ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นาทีที่โควิด-19 รุกคืบไปทั่วทุกสารทิศของโลก เป็นนาทีเดียวกับที่ “ความเปราะบาง” ของมนุษยชาติสำแดงตัวออกมาในหลากหลายมิติ โรคระบาดครั้งประวัติศาสตร์นี้ได้ตั้งโจทย์ตัวใหญ่ และเร่งเร้าให้ทุกคนร่วมกันแสวงหาคำตอบกันอย่างจริงจัง

เราจะเรียนรู้ ปรับตัว และตั้งรับ กับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตอย่างไร และด้วยท่าทีเช่นใด ?

หากว่ากันตามที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 นิยามเอาไว้ ... นับจากนี้โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ทุกองคาพยพจะถูกร้อยเรียงและเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียว ชะตากรรมของทุกชีวิตบนดาวเคราะห์สีครามจะเป็นไปในลักษณะ “One World One Destiny” คือมีสุขด้วยกัน-มีทุกข์ด้วยกัน

แน่นอน ไม่มีใครอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์นี้ไปได้

แม้แต่เรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุดอย่าง อาหาร การคุกคามของเชื้อไวรัสร้ายก็ได้ทำให้ทุกอย่างผิดเพี้ยน แม้แต่ประเทศที่เคยมี “ความมั่นคงอย่างถึงที่สุด” ก็ยังสั่นคลอน นั่นหมายความว่า ในกลุ่มของผู้ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็จะยิ่งถูกบดขยี้จนต่ำเตี้ยเรี่ยดินมากกว่าเก่า

ข้อมูลจาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ให้ภาพสถานการณ์อาหารโลก โดยสถิติปี 2019 พบว่า มีประชากรโลกกว่า 2,000 ล้านคน หรือคิดเป็น 25.9% ของประชากรโลกทั้งหมด กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร

สำหรับ “เอเชีย” มีประชากรที่ตกอยู่ปากเหวมากถึง 1,000 ล้านคน

สำทับความรุนแรงด้วยข้อมูลจาก รายงานสถานการณ์วิกฤตอาหารโลกประจำปี ค.ศ. 2020 โดย โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) ที่ระบุว่า มีไม่ต่ำกว่า 165 ล้านคนทั่วโลก ใน 55 ประเทศ ที่กำลังเผชิญกับความอดอยาก หรือความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรงในปี 2020

WFP ยังคาดการณ์ต่อไปในอนาคตด้วยว่า หากสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงและกระจายวงกว้างขึ้น จะมีเพิ่มอีกอย่างน้อย 100 ล้านคน ที่เสี่ยงต่อความอดอยากขาดแคลนอาหาร

วิกฤต (อาหาร) ซ้อนวิกฤต (โรค)

สำหรับ “ประเทศไทย” แม้จะมีความมั่นคงทางอาหารอยู่ แต่จากวิกฤตโรคระบาดทำให้ระบบการผลิต-ขนส่ง และกระจาย ได้รับผลกระทบ

จากข้อมูล Global Food Security Index (GFSI) ซึ่งจัดทำโดย The Economist Intelligence Unit พบว่า ในปี 2019 “ประเทศไทย” มีระดับความมั่นคงทางอาหารอยู่ในอันดับที่ 52 จากทั้งหมด 113 ประเทศ

หากพิจารณาจากตัวเลขนี้ เห็นได้ว่าประเทศไทยอยู่ในระดับ “กลางตาราง” มีโอกาสที่จะขยับขึ้นไปในทิศทางที่แข็งแกร่งขึ้น หรือร่วงหล่นลงมาอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางได้เช่นกัน นั่นเป็นเหตุให้จำเป็นต้องทบทวนนโยบายด้านอาหารกันอย่างจริงจัง

การแพร่ระบาดในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของคนไทยโดยตรง ตั้งแต่ผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง การระงับการเดินทาง กิจการ และกิจกรรมทางสังคม เหล่านี้ทำให้คนจำนวนมากขาดรายได้ การผลิตและกระจายอาหารติดขัด

