง งานวิจัยดังกล่าว เป็นการทบทวนวรรณกรรมต่างประเทศซึ่งเป็นวารสารวิชาการปี 2553 - ปัจจุบัน ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง 7 ประเทศ และประเทศที่มีรายได้สูง 3 ประเทศ ควบคู่ไปกับเอกสารของหน่วยงานด้านสุขภาพ เช่น องค์การอนามัยโลก