ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เสียงตอบรับที่ดีต่อนโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” หรือ Cancer Anywhere ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นสิ่งยืนยันว่า การตัดสินใจเชิงนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) สามารถคลี่คลายความทุกข์ของผู้ป่วยได้จริง

แม้ว่าการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในครั้งนี้ จะนำโดย “ฝ่ายการเมือง” หากแต่ในทางปฏิบัติและการจัดการระบบย่อมเกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ “กรมการแพทย์” ในฐานะแม่งานและมือประสานสิบทิศ

“The Coverage” ได้พูดคุยกับ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เพื่อทำความเข้าใจรกรากของนโยบาย ตั้งแต่จุดเริ่มต้น การผลักดัน จนออกดอกผลเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้

อุปสรรครักษามะเร็งคือ รอคิวนาน

นพ.สมศักดิ์ บอกเล่าถึงการเดินหน้านโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม โดยเริ่มจากการฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาของโรคมะเร็งในประเทศไทย ที่มีสถิติผู้ป่วยรายใหม่ราวปีละ 1.2-1.3 แสนราย อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 7-8 หมื่นรายต่อปี

แน่นอน ตัวเลขเหล่านี้ส่งผลให้มะเร็งกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยมะเร็ง นอกเหนือจากระดับความรุนแรงของโรคแล้ว ยังมีอุปสรรคที่สำคัญคือ “เวลา” ที่ขวางกั้นไม่ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในหลายกรณีเมื่อตรวจเจอมะเร็งแล้ว แต่กลับต้องรอคอยคิวในการรักษานานอีกหลายเดือน

“รอคิวผ่าตัดอย่างน้อย 1 เดือน รอคอยคิวฉายแสงอีกอย่างน้อย 1-2 เดือน สรุปแล้วผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะโรค หรือเพราะรักษาช้ากันแน่ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของนโยบายยกระดับ ด้วยหลักการสำคัญคือการจัดสรรคิว บนฐานข้อมูลที่เชื่อมต่อกัน” อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ

นพ.สมศักดิ์ บอกว่า เรื่องนี้จะต้องยกเครดิตให้กับท่านรองนายกฯ อนุทิน ในฐานะผู้ผลักดันนโยบายจากการรับฟังเสียงสะท้อน ข้อร้องเรียนและความทุกข์ของประชาชน จนนำไปสู่การสร้างรูปธรรมการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้

ด้วยความสนใจเรื่องมะเร็งเป็นทุนเดิม นายอนุทิน ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่อย่างละเอียดจนทราบปัญหาแรกคือประเทศไทยยังมี “เครื่องฉายแสง” ไม่เพียงพอ นั่นทำให้ได้ตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องฉายแสงพร้อมกันทีเดียว 7 เครื่อง จัดสรรเพิ่มให้ครบทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ

การตัดสินใจเชิงนโยบายดังกล่าว ช่วยลดอุปสรรคเรื่องเครื่องมือ นำไปสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการรักษาที่เพิ่มมากขึ้น

“ปกติเครื่องฉายแสงมีราคาตั้งแต่เครื่องละ 100-200 ล้านบาท ในปีหนึ่งทั่วประเทศก็สามารถซื้อได้เพียง 3-4 เครื่องเท่านั้น และหากเขตสุขภาพใดซื้อเครื่องนี้มาสักเครื่องแล้ว งบที่จะเหลือจัดสรรไปทำอย่างอื่นก็แทบไม่ได้ ดังนั้นการผลักดันของท่านรองนายกฯ ช่วยแก้ปัญหานี้อย่างตรงจุด และเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้นโยบายนี้เกิดขึ้น” อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ

เชื่อมต่อข้อมูลด้วย แพลทฟอร์ม ออนไลน์

ถัดจากการปลดล็อคอุปกรณ์ ก็เข้ามาสู่เรื่องของการประสานและจัดสรรคิวระหว่างโรงพยาบาล ซึ่งกรมการแพทย์ได้พัฒนาแพลทฟอร์ม The One ใช้สำหรับตรวจสอบคิวการตรวจวินิจฉัยด้วยการสแกนคอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ในแต่ละโรงพยาบาลว่าเป็นอย่างไร

“ช่วงแรกเราเริ่มด้วยการจับคู่ระหว่างโรงพยาบาลราชวิถี กับสถาบันมะเร็งแห่งชาติก่อน ซึ่งจากที่ราชวิถีเคยมีคิวคนไข้เยอะมาก อย่างการตรวจแมมโมแกรมมีคิวยาวเป็นเดือน แต่พอได้จับคู่กันแล้วก็ไม่เหลือคิวอีก พอเข้ามานัดแล้ว อีกวันก็ทำได้เลย” นพ.สมศักดิ์ เล่า

