ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวคิดที่สอง จะเริ่มนำวัคซีนมาใช้เมื่อไร

โดยหลักการสำหรับโรคระบาดที่เกิดจากโรคติดเชื้อ มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงอยางโควิด-19 เมื่อมีวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผลก็ควรนำมาใช้โดยเร็ว

แต่เพราะวัคซีนไม่สามารถผลิตได้ในปริมาณมากเพียงพอกับประชากรโลกทั้งหมดโดยเร็ว และศักยภาพในการระดมฉีดวัคซีนของแต่ละประเทศก็มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนก่อน-หลัง ในการใช้วัคซีนอย่างเหมาะสม

โดยกำหนดเป้าหมายที่สำคัญตามลำดับคือ (1) การปกป้องชีวิต (2) การปกป้องระบบการแพทย์และการสาธารณสุข และ (3) การปกป้องระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ทุกประเทศจะต้องยึดหลักการเดียวกันนี้ และให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามหลักการดังกล่าวอย่างเหมาะสม แต่ความเป็นจริงก็หาเป็นเช่นนั้นไม่

โลกปัจจุบัน เป็นโลกที่อยู่ในระบบทุนนิยมเสรีใหม่ (neoliberalism) ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำสูงทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้องค์กรโลกบาลอย่างองค์การอนามัยโลก และองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เรื่องวัคซีนโดยตรงอย่างองค์การพันธมิตรโลกเพื่อวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (Global Alliance for Vaccine and Immunization) ชื่อย่อว่า “กาวี” (GAVI) ก็ไม่พ้นถูกครอบงำโดยอิทธิพลของระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลก ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงสภาพความเป็นจริงเหล่านี้ และบริหารจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมที่พึงควร

โดยที่กระแสข่าวการระบาดของโควิด-19 ครอบงำทั่วโลกอยู่อย่างกว้างขวางและยาวนาน ทำให้กระแสความต้องการวัคซีนขึ้นสูงมาก จนอาจกลายเป็น “โมหาคติ” และทำให้การตัดสินใจเรื่องวัคซีนเบี่ยงเบนไปจากหลักการที่ถูกต้องและเหมาะสม จึงต้องตั้งสติให้ดีและใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาให้มาก

โดยมีข้อที่พึงพิจารณา ดังนี้

ประการแรก วัคซีนโควิด-19 แม้จะใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิต ทำให้สามารถผลิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยโรงงานต่างๆ ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้การผลิตจากเซลล์ (cell-based) ทำให้ผลิตได้อย่างรวดเร็ว แตกต่าง จากเทคโนโลยีเดิมที่ใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ผลิตจากไข่ไก่ฟัก (egg-based) ซึ่งผลิตได้ช้า และมีราคาแพง

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกนี้วัคซีนที่ผลิตได้จะยังมีปริมาณน้อยกว่าความต้องการ (need) ของทั่วโลกมาก เพราะเพิ่งประสบความสำเร็จเพียงไม่กี่ตัว แต่อีกไม่นานนัก จะมีวัคซีนอีกหลายตัวทยอยประกาศความสำเร็จ (ที่น่าเชื่อถือ) ออกมา อย่างเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ก็มีข่าวความสำเร็จของเรื่องวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่ประสิทธิผลสูงกว่า 90% จากการฉีดเพียงเข็มเดียว จึงมีการคาดการณ์จากองค์กรที่น่าเชื่อถือ คือองค์การอนามัยโลก และยูนิเซฟว่า ปลายปีนี้จะมีวัคซีนผลิตออกมาได้ประมาณ 20,000 ล้านโด๊ส เกินพอสำหรับคนทั้งโลก

ฉะนั้น ช่วงต้นปี 2564 ตลาดวัคซีนโควิด-19 จะเป็นตลาดของ “ผู้ขาย” ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไข ทั้งปริมาณและราคาที่จะขายให้ เพราะมีวัคซีนผลิตออกมาน้อยมาก เมื่อเทียบกับ “กระแส” ความต้องการทั่วโลก แต่ถ้ารอถึงปลายปีสถานการณ์จะกลับเป็นตรงกันข้าม

