ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"เมื่อพูดถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราควรจะติดตามแนวโน้มสุขภาพ มากกว่าการพูดถึงโลกแห่งยูโธเปีย" 

นี่เป็นคำกล่าวของ นพ.กิธินจี กิทานี (Githinji Gitahi) ซีอีโอขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Amref Health Africa ซึ่งให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Devex เว็บไซต์นำเสนอข่าวสารด้านการพัฒนา เมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา 

"หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือเป้าหมายที่พวกเราจะต้องไปให้ถึง เป้าหมายนี้เป็นโลกแห่งยูโธเปีย ซึ่งเราอยากให้ประชากรทุกคนในทุกแห่ง เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ เพื่อให้มีผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่น่าพึงพอใจ โดยไม่ต้องพบปัญหาทางการเงิน(จากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล) 

“พวกเราต่างรู้ว่าเป้าหมายนี้เป็นไปได้ยากมาก นอกจากนี้ ยังมีความยากในการนิยามบริการสุขภาพ เรามักจะคิดว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องทำให้คนเข้าถึงบริการสุขภาพทุกประเภท 100% ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการ 100% ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย"

นพ.กิธินจี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC2030 Steering Committee) ภายใต้องค์กรอนามัยโลก (WHO) เสนอว่าการตั้งเป้าหมายแบบยูโธเปียที่เป็นไปได้ยากเช่นนั้น อาจทำให้ผู้พัฒนาระบบสุขภาพถ้วนหน้า ลืมมองปัญหาที่ปรากฎตรงหน้า โดยเฉพาะกลุ่มประชากรเปราะบาง ซึ่งมักมีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบสุขภาพ 

"เวลาเราพูดถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการคำนึงถึงคนที่ทิ้งไว้ข้างหลัง เช่น ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ความขัดแย้ง และคนพิการ และทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงบริการให้ได้"

เขายกตัวอย่างว่า หากมีประเทศหนึ่งมีประชากรมากกว่า 40% อยู่ใต้เส้นความยากจน เป้าหมายควรจะเป็นการทำให้ประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนทุกคนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น หากสามารถทำได้แล้ว ย่อมหมายความว่าประเทศนั้นเข้าใกล้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอีกหนึ่งขั้น และอาจพาประเทศนั้นไปสู่โลกแห่งยูโธเปีย ที่ประชากรทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพ 100% ได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ควรสร้างตัวชี้วัดด้านแนวโน้มสุขภาพ เช่น ค่าใช้จ่ายสุขภาพของครัวเรือนที่ลดลง และอัตราความยากจนที่ลดลง เป็นเครื่องมือพิสูจน์ความก้าวหน้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแต่ละขั้น 

นพ.กิธินจี เสนอว่า มีความจำเป็นที่ต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนระบบสุขภาพ โดยเฉพาะในบริบทของแอฟริกา ซึ่งระบบสาธารณสุขพึ่งพาโรงพยาบาลเอกชนเป็นหลัก 

"ภาคเอกชนมีความสำคัญมาก เวลาเราพูดถึงภาคเอกชน เราไม่ควรมองภาคเอกชนเป็นหน่วยเดียว แต่ควรเห็นภาคเอกชนเป็นผู้เล่นที่มีความหลากหลาย เช่น ภาคเอกชนในระดับชาติและนานาชาติ ภาคเอกชนที่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไร ภาคเอกชนที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โรงพยาบาลมิชชั่น(ของฝ่ายศาสนา) เอ็นจีโอ โรงพยาบาลที่สร้างขึ้นจากความศรัทธา พวกเขาทั้งหมดคือภาคเอกชน" 

"คุณไม่ควรมองว่าเอกชนและรัฐแยกขาดกันในระบบสุขภาพ ระบบสุขภาพเดียวคือแหล่งรวมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีความหลากหลาย ทุกคนมีจุดประสงค์แตกต่างกัน และอาจมีความสนใจต่างกัน สิ่งที่พวกเขาสนใจ คือ สิ่งที่รัฐต้องพิจารณาเพื่อสร้างกระบวนการพูดคุยที่โยงความสนใจเหล่านั้น เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในการพัฒนาระบบสุขภาพ" 

การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วางอยู่บนฐานของ 3 หลักการ ได้แก่ การเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น คุณภาพการบริการ และ กลไกคุ้มครองทางการเงิน

"หากคุณเป็นโรงพยาบาลมิชชั่นในพื้นที่สลัม คุณกำลังให้บริการกับคนในชุมชน คำถามคือใครจะเป็นคนจ่าย เราควรจะสร้างบทสนทนาเรื่องนโยบายคุ้มครองทางการเงิน และกฎหมายที่ส่งเสริมคุณภาพการบริการ ระหว่างภาคเอกชนและรัฐ"

อย่างไรก็ดี นพ.กิธินจี ให้ความเห็นว่าการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนยังไม่เกิดขึ้นอย่างราบรื่น เพราะรัฐยังไม่สามารถบริหารจัดการระบบสุขภาพที่สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในระยะยาว นอกจากนี้ ยังไม่มียุทธศาสตร์ที่จูงใจให้ภาคเอกชนลงทันในการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ

"ที่ Amref เราพยายามทดลองหาโมเดลที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น เราทำงานร่วมกับบริษัท General Electric ในเอธิโอเปีย เพื่อดูว่าเราจะมีโมเดลทางการเงินที่ทำให้ภาคเอกชนผลิตเครื่องมือที่มีประโยชน์ (ต่อการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน) เช่น เครื่องอัลตราซาวด์ และตู้อบทารกแรกเกิดแบบเคลื่อนที่ ที่ไม่ต้องอาศัยไฟฟ้า 

“ควรจะเป็นรัฐบาลหรือไม่ที่ซื้อเครื่องมือและแจกจ่ายมัน หรือประชาชนต้องจ่ายเอง หรือจะมีกลไกลทางการเงินแบบผสมผสาน ผมคิดว่าคำถามหลักของเรื่องนี้ คือ เราจะทำอย่างไรให้เกิดการเข้าถึงเครื่องมือที่จำเป็น ด้วยวิธีการที่นอกเหนือจากงานการกุศล นั่นเป็นโมเดลที่เราต้องค้นหา และไปให้ถึง"

นอกจากนี้ นพ.กิธินจี ยังเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนระบบจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพราะใช้หลักการการซื้อของในปริมาณมาก เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย แนวคิดเช่นนี้เหมาะกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือจ้างแรงงาน 

แต่ไม่เหมาะกับการจัดซื้อจัดจ้างนวัตกรรม ซึ่งไม่สามารถซื้อแบบเน้นปริมาณและกดราคาให้ถูกลงได้ หรือไม่สามารถสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมที่มีต้นทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น ต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายและสร้างสภาพแวดล้อม ที่เปิดโอกาสให้มีการใช้นวัตกรรมในการยกระดับระบบสุขภาพ