ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.จเด็จ ว่าที่เลขาธิการ สปสช. ระบุทิศทางการทำ เน้นรับฟังเสียงประชาชนมากขึ้น เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม เปลี่ยนจากใช้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์มาสู่การใช้ข้อมูลพฤติกรรมเพื่อพัฒนาระบบ


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะว่าที่เลขาธิการ สปสช. กล่าวในการประชุมผู้บริหาร สปสช. สัญจร (วาระพิเศษ) เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 เรื่อง “การจัดทำแผนขับเคลื่อนงานรองรับตามนโยบายเลขาธิการใหม่” ตอนหนึ่งว่า หัวใจสำคัญของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือการมีประชาชนเป็นเป้าหมาย โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ต้องหันกลับมาดูว่าการทำงานวันนี้เราถอยห่างเป้าหมายนี้หรือไม่ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการรับฟังความเห็นมากขึ้น เน้นการมีส่วนร่วม พร้อมจัดการตอบสนองเชิงรุก

“การปรับระบบการเปลี่ยนหน่วยบริการที่ให้เกิดสิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เพราะเป็นปัญหาร้องเรียนมานาน แต่กลับติดขัดหลักเกณฑ์ทั้งที่แก้ไขได้ ประกอบกับระบบที่แข็งตัวเกินไป” นพ.จเด็จ กล่าว

 นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในอดีตเราใช้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์มาพัฒนาระบบ แต่หลังจากนี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นการใช้ข้อมูลพฤติกรรมในการพัฒนาระบบ รวมถึงการปรับปรุงระบบการตรวจสอบให้มีความเข้มแข็ง

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า บุคลากรถือเป็นกลไกสำคัญที่สุดในงานบริหารองค์กร หากเรามั่นใจในบุคลากรประกอบกับพัฒนาระบบบริหารจัดการให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ก็จะนำพาระบบและ สปสช. ก้าวไปข้างหน้าไปได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบ Disruption โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เป็นโอกาสของการพัฒนาระบบและองค์กร เพียงแต่เราต้องมาทบทวนว่า โครงสร้างภายในองค์กรและสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนไปในวันนี้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกันอย่างไร จะมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างไร    

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในอดีต สปสช.ถูกมองภาพในแง่ลบว่าเป็นหน่วยงานที่มีอิทธิพลเรื่องจัดการงบประมาณ จ่ายชดเชยค่าหน่วยบริการ และมีการบริหารแบบสนธยา แต่จากการทำงานกันอย่างหนักได้ทำให้ทัศนคติเหล่านั้นเปลี่ยนไป

ทั้งนี้ ระบบบริหารจัดการของ สปสช. ได้รับการยอมรับ และยังช่วยผลักดันในเรื่องต่างๆ จนทำให้ในวันนี้ สปสช. ก้าวสู่องค์กรมหาชนกลุ่มที่ 1 และในยุคเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ จะเป็นยุคแห่งการก้าวไปข้างหน้า บนความไว้เนื้อเชื้อใจกัน มีความสมดุล เน้นสร้างความยั่งยืนและพัฒนา

อนึ่ง ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการกำหนด 7 ประเด็นในระดมสมอง ประกอบด้วย 1.นโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเชิงรุก 2.การเทน้ำหนักมุ่งมั่นดูแลประชาชนเชิงรุก 3.การบริหารการจ่ายและการตรวจสอบ 4.เทคโนโลยีสารสนเทศ 5.การกำกับติดตามและประเมินผล 6.การจัดซื้อจัดจ้าง และ 7.การบริหารทรัพยากรบุคลากร