สำหรับการให้บริการ กรมการแพทย์ได้ตระเตรียมความพร้อมด้วยการจัดอบรม “ผู้ประสานงานด้านมะเร็งประจำโรงพยาบาล” หรือ Cancer Coordinator ในช่วง 1-2 เดือนก่อนเริ่มต้นนโยบาย มีผู้เข้ารับการอบรมแล้ว 3 รุ่น จำนวนราว 400-500 คน ผู้ประสานงานเหล่านี้จะทำหน้าที่ช่วยเหลือในการจัดคิวและตอบคำถามให้กับผู้ป่วย ประจำอยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ

ฟากฝั่งของผู้ป่วยเอง ก็ได้มีแอปพลิเคชัน Cancer Anywhere ให้ใช้เป็นเสมือนใบนำทาง แทนการใช้ “ใบส่งตัว” ไม่ว่าผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยมะเร็งจากโรงพยาบาลใด หากโรงพยาบาลนั้นไม่พร้อม ก็สามารถประสานติดต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ และผู้ป่วยสามารถถือแอปฯ ไปเข้ารับการรักษาได้ทันที

ขณะที่ภาพรวมการดำเนินงานระดับประเทศ ได้เกิดการรวบรวมทะเบียนผู้ป่วยเป็นฐานข้อมูลกลางภายใต้ชื่อ Thai Cancer Based Plus ซึ่งขยายความร่วมมือสู่จำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมเก็บข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และเมื่อรวมข้อมูลผู้ป่วยที่มากขึ้นในแต่ละปี ข้อมูลเหล่านี้ก็จะกลายไปเป็น Big Data ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

ตั้งความหวัง : ให้บริการได้เร็วขึ้นอีกเท่าตัว

นพ.สมศักดิ์ อธิบายต่อไปว่า ความสำเร็จของการจัดทำนโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรากฐานที่วางไว้ในช่วงการตั้งรับกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกรมการแพทย์ ได้ทำความร่วมมือกับหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนในลักษณะเครือข่าย นั่นทำให้นอกจากจะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อระบบเข้าหากันได้ด้วย

“นโยบายมะเร็งในขณะนี้ เป็นการจับมือระหว่างเครือข่ายโรงพยาบาลภาครัฐ กับเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ส่วนภาคเอกชนยังคงอยู่บนความคาดหวังที่จะสามารถเจรจาเพื่อเข้าร่วมให้บริการได้ในอนาคตต่อไป” นพ.สมศักดิ์ ระบุ

แน่นอนว่าในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือนนับจากที่โครงการนี้เริ่มต้น ยังอาจเร็วไปที่จะสรุปถึงผลสำเร็จที่ได้ แต่หากมองจากจำนวนผู้ป่วยราว 1.5 หมื่นรายที่เข้าโครงการ พร้อมกับจำนวนสถานบริการอีก 238 แห่งทั่วประเทศที่เข้ามาร่วมกันทำให้นโยบายนี้เดินหน้า “นพ.สมศักดิ์” มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีพอสมควร

ส่วนการวัดผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ นพ.สมศักดิ์ อธิบายว่าจะประเมินจากตัวเลขสามตัว นั่นคือ 4-6-6 ซึ่งหมายความว่า หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยมะเร็ง จะต้องได้รับการรักษาภายใน 4 สัปดาห์ หากต้องรับเคมีบำบัด ต้องได้รับภายใน 6 สัปดาห์ เช่นเดียวกับรังสีรักษา ที่ต้องได้รับภายใน 6 สัปดาห์ ด้วยเช่นกัน

ตัวเลข 4-4-6 คือการวัดผลสัมฤทธิ์ หากแต่เป้าหมายที่อธิบดีกรมการแพทย์ท้าทายตัวเองคือ จะขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การลดตัวเลขเหล่านั้นให้เหลือเป็น 2-4-4 ให้ได้

นั่นหมายถึงคุณภาพในการรักษามะเร็งที่จะดีมากขึ้น จากการได้รับการรักษาที่รวดเร็วมากขึ้น รวมถึงการครอบคลุมไปยังสิทธิประกันสังคม ที่จะเพิ่มการเข้าถึงของกลุ่มประชาชนอีกจำนวนหนึ่งได้มากขึ้นด้วย

“เราเริ่มเห็นถึงโจทย์ที่ว่า ชีวิตคนไทยจะเป็นวีไอพีทั้งหมดได้หรือไม่ เริ่มได้รับการตอบสนองมากขึ้น ซึ่งความฝันต่อไปที่เราอยากเห็นคือการขยายเครือข่ายความร่วมมือเหล่านี้ไปสู่ทุกโรค หรือการแก้ปัญหาของคนกรุงเทพฯ ที่หากต้องนอนโรงพยาบาลก็ต้องได้นอน เพราะทุกวันนี้ยังไม่ใช่ โดยการหาจุดสมดุลในเกณฑ์การจ่าย แทนที่โรงพยาบาลเอกชนจะเตียงว่าง ก็สามารถได้เงินจากเตียงนั้น วิน-วินทุกฝ่าย” นพ.สมศักดิ์ ทิ้งท้าย