ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สัปดาห์นี้ สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ในภาคเหนือ-อีสาน ยังคงอ่วมหนักต่อไป ซึ่งล่าสุดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ โดยระบุว่า ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

PM 2.5 เป็นเรื่องที่พูดกันอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีความพยายามแก้ไขมาหลายวิธี โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายเข้ม แต่ปรากฏว่าก็คลี่คลายปัญหาได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

ล่าสุด มีความพยายามในการแก้ปัญหาครั้งใหม่ในระดับประเทศ โดยเปลี่ยนวิธีการจาก “บนลงล่าง” มาเป็นการใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า “สมัชชาสุขภาพ” ที่เน้นเรื่องกระบวนการการมีส่วนร่วม

ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะองค์กรสานพลัง ได้ร่วมกับ จ.อุดรธานี โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” ขึ้น

ใช้ชื่อว่า เวทีสมัชชานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2564 “อุดรธานี อากาศดีอย่างยั่งยืน ซึ่งมีทั้งภาครัฐระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ภาคเอกชน โรงงาน ภาคประชาสังคม ฯลฯ เข้าร่วม

เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ ต้องเริ่มจากอธิบายกระบวนการ สมัชชาสุขภาพ ก่อน

กระบวนการดังกล่าว คือการชักชวนผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยกัน กำหนดแนวทาง และวิธีการแก้ไขปัญหาตามภารกิจหรือหน้างานของหน่วยงานนั้นๆ

ข้อดีของกระบวนการนี้ 1. วิธีการแก้ปัญหาเกิดจากการมองเห็นปัญหาร่วม และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยินดีของทุกฝ่ายที่จะร่วมแก้ไขโดยไม่มีการบังคับกัน 2. กระบวนการนี้ได้รับรองรับตามกฎหมาย คือถูกบัญญัติอยู่ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

ส่วน สมัชชาเฉพาะประเด็น ก็ตรงตามชื่อ นั่นคือเป็นการแก้ปัญหาโดยตั้งต้นมาจาก “ประเด็นปัญหา” ซึ่งแตกต่างจาก สมัชชาสุขภาพจังหวัด ที่ตั้งต้นมาจากพื้นที่

นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี บอกว่า มลภาวะทางอากาศเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบ

แม้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เป็นวาระแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2562 มีการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ที่ระบุให้ส่วนราชการตั้งแต่ระดับกระทรวง จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ

แต่ทว่า ในข้อเท็จจริงกลับพบว่าคุณภาพอากาศยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร และมักจะทวีความรุนแรงในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี 

“การแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศจะอาศัยการดำเนินงานของภาครัฐเพียงลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ก่อให้เกิดมลพิษ” ผวจ.อุดรธานี ระบุ

ผู้ว่าฯ สยาม บอกอีกว่า การแก้ไขปัญหาด้วยนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม นำมาสู่การสร้างฉันทมติที่ทุกภาคส่วนยินยอมพร้อมใจดำเนินการด้วยความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง และส่วนรวม 

ผศ.ทพ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ว่าด้วยการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 และกลิ่นที่เกิดจากการทำสวนยางพาราในครั้งนี้ จะนำไปสู่มาตรการปฏิบัติได้จริง

“เวทีวันนี้เป็นความมั่งมั่นของคนอุดรธานีผ่านการนำประกาศเจตนารมณ์โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทำให้มีพลังต่อการขับเคลื่อนมากขึ้น เราใช้กระบวนการสมัชชาที่ให้ประชาชน หน่วยงานของรัฐ และที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้วยหลักการเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะสู่นโยบายสาธารณะ โดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและอย่างมีส่วนร่วม” อาจารย์วีระศักดิ์ ระบุ

นอกจาก จ.อุดรธานี แล้ว ยังมีเวทีทำนองเดียวกันนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ สงขลา นครราชสีมา สระบุรีและขอนแก่น รวมทั้งเวทีของกลุ่มธุรกิจเอกชน หน่วยงานราชการ และเยาวชนคนรุ่นใหม่

จากนั้น ทาง สช.และ สสส.จะรวบรวมความรู้และความเห็นจากเวทีต่างๆ มาคุยหาฉันทมติกันในเวทีสมัชชาเฉพาะประเด็นว่าด้วยเรื่องนี้โดยเฉพาะอีกครั้ง ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอที่ได้จากเวทีสมัชชาฯ นำข้อเสนอดังกล่าวไปปฏิบัติต่อไป