สถานการณ์ที่บานปลายไปตามระยะเวลาที่ทอดยาวออกไปนั้น ได้ทำให้โลกทั้งใบหมุนไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เหล่านี้กลายเป็นอุปสรรคของประเทศไทยในแง่เศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงัก การค้าขายระหว่างประเทศเต็มไปด้วยข้อจำกัด ธุรกิจการท่องเที่ยวถูกคลื่นแห่งความไม่แน่นอนถาโถม

2 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อันได้แก่ “ส่งออก-ท่องเที่ยว” ไม่สามารถใช้การได้ คนไทยจำนวนมากต้องอยู่อย่างสิ้นหวัง สองมือไขว่คว้าได้เพียงความวางเปล่า และ กลายเป็น “ประชาชนเปราะบาง” ในที่สุด

อย่างไรก็ดี แม้ว่าโควิด-19 ทำให้ภาพของ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” เด่นชัดขึ้น หากแต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็ปรากฏภาพการปรับตัวของผู้คน ชุมชน องค์กรและเครือข่ายทางสังคม ที่ร่วมไม้ร่วมมือกันเพื่อรับมือและหาทางออกจากปัญหา

น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เล่าว่า โควิด-19 ทำให้สิ่งที่ถูกซุกไว้ใต้พรมได้รับการเปิดออกมา โดยเฉพาะเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหาร” เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกอาหาร เราไม่เคยคิดว่าจะมีคนอดอาหารหรือเข้าไม่ถึงอาหาร ที่ผ่านมาเรามีความเชื่อกันถึงว่าสุนัขในเมืองไทยไม่มีวันอดตายเพราะขาดอาหาร

ทว่าในโควิด-19 สะท้อนว่าเรายังมีความอ่อนแอในเรื่องนี้ ตั้งแต่ “ที่มาของอาหาร” เพราะคนส่วนใหญ่จะเข้าถึงอาหารด้วยการ “ซื้อ” แต่โควิด-19 และมาตรการรัฐ เช่น ปิดเมือง ทำให้คนขาดรายได้ ไม่มีเงินซื้ออาหาร หรือผู้ที่มีเงินก็อาจซื้อหาอาหารไม่ได้ เพราะระบบการขนส่งและการกระจายมีปัญหา

เรื่องอาหารยังเป็น วิกฤตซ้อนวิกฤต คือในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ระบบเกษตรได้รับผลกระทบ ผู้ผลิตได้รับความเดือดร้อน ทั้งจำนวนผลผลิตตกต่ำ ราคาผลผลิตที่แปรปรวน ตัวของเกษตรกรหรือผู้ผลิตเองก็มีวิกฤตเรื่อง “หนี้สิน” อยู่แล้วด้วย

ตรงนี้สะท้อนว่า ระบบเกษตรของประเทศไทย เป็นระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงอยู่กับปัจจัยภายนอกมากเกินไป เช่น พึ่งพิงกับการส่งออก พึ่งพิงกับอุตสาหกรรม ฯลฯ เมื่อเกิดวิกฤตที่ทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง เราก็เกิดปัญหา ฉะนั้นนับจากนี้จำเป็นต้องปรับสมดุลใหม่ คือพึ่งพาตัวเองมากขึ้นตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ เมื่อเกิดวิกฤตเราจึงจะอยู่ได้อย่างมั่นคง

ในสถานการณ์โควิด-19 เราเห็นน้ำใจของคนไทยที่ช่วยเหลือกันหรือแบ่งปันกันอย่างรวดเร็ว แต่เราไม่เห็นมาตรการของรัฐที่เข้ามาช่วยในเรื่องของระบบ ซึ่งจริงๆ แล้วการเข้าถึงอาหารของคนทุกคนในสังคมไทย ไม่ควรต้องมาจากการสงเคราะห์ แต่ควรเป็นสวัสดิการของรัฐ หรือมีมาตรการจากรัฐเมื่อวิกฤตเกิดขึ้น ทัศนีย์ ระบุ

ฉะนั้น นอกเหนือไปจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตการณ์เฉพาะหน้าแล้ว ในระยะยาวจึงจำเป็นต้องมีการวางแผน-กำหนดทิศทางอย่างเป็นระบบ เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นอีก

สิทธิในอาหาร ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญ

ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม จึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และได้ร่วมกันพิจารณาระเบียบวาระที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารกันอย่างเข้มข้น

