ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลายมีนาคม นับถอยหลังสู่เดือนเมษายน เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเตรียมตัวรับมือ “อากาศร้อนจัด”

“ฤดูร้อน” เต็มไปด้วยภัยสุขภาพ โดยเฉพาะในหลายเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะเล็กๆ แต่อันตรายถึงแก่ชีวิต

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเตือนด้วยน้ำเสียงที่จริงจังว่า ในช่วงที่อากาศร้อน ระวังจะขาดน้ำ เกิดลมแดด-ฮีทสโตรก

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า ฤดูร้อน ประชาชนควรเลือกทำกิจกรรมทางกายในที่ร่ม หากออกแดดก็ไม่ควรใช้เวลานานไปหรือทำกิจกรรมนานไป

สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ควรจิบน้ำบ่อยๆ ทุกๆ 15-20 นาที เพื่อทดแทนการสูญเสียเหงื่อและป้องกันภาวะการขาดน้ำ ที่สำคัญคือควรออกกำลังในช่วงเช้าตรู่หรือช่วงเย็นเท่านั้น

“การออกกำลังกายที่หนักเกินไปและไม่มีการเตรียมพร้อมในช่วงอากาศร้อน จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี” นพ.สุวรรณชัย ระบุ

สำหรับภาวะผิดปกติที่รุนแรงจนถึงอันตราย มีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1. ลมแดดหรือ “ฮีทสโตรก” ซึ่งมีอาการหัวใจเต้นแรงและเร็ว อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส กล้ามเนื้อเกร็ง รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวลดลง ในบางรายถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้

2. ภาวะขาดน้ำหรือเพลียแดด จะมีอาการปวดหรือวิงเวียนศีรษะ ความดันต่ำ ปากแห้ง และโรคตะคริวแดด มักพบในคนที่ออกกำลังกายกลางแจ้งหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเกร็งที่กล้ามเนื้อ หากมีอาการดังกล่าวควรหยุดออกกำลังกายทันทีและให้รีบมาอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ดื่มน้ำให้เพียงพอ และหากอาการยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการอย่างละเอียด

3. โรคผิวไหม้แดด ผิวบริเวณที่เป็นจะมีรอยแดง ปวดแสบ ปวดร้อน ควรประคบด้วยความเย็น หมั่นทาโลชั่น ให้ความชุ่มชื้นบริเวณที่เป็นรอยไหม้เป็นประจำ โดยทั่วไปมักจะดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หากไม่ออกไปโดนแดดซ้ำ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ผิวหนัง

ทางด้าน กรมควบคุมโรค สธ. ก็ได้ออกมาเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารเช่นกัน เพราะมีโอกาสป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษได้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า ในช่วงนี้อุณหภูมิในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี และอาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ ส่งผลให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็งเป็นพิเศษ

สำหรับสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 15 มี.ค. 2564 พบผู้ป่วยจำนวน 16,581 ราย เสียชีวิด 1 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดอายุ 15-24 ปี

อาการของโรคอาหารเป็นพิษ เช่น อาการของผู้ป่วยจะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ อาจมีไข้ร่วมด้วย ในรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระมาก ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกหมดสติได้

การช่วยเหลือเบื้องต้น ควรให้จิบสารละลายเกลือแร่บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที

“อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นก่อนรับประทานทุกครั้ง อาหารกล่องควรแยกกับและข้าวออกจากกัน หากมีรูป รส กลิ่น สีผิดปกติไม่ควรทาน” นพ.โอภาส ระบุ