ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บทเรียนจากพิษภัยของสุราและยาเสพติด ถูกสะท้อนหลายครั้งหลายคราวผ่านประสบการณ์ของผู้คนมากหน้าหลายตา เช่นเดียวกับเรื่องราวล่าสุดด้วยปากคำของกลุ่มวัยรุ่น “จากก้าวที่พลาดพลั้ง สู่วันที่ผ่านพ้น” ซึ่งเป็นหัวข้อเสวนาที่ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา

เวทีเสวนาที่จัดโดยเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน และมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว ในครั้งนี้ นับเป็นความคาดหวังอีกครั้งที่ต้องการสะท้อนบทเรียนชีวิตวัยรุ่น เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ใครที่กำลังติดกับดัก ได้ห่างไกลและหลุดพ้นจากหลุมดำนี้

เริ่มด้วย นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ แกนนำเยาวชนที่เคยติดหล่มยาเสพติด ที่สะท้อนเรื่องราวถึงการเริ่มต้นเข้าสู่วงจรอย่างจริงจังในช่วงวัยรุ่น ด้วยการเริ่มสูบบุหรี่ สูบกัญชา จากนั้นจึงเป็นยาบ้าที่ตามมา เนื่องด้วยปัญหาจากสภาพสังคมที่มีการระบาดของยาเสพติด ซึ่งคนรอบข้างอยู่ในแวดวงทั้งเสพและขาย จนทำให้มองว่าเรื่องยาเสพติดนี้เป็นเรื่องธรรมดา  

เมื่อยาเสพติดหาได้ง่าย เขาจึงเสพมากขึ้น ถลำลึกมากขึ้น จนเริ่มผันตัวมาเป็นผู้ค้าเพราะคิดว่าจะได้เสพยามากขึ้น แต่เมื่อตนเสพมากกว่าที่ขายมาได้ จึงเริ่มขโมยของ ขโมยเงิน จนครอบครัวระส่ำระสาย เป็นหนี้เป็นสิน สภาพร่างกายเริ่มแย่ และวนเวียนกับเรื่องเหล่านี้เป็นเวลา 8-9 ปีเต็ม

"พอเริ่มคิดว่าถ้ายังเป็นแบบนี้ ครอบครัวเราอาจจะล่มสลาย จึงค่อยๆ เลิกโดยใช้เวลาราวๆ 2 ปี แม้ยังมีความคิดแว๊บอยากจะกลับไปเสพ แต่โชคดีที่เราออกมาจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยมียาเสพติดแล้ว พอดีขึ้นก็มีโอกาสไปช่วยพ่อทำงานเพื่อสังคม ทำให้เริ่มเห็นคุณค่าของตัวเอง และนำมาสู่การรวมกลุ่มกันเรียกร้องเรื่องกฎหมายที่จะออกมาเป็นการคุ้มครองเยาวชน" นายสุรนาถ บอกเล่าเส้นทาง

เขายังให้มุมมองด้วยว่าจากประสบการณ์ของตนนั้น ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่จะทำให้ลดพื้นที่ของการพูดคุยลง และยิ่งทำให้ความรุนแรงทวีมากขึ้น ทำให้วัยรุ่นหนีปัญหา ดังนั้นการแก้ที่ดีต้องเริ่มจากการพูดคุยอย่างเข้าใจ รวมถึงการให้โอกาสที่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากวันนั้นสังคมไม่ให้โอกาสตนและครอบครัว ก็คงไม่มีวันนี้

เช่นเดียวกับอดีตเยาวชนผู้เคยก้าวพลาดอย่าง นายเอ (นามสมมุติ) ที่เริ่มทั้งเสพและขายยาเสพติดตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี ซึ่งเผชิญอยู่ในสภาพสังคมที่อาจเรียกได้ว่าเป็นดงยาเสพติด มีแฟลตสลัม มีคนถูกจับในคดียาเสพติดมากมาย กระทั่งต่อมาตนก็ถูกจับในคดีรุมโทรมที่ตนเองไม่ได้ทำ เมื่อมีอายุได้ 20 ปี จึงเริ่มคิดย้อนกลับไประหว่างอยู่ในคุกว่าชีวิตตนมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เขาได้มาอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนา ก็ได้คิดอะไรหลายอย่าง ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวตอนอายุ 24 ปี และไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก จนปัจจุบันได้รับโอกาสการทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และในเวลาว่างก็ขับจักรยานยนต์รับจ้าง มีค่าตอบแทนที่เพียงพอให้สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