หนึ่งในสองระเบียบวาระที่เข้าสู่การพิจารณา และได้รับฉันทมติจากที่ประชุมโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน นั่นคือ ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายทางร่วมกัน โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเสมือนหนึ่งเป็น “เพื่อนร่วมทาง” ที่จะร่วมกันก้าวไปให้ถึงหมุดหมายที่วางไว้

หลักการสำคัญคือ มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนมีการจัดการร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในทุกภาวะวิกฤต ประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในอาหาร เข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ได้อย่างเป็นธรรม

สำหรับมติสมัชชาสุขภาพฯ นี้ วิธีเขียนจะแตกต่างไปจากปีก่อนๆ คือมีการปักธงเอาไว้ร่วมกันว่า คนไทยทุกคนต้องเข้าถึงอาหารได้ ถือเป็น “สิทธิของคนไทยทุกคน” ซึ่งแน่นอนว่าสิทธิที่สูงสุดคือการกำหนดสิทธินั้นไว้ใน “รัฐธรรมนูญ” จากนั้นต้องมีแผนนโยบายที่ชัดเจน

มติดังกล่าว จึงครอบคลุม 5 ประเด็นย่อย ประกอบด้วย 1. สิทธิในอาหาร เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในประเทศไทยที่ต้องได้รับการปกป้อง ดูแล และคุ้มครอง 2. ใน 5 ปีข้างหน้า หรือภายใน พ.ศ. 2568 ประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถจัดการอาหารในภาวะวิกฤตได้

3. การพัฒนาระบบอาหารให้พร้อมรับภาวะวิกฤต ครอบคลุมเรื่องการผลิต การสำรอง การกระจาย การแลกเปลี่ยน และการแบ่งปันอาหาร 4. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบดูแลประชากรเปราะบาง และประชาชนที่ขาดความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต 5. การพัฒนาระบบการจัดการร่วมกันเพื่อความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต

ในส่วนของการ “ขับเคลื่อน” มติสมัชชาสุขภาพฯ นี้ให้บรรลุผลนั้น มีการพูดคุยและวางแนวทางกันในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) นัดแรกของปี 2564 เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

สาระสำคัญของการหารือในวันนั้นคือ จะผลักดันให้มีการบัญญัติ “สิทธิในอาหาร” ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ร่วมกับการกำหนดเป้าหมาย “ให้ประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถจัดการปัญหาความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤตได้” ลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมถึงผลักดันให้เกิดการดำเนินการของกลไกที่เกี่ยวข้องภายใต้ พ.ร.บ.คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 เพื่อรองรับภาวะวิกฤต

การดำเนินการเหล่านี้ สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ บอกว่า องค์ประกอบของการพัฒนาระบบอาหารให้พร้อมรับภาวะวิกฤต จะมีทั้งในด้านการผลิตอาหาร ด้านการสำรองอาหาร ตลอดจนด้านการกระจาย การแลกเปลี่ยน และการแบ่งปัน

สำหรับ “รูปธรรม” ของการพัฒนาระบบเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต จะมีด้วยการหลากหลาย

เริ่มตั้งแต่มาตรการควบคุมราคาสินค้าอาหาร การสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ต้นแบบ จัดทำผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ กำหนดมาตรการทางภาษี จัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นหรือธรรมนูญสุขภาพชุมชน การจัดตั้งกลไกและระบบสำรองอาหารอย่างมีส่วนร่วม ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถใช้งบประมาณและทรัพยากรในการแก้ปัญหา ฯลฯ

“หลังจากนี้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อนเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงต่างๆ อปท. รวมไปถึงเครือข่ายองค์กรชุมชน ซึ่งนอกจากการดำเนินการในระดับนโยบายแล้ว ยังจะต้องทำให้เกิดความพร้อมด้านองค์ความรู้ และพัฒนาไปสู่การปฏิบัติต่อไป” นางทิพย์รัตน์ ระบุ

