ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรคเชื้อดื้อยา ระบุ ยุทธศาสตร์รักษาวัณโรคฯ ต้องดู 2 ด้านควบคู่กัน กำกับการกินยา-รักษาด้วยสูตรยาที่ดีขึ้น ป้องกันผู้ป่วยแพร่เชื้อสู่สังคม


นพ.เจริญ ชูโชติถาวร ประธานคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาวัณโรคดื้อยาระดับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงสถานการณ์วัณโรคดื้อยาในประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดวัณโรคดื้อยาคือการทานยาไม่ต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องหาระบบการกำกับติดตามการทานยาของผู้ป่วย อาทิ การรับประทานยาต่อหน้าบุคคลที่สาม ซึ่งอาจเป็นครอบครัว หรือบุคลากรในระบบสาธารณสุขก็ได้

นพ.เจริญ กล่าวว่า สิ่งเป็นห่วงสำหรับวัณโรคดื้อยาในขณะนี้คือความเร็วในการเข้าถึงการวินิจฉัย และความสม่ำเสมอในการรับประทานยา เพราะถ้าเมื่อไหร่ผู้ป่วยเกิดการดื้อยาและทางโรงพยาบาลได้ใช้ยาสำรองที่มีไปแล้ว เมื่อเกิดการดื้อยาขึ้นมาอีกครั้งก็จะไม่มียารักษา เมื่อผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาก็จะแพร่เชื้อออกไปสู่สังคม ดังนั้นยุทธศาสตร์การรักษาวัณโรคดื้อยาจึงจำเป็นต้องหันกลับมาดูใน 2 ด้าน คือ 1. การกำกับการทานยาของผู้ป่วยให้ต่อเนื่อง 2. การรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาด้วยการหาสูตรยาที่ดีขึ้น

“นอกเหนือจากเรื่องความต่อเนื่องในการทานยาแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดวัณโรคดื้อยาได้ เช่น ผู้ป่วยเคยมีประวัติรักษาวัณโรคมาก่อน ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา เช่น อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ บางอย่าง เช่น ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย” นพ.เจริญ กล่าว

นพ.เจริญ กล่าวว่า สำหรับระบบการรักษาของประเทศไทยในปัจจุบัน กองวัณโรค กรมควบคุมโรค สธ. ได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำระบบยารักษาวัณโรคดื้อยาระยะสั้นมาใช้ ซึ่งจะช่วยลดระยะการรักษาจาก 18 เดือน เหลือเพียง 9 เดือน ขณะที่ยาสูตรใหม่ในปัจจุบันก็ถูกลงมาก ยารักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR) จากเกือบ 1 ล้านบาท เหลือเพียง 2 แสนบาท ส่วนวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR) จากเดิม 2-3 แสนบาท หรือเพียง 6-8 หมื่นบาท

“ที่ประเทศจีนมีการรักษาวัณโรคผ่านหน้าจอ หรือที่เรียกว่า Tele OPD โดยแพทย์จะพูดคุยหรือตรวจอาการผู้ป่วยผ่านทางหน้าจอ เมื่อตรวจเสร็จก็จะสั่งยาไปที่โรงพยาบาล ซึ่งหากเปรียบกับประเทศไทยก็อาจจะสั่งไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต เพราะนอกจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ยังจะช่วยลดภาระค่าเดินทางได้อีกด้วย” นพ.เจริญ กล่าว

อนึ่ง ปัจจุบันมีวัณโรคดื้อยาที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ 1. วัณโรคดื้อยาหลาย 2. วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก ซึ่งจากการคำนวณทางระบาดวิทยา คาดว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคจำนวน 2,500 ราย แต่จากการวินิจฉัยจริงพบว่ามีผู้เป็นวัณโรค MDR จำนวน 1,200 ราย ในจำนวนนี้เข้าถึงการรักษา 1,100 ราย ส่วนวัณโรค XDR คาดการณ์ว่าปัจจุบันมีราว 100 ราย แต่ปัจจุบันวินิจฉัยพบเพียง 30-40 รายเท่านั้น