เพราะน่าเชื่อว่าถึงเวลานั้นวัคซีนโควิด-19 จะอยู่ในภาวะ “ล้นตลาด” และเปลี่ยนสถานะเป็นตลาดของ “ผู้ซื้อ” ที่ราคาจะลดลง และมีปริมาณเหลือเฟือที่ผู้ผลิตต้องเร่งขาย เพราะวัคซีนจะมีอายุสั้น เนื่องจากเป็น “ชีววัตถุ” (Biologicals) ที่อายุไม่ยาวอยู่แล้ว และอาจอายุสั้นลงไปอีก ถ้าเชื้อก่อโรคมีการกลายพันธุ์ไปโดยรวดเร็ว อย่างวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก็มีอายุเพียง ปีเดียวเท่านั้น และเชื้อไวรัสโคโรนาซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ก็มีการกลายพันธุ์โดยรวดเร็วเช่นกัน

ดังนั้น ถ้าเราไม่ “ใจร้อน” เกินไป ไม่ต้อง “เร่งรัด” ในการ “จัดหา” หรือ “สำรอง” วัคซีนตั้งแต่ช่วงนี้ ซึ่งเป็นตลาดของผู้ขาย เราควรจะได้วัคซีนที่มีคุณภาพมาตรฐานสูง ทั้งด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลและราคาย่อมเยา ถ้าเราสำรองไว้แต่พอประมาณ เราจะได้วัคซีนดีราคาย่อมเยา เมื่อตลาดเป็นของผู้ซื้อ

ปัญหาคือเราจะรอได้หรือไม่ สมควรจะรอหรือไม่ และควรจะรออย่างไร ซึ่งจะต้องพิจารณาเหตุผลข้อต่อๆ ไป

ประการที่สอง ประเด็นเรื่องราคาและเงื่อนไขการสั่งจองหรือสั่งซื้อ

ปัจจุบัน การเสนอให้ “สั่งจอง” หรือ “สั่งซื้อ” วัคซีนของบริษัทต่างๆ มักมีข้อเสนอในลักษณะจะส่งวัคซีนในล็อตแรกให้ในเวลาค่อนข้างรวดเร็ว แต่มีข้อผูกมัดจะต้องซื้อวัคซีนปริมาณมากในราคาเดียวกันในระยะต่อไป ซึ่งตอนนั้นตลาดวัคซีนเป็นตลาดของผู้ซื้อแล้ว และวัคซีนอาจมีภาวะ “ล้นตลาด”

ฉะนั้นหากตัดสินใจรับเงื่อนไขในขณะนี้ซึ่งตลาดวัคซีนเป็นของผู้ขาย จึงน่าจะเป็นการตัดสินใจที่น่าจะ “ไม่ฉลาด” “ไม่ถูกต้อง” และน่าจะ “ก่อผลเสียระยะยาวมากกว่าผลดี” จึงต้องพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ด้วยความระมัดระวัง

ข้อมูลเรื่องราคา วัคซีนของไฟเซอร์โด๊สละ 20 ดอลลาร์, ของโมเดอร์นา 37 ดอลลาร์, แอสตราเซเนกา 4 ดอลลาร์, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 10 ดอลลาร์, สปุตนิก 5 ราคา 10 ดอลลาร์ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ 5 ก.พ. 64 น.11)

เงื่อนไขของแอสตราเซเนกา เป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุดเพราะ (1) ราคาถูกที่สุด (2) จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ นอกจากนี้ยังเป็นวัคซีนประเภทใช้ไวรัสอะดีโนเป็นพาหะ ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่สุด คือ ใช้เมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเออย่างของไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งนอกจากยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยระยะยาวแล้ว ยังเก็บรักษายาก เพราะต้องเก็บที่อุณหภูมิ -70oซ. และ -20oซ. ตามลำดับ

การตัดสินใจซื้อจากแอสตราเซเนกาจึงน่าจะมีเหตุผลที่หนักแน่นมาก แต่มีปัญหาคือกว่าจะได้ใช้ก็ราวกลางปี ส่วนที่จะได้ล็อตแรกเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก็น่าจะไม่ได้ เพราะบริษัทมีปัญหาการผลิต ทำให้สหภาพยุโรประงับการส่งออก