มติสมัชชาฯ สู่เวที สุดยอดผู้นำอาหารโลก

ระหว่างที่กลไกภายในประเทศกำลังดำเนินไป ในระยะเวลาอันใกล้นี้ กลไกระดับนานาชาติก็มีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่น่าสนใจ และสัมพันธ์โดยตรงกับเรื่องความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นในที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก ครั้งที่ 47 (CFS) ระหว่างวันที่ 8-11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์กว่า 1,800 ชีวิต จาก 146 ประเทศทั่วโลก

การประชุมภายใต้หัวข้อหลัก “สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงอาหารและโภชนาการ” เปิดให้ประเทศสมาชิกได้อภิปราย และร่วมกันแสดงเจตจำนงในการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงาน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงระบบอาหารฯ

มิเชล ฟาครี ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิในการเข้าถึงอาหาร (United Nations Special Rapporteur on the Right to Food) กล่าวในการประชุมว่า จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นจากระบบอาหาร ควบคู่ไปกับการดูแลผู้ด้อยโอกาส คนเปราะบาง และเกษตรกรรายย่อย

“เราต้องสร้างให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่สมดุล และหัวใจสำคัญของการปรับเปลี่ยนระบบอาหารคือต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นจริง” ผู้แทนพิเศษยูเอ็น ระบุ

ที่สุดแล้ว ที่ประชุม CFS ครั้งที่ 47 ซึ่งมี ดร.ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้ลงมติรับรอง “นโยบายระดับโลกว่าด้วยแนวทางปฏิบัติระบบอาหารและโภชนาการ” ซึ่งจะถูกนำมาแปลงเป็นแผนปฏิบัติการในระดับประเทศต่อไป

นโยบายระดับโลกว่าด้วยแนวทางปฏิบัติระบบอาหารฯ ฉบับเดียวกันนี้ ยังจะถูกนำไปใช้เป็นเอกสารสำคัญใน การประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit) เดือนกรกฎาคม 2564 (การประชุมระดับรัฐมนตรี) และกันยายน 2564 (ระดับนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี)

นั่นหมายความว่า นอกจากประเทศไทยจะอยู่ในฐานะหัวขบวนของ CFS ครั้งที่ 47 แล้ว ประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในฐานะ “แหล่งผลิตอาหารโลก” หรือ “ครัวโลก” ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาหารโลกด้วย

ฉะนั้นจังหวะก้าวนับจากนี้ ไทยต้องมีความพร้อมในทุกด้าน โดยล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เจ้าภาพหลัก ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะองค์กรสานพลัง เพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อสรุปเป็นข้อมูลวิชาการสำหรับนำไปเสนอในเวทีโลก

น.ส.ยุพดี เมธามนตรี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กษ. บอกว่า ขณะนี้ กษ.อยู่ระหว่างเตรียมประเด็นข้อเสนอ “Food  System Transformation” ของประเทศไทย เพื่อเตรียมไปนำเสนอ โดยก่อนหน้านั้นจะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็น “National Dialogue” หรือการรับฟังความคิดเห็นระดับชาติ ประมาณ 3 ครั้ง

“กระทรวงเกษตรฯ เป็นภาคียุทธศาสตร์ในการจัดทำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่องนี้อยู่แล้ว ฉะนั้นการขับเคลื่อนก็จะสัมพันธ์โดยตรงกับมติสมัชชาฯ ส่วนการเปิดรับฟังความคิดเห็นระดับประเทศนั้น เบื้องต้นอาจไม่ได้ครอบคลุมเรื่องจำนวนคน แต่จะเน้นไปที่ผู้มีบทบาทสำคัญกับการขับเคลื่อนงานโดยตรง” น.ส.ยุพดี ระบุ

สำหรับการรับฟังความคิดเห็นระดับชาติ กษ. จะสานพลังร่วมกับ สช. ในการจัดเวที โดย Key Message ที่จะนำไปเสนอ คือการตอกย้ำใน 3 ประเด็นสำคัญของมติสมัชชาสุขภาพฯ “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” ได้แก่ สิทธิในอาหาร ระบบสำรองและกระจายอาหาร และการสร้างระบบภูมิคุ้มกันรองรับภาวะวิกฤต ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะเปิดวงพูดคุยในเดือนมีนาคมนี้

เผยแพร่ครั้งแรก : นิตยสารสานพลัง ประจำเดือนมีนาคม 2564
https://www.nationalhealth.or.th/node/3921