ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เตือนประชาชนเฝ้าระวัง "วัณโรค" ต่อเนื่อง หมั่นดูแลร่างกาย-รักษาสุขอนามัย ชี้รักษาหายได้หากรู้เร็ว-ปฏิบัติตามแพทย์เคร่งครัด ห้ามหยุดยาป้องกันเชื้อดื้อยา


นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 เนื่องในโอกาสวันวัณโรคโลก (World Tuberculosis Day) โดยระบุว่า ผู้ป่วยวัณโรคปอด กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 อาจมาด้วยอาการบางอย่างคล้ายคลึงกัน โดยโควิด-19 จะมีอาการไอ มีไข้ หายใจเหนื่อย ซึ่งมักเกิดในช่วง 1-14 วันหลังได้รับเชื้อ และอาจมีอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วงร่วมด้วย

ขณะที่ผู้ป่วยวัณโรคปอด มักมีอาการไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ โดยอาจมีเสมหะปนเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ต่ำๆ ซึ่งมักจะเป็นในช่วงบ่าย เย็น หรือกลางคืน รวมถึงเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ผิวหนังซีด เหลือง และเหงื่อออกตอนกลางคืน ดังนั้นอาการของวัณโรคและโควิด-19 จึงแตกต่างกัน กล่าวคือวัณโรคทำให้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจแบบเรื้อรัง ส่วนโควิด-19 ทำให้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน

"ขอให้ประชาชนหมั่นดูแลร่างกาย รักษาสุขอนามัย เลี่ยงสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท ลด ละ เลิกสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ เพื่อสุขภาพที่ดีป้องกันการติดเชื้อวัณโรค โดยวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ หากรู้เร็วและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด" นพ.เอนก ระบุ

นพ.เอนก กล่าวว่า ปัจจุบันโรควัณโรคสามารถวินิจฉัยได้จากการเอกซเรย์ปอด และการตรวจเสมหะผู้ป่วยเพื่อตรวจหาเชื้อวัณโรค ซึ่งหากพบว่าป่วยเป็นวัณโรค ผู้ป่วยควรป้องกันและควบคุมการแพร่เชื้อวัณโรค ได้แก่ 1. ไม่ควรนอนร่วมกับผู้อื่น 2. ควรสวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูกทุกครั้งเวลาไอหรือจาม 3. อยู่ในที่โปร่งโล่ง 4. ลด ละ เลิก สูบบุหรี่ และแอลกอฮอล์ 5. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง 6.ตรวจสุขภาพ ปีละ 1-2 ครั้ง

ทั้งนี้ หนึ่งในข้อควรระวังที่สำคัญคือ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอตามแผนการรักษา และไม่ควรหยุดยาเองแม้อาการจะทุเลาลง เพราะหากผู้ป่วยวัณโรคได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง คือหยุดยาก่อนกำหนดครบระยะรักษา หรือได้รับการรักษาไม่สม่ำเสมอ จะส่งผลให้เชื้อวัณโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ทนต่อยาที่เคยรักษา ทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยยาเดิมที่เคยใช้ได้ และเชื้อวัณโรคจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กลายเป็นเชื้อวัณโรคดื้อยาได้

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการติดต่อและการแพร่กระจายจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลอื่น ผ่านอากาศจากการไอ จาม โดยผู้ที่ใกล้ชิดสูดหายใจรับเชื้อวัณโรคเข้าไปจะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ โดยวัณโรคสามารถเป็นได้ทุกส่วนของอวัยวะทั่วร่างกาย เช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคลำไส้ วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบมากที่สุดคือ วัณโรคปอด