ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“มองโกเลีย” มีภูมิประเทศกว้างขวาง ส่วนมากเป็นพื้นที่ชนบท มีกลุ่มประชากรเร่ร่อนและไม่มีทะเบียนราษฎรเป็นจำนวนมาก

ด้วยบริบททางภูมิประเทศและประชากรเช่นนี้ทำให้รัฐบาลมองโกเลีย พบความท้าทายในการจัดบริการสุขภาพให้ทั่วถึง

เพื่อแก้โจทย์ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลมองโกเลียจึงดำเนินแผนขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพผ่านเทคโนโลยีบนมือถือ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ประกอบกับการจัดทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเคลื่อนที่ ซึ่งให้บริการตรวจสุขภาพและคำปรึกษาถึงบ้าน

แผนงานดังกล่าวอยู่ภายใต้ โครงการ M-Health ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและความรู้จากองค์กรนานาประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) และกลุ่ม UHC Partnership ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังมีองค์กรในเกาหลีอย่าง Korea Foundation for International Health Care และ Community Chest of Korea ให้สนับสนุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งบริการปฐมภูมิในพื้นที่ห่างไกล เน้นกลุ่มประชากรเปราะบาง คนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน และคนจน

ทั้งหมดนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

แต่เดิม รัฐบาลมองโกเลียสร้างศูนย์บริการปฐมภูมิไว้ถึง 536 แห่งทั่วประเทศ มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมากกว่า 7,500 คน แต่ก็ยังไม่สามารถขยายการบริการได้อย่างทั่วถึง

เพราะประชากรที่อยูในพื้นที่ห่างไกลไม่สะดวกเดินทางมายังศูนย์บริการ ขณะที่ชาวมองโกเลียยังนิยมการรักษาโรคในโรงพยาบาลระดับทุติภูมิและตติยภูมิ ซึ่งมักเดินทางไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการป่วยรุนแรงแล้ว   

โครงการ M-Health จึงเสนอการจัดบริการเชิงรุก มีวิธีการให้บริการ 3 แบบ ได้แก่ ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากศูนย์บริการปฐมภูมิตรวจเยี่ยมบ้าน ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ร่วมกับการเยี่ยมบ้าน และส่งตัวผู้ป่วยตามบ้านมาที่ศูนย์บริการ

การเยี่ยมบ้านเน้นการตรวจสภาพร่างกาย ให้ความรู้และบริการด้านการส่งเสริมและป้องกันโรค ดูแลสุขภาพแม่และเด็ก ปัจจุบันดำเนินโครงการแล้วใน 21 จังหวัด

Chuluuntsetsetseg Erdenechuluun ผู้อำนวยการศูนย์บริการปฐมภูมิในเขตแมนดักค์ (Mandakh) จังหวัดดอร์นอโกบี (Dornogobi) กล่าวว่า การดำเนินโครงการ M Health ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการปฐมภูมิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยในปี 2562  สามารถให้บริการตรวจสุขภาพ และงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค คิดเป็นจำนวน 90% ของประชากรในเขตแมนดักค์

แม้แต่คนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนที่อาศัยอยู่ไกลจากศูนย์บริการเป็นระยะทางถึง 130 กิโลเมตร ก็สามารถเข้าถึงคำปรึกษาจากแพทย์ผ่านมือถือได้  

โนโรฟ บายาร์จาร์กัล (Norov Bayarjargal) คนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนในในทะเลทรายโกบี เล่าว่ามีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเยี่ยมตนและครอบครัวถึงบ้าน ให้บริการตรวจค่าคอเรสเตอรอล ระดับน้ำตาลในเลือด และทำอัลตราซาวด์ให้กับผู้หญิงในครอบครัว

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขพบว่าโนโรฟมีโรคไตและถุงน้ำดีในขั้นเริ่มต้น จึงส่งตัวเขาไปยังศูนย์บริการสุขภาพ ทำให้เขาได้รับยาและการรับการรักษาทันท่วงที

มองโกเลียเป็นหนึ่งใน 115 ประเทศ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การอนามัยโลกและ UHC Partnership ซึ่งสนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้ รวมทั้งอบรมเพิ่มความศักยภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขแห่งมองโกเลียดึงภาคเอกชนและองค์การด้านการพัฒนาเข้ามาร่วมพัฒนาระบบสุขภาพด้วยกัน

โครงการ M-Health ยังทำให้รัฐบาลมองโกเลียสามารถควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ได้ดี เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถสื่อสารข่าวสาร และให้คำปรึกษากับประชาชนผ่านระบบมือถือ

“การใช้เทคโนโลยีบนมือถือร่วมกับการจัดบริการปฐมภูมิ เป็นกุญแจหลักที่ทำให้ชาวมองโกเลียเข้าถึงบริการสุขภาพในช่วงโรคระบาดโควิด 19” นพ.เซอร์จีย์ ดิออดิทซา (Sergey Diorditsa) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำมองโกเลียกล่าว

มองโกเลียพบผู้ติดเชื้อโควิดรายแรกในวันที่ 11 พ.ย. 2563 และเพิ่มเป็น 4,073 รายภายในเวลา 4 เดือนหลังจากนั้น มีผู้เสียชีวิตเพียง 4 คนเท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มี.ค.)