ขณะที่เรื่องราวของ นายพิโชติ พลหาญ ผู้ก่อตั้งสถานที่ท่องเที่ยว “เรือนจำดอนกุล&Restaurant” เริ่มต้นด้วยความหลงผิดคิดอยากรวยทางลัด เมื่ออายุย่าง 20 ปี จึงตัดสินใจมาเป็นคนขายยา หวังได้เงินก้อนมาซื้อรถและทำธุรกิจ แต่เมื่อถูกจับ ก็ได้มีการเรียนต่อในคุก ศึกษาพฤติกรรมคน และคอยช่วยเหลือคนที่ติดคุก เหมือนเป็นพ่อบ้านจนได้รับการยอมรับ

ทว่าเมื่อเขาออกจากคุกมากลับพบว่าโอกาสนั้นไม่ได้เปิดกว้าง และไม่มีใครกล้าจ้างงานตน จึงติดสินใจรวบรวมพละกำลังที่มีในการก่อตั้งสถานที่ท่องเที่ยว “เรือนจำดอนกุล&Restaurant” เพื่อหวังให้เป็นสถานที่แห่งการสร้างโอกาสสำหรับคนที่ก้าวพลาด และเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน จึงดีใจที่ประสบการณ์ชีวิตของตนจะพอเป็นเครื่องเตือนใจให้กับวัยรุ่นได้บ้าง

ฟากฝั่งเหยื่อที่ต้องพิการจากคนเมาแล้วขับอย่าง น.ส.ราชาวดี ใจหงิม เล่าย้อนกลับไปในช่วงที่เรียนอยู่ชั้น ปวช.ปี 2 ซึ่งขณะนั้นรับงานพิเศษ เช่น การร้องเพลงตามงาน ตามร้านอาหาร กระทั่งได้มีโอกาสไปออดิชั่นและเข้ารอบรายการเกมโชว์ จนมีคนติดต่อเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้

ทว่าชีวิตของเธอกลับต้องผลิกผัน เมื่อวันหนึ่งถูกขอให้ไปช่วยร้องเพลงในงานเลี้ยงของเพื่อน ซึ่งภายในงานมีการดื่มกิน แม้ส่วนตัวเธอเองจะไม่ได้ดื่ม แต่ก็ได้ติดรถกลับมากับคนเมา กระทั่งรถแหกโค้งพลิกคว่ำ ทำให้ตนกระเด็นไปเบาะหลัง ส่งผลให้กระดูกหลังหักทับเส้นประสาทไขสันหลังพิการตลอดชีวิต ตั้งแต่ช่วงอกลงมา

"การที่ต้องพิการตอนโตแตกต่างจากการพิการตั้งแต่กำเนิด ทำให้เราต้องเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมด การใช้ชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบาก ขับถ่ายเองยังไม่ได้ และต้องใช้เงินมากกว่าคนปกติมากเป็นเท่าตัว เพราะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ก็พยายามเรียนหนังสือ จนสามารถจบปริญญาได้ภายใน 3 ปี ครึ่ง และปัจจุบันทำงานอยู่ที่มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์" เธอบอกเล่า

ในมุมของ น.ส.ราชาวดี สิ่งที่เธออยากบอกคือไม่มีใครเป็นสุขกับการเป็นคนพิการ และเสียใจทุกครั้งเมื่อคิดถึงเหตุการณ์วันนั้น จึงอยากฝากไว้กับทุกคนถึงสำนึกต่อส่วนรวม หากดื่มเครื่องดื่มก็ไม่ควรขับรถ พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้กฎหมายเอาจริงเอาจัง เพราะเธออยากเห็นการลงโทษผู้กระทำผิดจริงๆ เช่น การยึดใบขับขี่ ห้ามขับรถเป็นเวลากี่ปีตามฐานความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทำผิดซ้ำ ไม่ควรได้รับการรอลงอาญาแล้วให้ไปบำเพ็ญประโยชน์ เพราะเขาเหล่านั้นอาจจะไม่ได้สำนึกจริง และไม่เป็นธรรมกับเหยื่อ

เสียงสะท้อนเหล่านี้ จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่คาดหวังให้เป็นบทเรียนกับใครอีกหลายคน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป