ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ค่าการแสดงผลการวัดมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่สลับสีแดง-เหลืองทั่วประเทศนั้น กำลังบ่งบอกว่าประชาชนกำลังเผชิญอยู่กับมัจจุราชขนาดจิ๋ว ที่พร้อมแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้ตลอดเวลา

ทุกคนคงทราบดี ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ไม่ได้เพียงแต่สร้างความเสียหายกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลไปถึงสุขภาพ

ในฝุ่นขนาดจิ๋วนั้นเต็มไปด้วยสารเคมีมากมาย เป็นต้นทางของผลกระทบระบบทางเดินหายใจ และเป็นบ่อเกิดของโรคร้าย เช่น มะเร็งปอด โรคหลอดเลือดในสมอง ฯลฯ

 ทว่า ที่รุนแรงมากไปกว่านั้น ก็คือฝุ่นพิษนี้มีผลโดยตรงกับ “พัฒนาการของเด็ก” ในระยะยาว หนำซ้ำยังสร้างความเลวร้ายต่อหญิงตั้งครรภ์ และทารกน้อยในท้องอีกด้วย

ผศ.พญ.ปองทอง ปูรานิธิ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลผ่าน “รามาแชนแนล” ตอนหนึ่งว่า PM 2.5 มีผลกระทบต่อผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ และเด็ก เนื่องจากระบบทางเดินหายใจของเด็กและภูมิคุ้มกันของเด็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงไม่เพียงพอต่อการป้องกันตนเองในจากสิ่งแปลกปลอม

นั่นหมายความว่า เด็กมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่

เนื่องจากเด็กหายใจเร็ว เวลาเด็กออกไปวิ่งเล่น อาจจะเทียบเท่ากับเวลาที่ผู้ใหญ่ออกกำลัง

กายหนักๆ จึงมีโอกาสที่จะรับฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายได้ในปริมาณที่มากผศ.พญ.ปองทอง อธิบาย

ฉะนั้นกลุ่มเด็ก จึงเป็นกลุ่มที่จะต้องเฝ้าดูแลเป็นพิเศษ ควรจะจำกัดเวลาให้เด็กออกไปวิ่งเล่นด้านนอก หรือหลีกเลี่ยงการออกกำลังภายนอกอาคาร โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ควรจะอยู่ภายในอาคารให้ได้มากที่สุด

ผศ.พญ.ปองทอง บอกอีกว่า ในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับ PM 2.5 อาจทำให้ลูกน้องที่เกิดมาเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักน้อย หรือเจริญเติบโตช้าในครรภ์ด้วย

สอดคล้องกับข้อมูลขององค์กรยูนิเซฟ UNICEF Mongolia ที่ระบุว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้น สามารถเข้าไปสร้างความเสียหายต่อเซลล์สมอง ที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของเด็ก

ฝุ่นพิษจะทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ของเด็กบกพร่อง มีผลต่อความจำ และการควบคุมอารมณ์

นอกจากนี้ เมื่อเด็กได้รับฝุ่นละอองเป็นจำนวนมาก ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ปอดอักเสบ หัวใจขาดเลือด หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง และมะเร็งปอด

มากไปกว่านั้น จากรายงาน The State of Global Air 2020 ที่เผยแพร่โดย สถาบันวิจัยด้านผลกระทบทางสุขภาพ The Health Effects Institute ยังระบุด้วยว่า มลพิษทางอากาศเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร รองลงมาจากโรคความดันโลหิตสูง ยาสูบ และปัจจัยด้านอาหาร อีกด้วย

สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือ ภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับมลพิษทางอากาศในระหว่างการตั้งครรภ์ของผู้หญิง จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับการได้รับ “ควันบุหรี่”

นั่นทำให้เด็กที่คลอดออกมามีน้ำหนักน้อยกว่าที่เกณฑ์กำหนด รวมไปถึงการคลอดก่อนกำหนดอีกด้วย

แดน กรีนบัม” ประธานสถาบันวิจัยด้านผลกระทบทางสุขภาพ แมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สุขภาพของเด็กทารกในอนาคตค่อนข้างอยู่ในภาวะที่น่าวิตกในทุกๆ ภาคสังคม โดยเฉพาะเด็กทารกที่เกิดในแถบเอเชียใต้ และ แถบแอฟริกาทางตอนใต้ของซาฮาร่า

สถานการณ์ฝุ่นพิษขนาดจิ๋วนำไปสู่ความสูญเสียจำนวนมาก จากรายงาน The State of Global Air 2020 พบว่า ในปี 2019 ทั่วโลกมีเด็กทารกเสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศเฉลี่ย 5 แสนราย ตั้งแต่เดือนแรกที่ลืมตาดูโลก