ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความทุกข์ระทมของผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิด คือความยากลำบากในการรอคอยการรักษา ซึ่งระยะเวลาที่ทอดยาวออกไป หมายถึงประสิทธิภาพของการรักษาที่ค่อยๆ ลดลง

ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ให้สิทธิประโยชน์ในการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดฟรี หากแต่ก็ยังมีอุปสรรคของการเข้ารับบริการ นั่นคือการเดินทางไกลจากชนบทเข้าสู่ตัวเมือง หรือจากต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพมหานคร (กทม.)

มากไปกว่านั้น ด้วยโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก แทบทุกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาจึงตกอยู่ในสถานการณ์ผู้ป่วยหนาแน่น แออัด รอคิวนาน

กว่าจะมีการนัดหมายเพื่อให้เข้ามารับยาเคมี-ฉายแสงด้วยรังสีรักษา บางรายก็นานหลายเดือน

ทว่าล่าสุด นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นมา ความทุกข์ระทมของผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากเริ่มได้รับการคลี่คลาย การประกาศนโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” หรือ Cancer Anywhere ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบบริการสำหรับรักษาโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง

นโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม นอกจากจะมีการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่อเนื่องโดย “ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแล้ว” ยังเปิดช่องให้โรงพยาบาลรัฐ-โรงพยาบาลขนาดใหญ่ สามารถชักชวนโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาเป็น “เครือข่าย” การรักษาได้อีกด้วย

นั่นหมายถึงจำนวนหน่วยบริการที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการลดความหนาแน่น และลดระยะเวลาการรอคิวได้อย่างมหาศาล

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือการจัดบริการของเขตสุขภาพที่ 6 ณ จังหวัดชลบุรี ซึ่งโรงพยาบาลใหญ่อย่าง “โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี” ได้ทำการเชื่อมต่อการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยการทำสนธิสัญญาบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ “โรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร”

นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี บอกเล่าถึงสถานการณ์ผู้ป่วยมะเร็งให้ฟังว่า เดิมทีผู้ป่วยที่ต้องใช้รังสีรักษาในเขตสุขภาพที่ 6 มีจำนวนประมาณปีละ 3,000 ราย ขณะที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีมีเครื่องฉายแสง 3 เครื่อง ขีดความสามารถทั้งปีสามารถฉายแสงได้ประมาณ 1,800 ราย จึงมีผู้ป่วยอีกราว 1,200 ราย จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาที่กรุงเทพมหานคร (กทม.)

สำหรับผู้ที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี ด้วยข้อจำกัดข้างต้นทำให้อาจต้องใช้เวลารอคอยการรักษาถึง 8 สัปดาห์ ทั้งที่ปกติไม่ควรเกิน 6 สัปดาห์ นั่นทำให้ทางโรงพยาบาลต้องมองหาวิธีการระบายผู้ป่วยไปยังภาคเอกชน

ทั้งนี้ เมื่อมีโครงการ “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” ซึ่งเปิดช่องให้สามารถทำได้ ทางโรงพยาบาลจึงได้ประสานความร่วมมือและจัดทำ MOU ร่วมกับโรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร เพื่อให้บริการร่วมกันเป็นเครือข่าย

ผลปรากฏว่า สามารถทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงรังสีรักษาได้อย่างทันเวลาตามที่กำหนดไว้

“ปัจจุบันผู้ป่วยเป็นมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยหรือกำลังวินิจฉัยนั้น สามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ทุกที่ในโรงพยาบาลร่วมโครงการ โดยจะมีการส่งต่อผ่านระบบ The ONE ซึ่งเป็นโปรแกรมบันทึกข้อมูล-ประวัติการรักษา จองคิวการรักษา ที่พัฒนาขึ้นโดยกรมการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว และถือเป็นมิติใหม่ของทางการแพทย์ที่ สปสช. ได้ยกระดับบัตรทองให้ผู้ป่วยสามารถรักษาได้ทุกที่อย่างแท้จริง” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี ระบุ

ด้าน นนทชพร จันทร์เงียบ บุตรสาวของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด เล่าว่า เดิมมารดาเคยรับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม. ซึ่งเป็นโรคพยาบาลขนาดใหญ่ คนแน่น และได้รับการปฏิบัติที่ไม่ค่อยดี ในอดีตคิดว่าเป็นเพราะมารดาใช้สิทธิบัตรทองซึ่งเป็นการรักษาฟรี จึงต้องยอมรับสภาพและมารดาก็เป็นทุกข์อย่างมากถึงขนาดไม่อยากรับการรักษาอีกต่อไป

“ในขณะที่เราไม่มีทางออก ก็ได้ฟังวิทยุว่า นโยบายยกระดับบัตรทอง โรคมะเร็งรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม เริ่ม 1 มกราคม 2564 เลยรีบหาข้อมูลเพิ่มเติม และโทรศัพท์มายังโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีทันที เมื่อเจ้าหน้าที่รับสาย แนะนำ แล้วก็บอกว่าให้มาจองคิวนัดในวันพรุ่งนี้ได้เลย ตอนนั้นรู้สึกตกใจมากว่าทำไมง่ายขนาดนี้” เธอ เล่า

นนทชพร บอกอีกว่า เมื่อมาถึงโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี เจ้าหน้าที่ทุกคนให้การต้อนรับดีมาก มารดาก็อยากรักษาที่โรงพยาบาลนี้ตลอดไป จึงได้กลับไปขอใบส่งตัวมาจากโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามภูมิลำเนา เมื่อกลับมาอีกครั้งปรากฏว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีบอกว่า ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแล้วนะ ใช้บัตรประชาชนใบเดียวก็พอ

“เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็ได้แต่คิดว่าเราจะทำอย่างไงต่อ เงินเราก็ไม่มี มันตันไปหมด หาหนทางไม่ได้ แต่พอมาถึงวันนี้ทุกอย่างกลับดีกว่าเดิมขึ้นมาก ดีชนิดที่ว่าไม่เคยคิดเลยว่าบัตรทอง 30 บาทจะสามารถได้รับบริการดีขนาดนี้” นนทชพร ระบุ

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ถ้าได้รับการวินิจฉัยและเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก็ดีขึ้นเร็วตามลำดับ

ที่ผ่านมาจะเคยเห็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเร็วแต่รักษาช้า ตรงนี้นอกจากจะกระทบต่อร่างกายแล้วยังตามมาด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ขณะที่โรงพยาบาลก็มีความยากลำบากเนื่องจากมีภาระงานเพิ่มขึ้น ฉะนั้นโครงการโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อมจะมาเป็นที่พึ่งของผู้ป่วย และช่วยไม่ให้ผู้ป่วยต้องล้มละลายจากการรักษา

“ผมคิดว่าเป็นที่สิ่งที่รัฐบาลไทยพยายามทำให้เกิดขึ้น ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สำหรับเอกชนจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีทรัพยากร ก็พยายามจะนำทรัพยากรในส่วนนี้มาใช้ นั่นเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และต่อจากนี้ไป สปสช. จะพัฒนาระบบนี้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นในกลุ่มโรคอื่น” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

อนึ่ง นโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” เริ่มเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 เมื่อผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง และมีสิทธิในระบบบัตรทอง จะสามารถเลือกเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพรักษาภายใต้การตัดสินใจร่วมกับแพทย์ โดยจะเป็นการรักษาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว

ทั้งนี้ สธ. ได้จัดเตรียมระบบบริการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในเขดสุขภาพทั้ง 13 เขต โดยปรับระบบบริการให้สอดคล้องกับบริบท ศักยภาพ และทรัพยากรที่มีในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรองรับนโยบาย ขณะที่ สปสช.จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการจัดบริการ