ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘รพ.นครพิงค์’ พร้อมให้บริการตามนโยบายยกระดับบัตรทอง “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” รักษาแบบครบวงจรได้โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ครอบคลุม “ตรวจรักษา-ฉายแสง-เคมีบำบัด-ยาพุ่งเป้า-คลินิกกัญชา”


นพ.วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลนครพิงค์ ได้เริ่มดำเนินงานตามนโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” หรือ Cancer Anywhere มาตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 โดยผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาได้โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ครอบคลุมทั้งการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน การฉายรังสี รวมถึงการตรวจติดตามหลังการรักษา ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

นพ.วรเชษฐ กล่าวว่า พื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 เชียงใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ราว 3,500 รายต่อปี ในอดีตมีโรงพยาบาลที่สามารถให้การรักษาด้วยการฉายรังสีเพียง 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และ โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง นั่นทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวการรักษาที่ยาวนาน

นั่นทำให้ ทางเขตสุขภาพที่ 1 มีนโยบายพัฒนาให้โรงพยาบาลนครพิงค์เป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้น นำมาสู่การอนุมัติก่อสร้างศูนย์รังสีรักษามะเร็ง และเปิดให้บริการตั้งแต่เดือน พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา

สำหรับศูนย์รังสีรักษามะเร็งของโรงพยาบาลนครพิงค์ มีศักยภาพในการตรวจรักษามะเร็งได้ครบวงจร ตั้งแต่การคัดกรอง การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการและรังสีวินิจฉัย การรักษาโดยการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด  ยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) ยาภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) และการฉายรังสี โดยมีเครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้มแสง 4 มิติ เครื่องจำลองการฉายรังสีแบบ 4 มิติ และให้การรักษาด้วยการฝังแร่ระบบ 3 มิติ ปัจจุบันจึงช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรับการรักษาและลดเวลาการรอคอยได้

“ศักยภาพของเราแค่เฉพาะเรื่องของการฉายแสง เราให้บริการผู้ป่วยต่อปีเกือบ 700 ราย ทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งสามารถเข้ารับการรักษาได้เร็วมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีโอกาสที่การจะรักษามะเร็งสำเร็จรวดเร็วขึ้น” นพ.วรเชษฐ กล่าว

นอกจากนี้ ศูนย์รักษามะเร็ง โรงพยาบาลนครพิงค์ ยังได้เปิดคลินิกมะเร็งประคับประคองและกัญชาทางการแพทย์ ทำหน้าที่ช่วยให้คำปรึกษาผู้ป่วย การดูแลตัวเองที่บ้าน และการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม เป็นหนึ่งใน 4 บริการตามนโยบายยกระดับบัตรทองของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข โดยผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง สามารถเข้ารับบริการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพแห่งใดก็ได้ในระบบบัตรทองที่มีความพร้อมในการให้บริการ ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยไปจนถึงการรักษา โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว

“นโยบายนี้เป็นการกระจายระบบบริการดูแลผู้ป่วยมะเร็งไปยังแต่ละหน่วยบริการ ซึ่งจะพิจารณาถึงศักยภาพและระยะเวลารอการรักษา ผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลและระบบการส่งต่อระหว่างกัน โดยปัจจุบันโรงพยาบาลนครพิงค์ กลายเป็นอีกหนึ่งแห่งที่มีความพร้อมเพื่อรองรับประชาชนในเขตสุขภาพที่ 1 ให้ได้รับยาเคมีบำบัดที่โรงพยาบาลเครือข่ายใกล้บ้าน เพื่อความสะดวก ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว