ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คนกรุงเทพที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กำลังจะได้รับการดูแลสุขภาพที่สะดวกสบายมากขึ้น ภายหลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จับมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกันเปิดโครงการ “3 บริการสุขภาพวิถีใหม่ (New Normal) ป้องกันโควิด-19” ในหน่วยบริการสังกัด กทม.

3 บริการสุขภาพวิถีใหม่ ได้แก่ 1. บริการเจาะเลือดถึงบ้าน 2. บริการรักษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicine 3. บริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือทางไปรษณีย์

สปสช. และ กทม. ปักหมุดนำร่องในโรงพยาบาล 9 แห่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2564 เป็นต้นไป

โรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย 1. โรงพยาบาลกลาง 2. โรงพยาบาลตากสิน 3. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 4.โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ 5. โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ 6. โรงพยาบาลลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 7. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 8. โรงพยาบาลสิรินธร 9. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

ทั้งนี้ สปสช. จะสนับสนุนงบประมาณให้ กทม. ดำเนินโครงการ “3 บริการสุขภาพวิถีใหม่” เพื่อดูแลผู้ป่วยบัตรทองอย่างดีที่สุด ซึ่งถึงแม้ว่าขณะนี้ยังเป็นเพียงโครงการนำร่อง หากแต่ในอนาคตอันใกล้ ความครอบคลุมเหล่านี้จะขยายเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

สำหรับรายละเอียดของแต่ละโครงการ เริ่มจาก เจาะเลือดถึงบ้าน ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการและทุพพลภาพ และผู้ที่มีภาวะเสี่ยงโรคอ้วน

การให้บริการ แพทย์เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมผู้ป่วยก่อน ส่วนขั้นตอนการเจาะเลือด นักเทคนิคการแพทย์จะนัดหมายเพื่อเข้าไปรับข้อมูล-แผนที่บ้าน อุปกรณ์เก็บสิ่งส่งตรวจ จากนั้นจะโทรประสานนัดหมายผู้ป่วย และเดินทางไปเจาะเลือดหรือเก็บสิ่งส่งตรวจถึงบ้าน

หากผู้ป่วยมีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการปกติและแพทย์เห็นสมควร ก็สามารถรับ บริการรักษาทางไกล หรือ Telemedicine ได้ โดยข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการจะถูกส่งต่อให้แพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัย และติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านระบบ Video Call

ขณะที่ โครงการ รับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน หรือทางไปรษณีย์ จะเกิดขึ้นหลังจากที่แพทย์วินิจฉัยข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซักถามอาการจากผู้ป่วยผ่าน  Video Call และสั่งจ่ายยาแล้ว

ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ข้อมูลการสั่งจ่ายยาของแพทย์จะถูกส่งไปที่ห้องยาของโรงพยาบาล ทางเภสัชกรจะบรรจุยาแล้วจัดส่งไปยังร้านยาที่อยู่ใกล้บ้านผู้ป่วย หรือที่บ้านผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปรับยาที่ร้านยาหรือรอรับยาที่บ้านได้เลยโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลสังกัด กทม. มีผู้มารับบริการเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยการให้บริการผู้ป่วยนอกประมาณปีละ 3.9 - 4 ล้านครั้ง และมีผู้ป่วยในปีละประมาณ 1 แสนราย ส่วนมากป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ส่งผลให้โรงพยาบาลเกิดความแออัด ประชาชนที่มารับบริการต้องรอคิวนาน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ

ฉะนั้น การเปิด 3 บริการวิถีใหม่ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาโดยตรงแล้ว ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นในการบูรณาการพัฒนาระบบบริหาร-บริการสุขภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยสนับสนุนระบบบริการทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ยังเป็นเพียงโครงการนำร่องที่ต้องมีการศึกษาต่อไป แต่ยืนยันว่า การให้ดำเนินการจะไม่กระทบต่อภาระงบประมาณทั้งในส่วนของหน่วยบริการ และงบประมาณในภาพรวม ที่สำคัญคือต้องไม่สร้างปัญหาต่อภาระงานของผู้ให้บริการด้วย

“โครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งนอกเหนือจากในพื้นที่ กทม.แล้ว สปสช.ยังได้เริ่มขยายไปในส่วนของภูมิภาคด้วย ซึ่งหากประสบผลสำเร็จ นโยบายนี้จะไม่ใช่เพียงแค่การลดต้นทุนของโรงพยาบาล แต่ยังช่วยลดต้นทุนของประชาชน และประเทศชาติในระยะยาวด้วย” นพ.จักรกริช ระบุ