ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ผู้สูงอายุ” ซึ่งมีร่างกายเปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้น กลับต้องเผชิญความยากลำบากในการเข้าถึงการรักษา เพราะเดินทางไปโรงพยาบาลด้วยตัวเองไม่ไหว

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงต้องอาศัยให้บุตรหลานพามา แต่บุตรหลานก็ไม่ค่อยมีเวลา เพราะสาละวนอยู่กับงานตั้งแต่จันทร์-ศุกร์

ปัญหานี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นความทุกข์ของครอบครัวขนาดเล็กที่มีกำลังคนในครอบครัวไม่เพียงพอ

ทว่าปัญหานี้กำลังได้รับการคลี่คลาย จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มอบหมายให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ “เปิดบริการคลินิกผู้สูงอายุ” นอกเวลาราชการ โดยมุ่งเน้นไปที่ในวันเสาร์-วันอาทิตย์

โรงพยาบาลกันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นตัวอย่างแรกที่ได้เปิดบริการใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุและบุตรหลาน ด้วยการเปิด “คลินิกผู้สูงอายุ” ทุกวันเสาร์เวลา 8.00-12.00 น.

“บุตรหลานจะสะดวกในการพาผู้สูงอายุได้มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ส่วนผู้สูงอายุก็จะไม่ต้องรอคิวรักษานาน โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ไม่ต้องเสี่ยงติดเชื้อจากความแออัดในโรงพยาบาลด้วย” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สธ. กล่าวขณะตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงพยาบาลกันทรลักษณ์

สำหรับการให้บริการ “คลินิกผู้สูงอายุ” ของโรงพยาบาลกันทรลักษณ์ ครอบคลุมการดูแลกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทันตกรรม เวชศาสตร์ครอบครัว โดยผู้ป่วยจะใช้เวลาในการรับบริการรวมเพียงแค่ 15-20 นาทีเท่านั้น

คลินิกเริ่มนำร่องรับผู้ป่วยมาตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. 2564 หากได้รับการตอบรับที่ดีก็จะมีการขยายบริการเพิ่มเติมไปยังกลุ่มโรคอื่นๆ ด้วย

เช่นเดียวกับที่ โรงพยาบาลอุดรธานี ซึ่งได้เปิดให้บริการ “คลินิกผู้สูงอายุนอกเวลา” แล้วเช่นกัน โดยคลินิกของที่นี่ จะเปิดทุกวันอาทิตย์ เวลา 08.00-12.00 น.

นพ.ปิยะพงษ์ คำบูชา นายแพทย์ชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลอุดรธานี เล่าว่า การดำเนินการในเฟสแรกนั้น ได้จัดทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเข้ามาดูแลก่อน เพราะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะดูแลแบบองค์รวมและดูแลแบบเป็นครอบครัวด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพเฉพาะทาง ทางคลินิกก็จะนัดให้เจอกับแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ โดยมีระบบ Fast track ให้สามารถนัดเจอแพทย์เฉพาะทางทั้งในหรือนอกเวลาราชการโดยไม่ต้องรอคิว

สำหรับค่าบริการคลินิกนอกเวลา โรงพยาบาลอุดรธานีจะมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 300 บาท ส่วนค่าใช้จ่านอื่นๆ สามารถเบิกได้ตามสิทธิสุขภาพที่ผู้ป่วยมีทั้งหมด

“ในเฟสต่อไปหากมีผู้มารับบริการมากขึ้น ก็จำเป็นต้องมีแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคกระดูก เข้ามาร่วมตรวจด้วย แต่ขณะนี้ในเฟสแรก เรามีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 5 คน และมีพยาบาลที่เชี่ยวชาญการดูแลผู้สูงอายุมาให้การดูแลในเบื้องต้น” นพ.ปิยะพงษ์ ระบุ