ตัวเลือกต่อไปคือ วัคซีนของซิโนแวค

สำหรับวัคซีนของซิโนแวค ข้อมูลจากสื่อราคาเข็มละ 30 ดอลลาร์ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ 5 ก.พ. 64, น.11) แต่เท่าที่ตรวจสอบ ทางบริษัทเสนอราคา 20 ดอลลาร์ โดยเป็นราคาเอฟโอบี แต่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุขสามารถต่อรองได้เหลือ 17 ดอลลาร์ และเป็นราคาซีไอเอฟ (รวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยแล้ว) และไม่มีเงื่อนไขเรื่องต้องซื้อเพิ่มในระยะต่อไป จึงเป็นเงื่อนไขที่ค่อนข้างดี แม้ราคาจะค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัคซีนของแอสตราเซเนกา

นั่นเพราะเป็นวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าแก่ราว 70-80 ปีมาแล้ว จึงมีข้อมูลความปลอดภัยระยะยาว แต่ราคาสูงเพราะต้องผลิตในห้องที่มีชีวนิรภัยระดับ 3 (Biosafety Level 3 หรือ BSL3) อุปสรรคสำคัญขณะนี้คือยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ข่าวดีก็คือ ขณะที่ความต้องการวัคซีนในประเทศไทยขึ้นสู่กระแสสูง และวัคซีนล็อตแรกจากแอสตราเซเนกาไม่สามารถส่งให้ได้ตามกำหนด จีนยืนยันส่งวัคซีนของซิโนแวคงวดแรกให้ไทยภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้

ประการที่สาม ไทยจำเป็น หรือสมควรเร่งรัดการใช้วัคซีนเหมือนอย่างสหราชอาณาจักร และสหรัฐหรือไม่

ชัดเจนว่า สหรัฐมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงที่สุดในโลก ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามให้มีวัคซีนออกมาก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 โดยมี “ประเด็น” ทางการเมืองเรื่องวัคซีนอยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นจากการให้ทุนสนับสนุนวัคซีนของโมเดอร์นาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ถึง 1 พันดอลลาร์ และช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ให้อีก 1,500 ดอลลาร์ เพื่อให้ “ผลิตให้ 100 ล้านโด๊ส ถ้าวัคซีนปลอดภัยและได้ผล”

นอกจากนี้เมื่อเกิดกรณีอังกฤษสั่งหยุดการทดสอบวัคซีนของแอสตราเซเนกาจาก “เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง” คือ มีอาสาสมัครเกิดการอักเสบของไขสันหลังแบบตัดขวาง ( Transverse myelitis) อังกฤษอนุญาตให้ทดสอบต่ออย่างรวดเร็ว (หลังใช้เวลาตรวจสอบเพียง 4 วัน) แต่สหรัฐให้ชะลอการทดสอบถึงเดือนเศษ

สหรัฐเป็นผู้ผลิตวัคซีน มีอำนาจและกำลังซื้อสูง การระบาดก็รุนแรง การเร่งรัดการใช้วัคซีนจึงมีเหตุผลสมควร

ส่วนอังกฤษ จำนวนการติดเชื้อก็สูงมาก และอัตราป่วยตายก็สูงที่สุดในโลก จึงมีเหตุผลความจำเป็นสูงมากในการเร่งรัดนำวัคซีนมาใช้ โดยอังกฤษขึ้นทะเบียนวัคซีนของไฟเซอร์ให้ใช้กรณีฉุกเฉินก่อนใครเพื่อน และเริมฉีดก่อนใครในโลก โดยมุ่งฉีดเพื่อปกป้องชีวิต คือฉีดให้คนแก่และฉีดเพื่อปกป้องระบบสาธารณสุข คือฉีดให้บุคลากรด่านหน้า

ส่วนประเทศไทยสถานการณ์แตกต่างกันมาก จึงไม่มีเหตุผลความจำเป็นต้อง “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” เพราะสถานการณ์การระบาดรุนแรงน้อยกว่ามาก ขณะที่เราไม่ใช่ประเทศร่ำรวย และมิใช่ประเทศผู้ผลิตวัคซีนอย่างสหรัฐและอังกฤษ