ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกรณีที่ “มูลนิธิ ธอมสัน รอยเตอร์ส” รายงานข่าวแรงงานไทยในเกาหลีใต้ หรือที่เรียกกันว่า “ผีน้อย” เสียชีวิตอย่างน้อย 522 ราย นับตั้งแต่ปี 2558

นำมาสู่การตั้งคำถามถึงการเข้าถึง “ความคุ้มครองทางสังคมของแรงงานต่างชาติ” ในเกาหลี รวมถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับการยกย่องจากนานาประเทศในด้านมาตรฐานการบริการ ละความครอบคลุมของสิทธิประโยชน์

รายงานของมูลนิธิ ธอมสัน รอยเตอร์ส ระบุว่า 84% ของแรงงานไทยที่เสียชีวิต เป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสารจ้างงานตามกฎหมาย และ 40% เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนที่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพ อุบัติเหตุ และการฆ่าตัวตาย

ปีนี้มียังมีรายงานการเสียชีวิตมากที่สุด อยู่ที่ 122 ราย ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ในเกาหลีใต้และทั่วโลก

การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างชาติในเกาหลีใต้ ยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มภาคประชาสังคมได้นำเสนอปัญหานี้ต่อคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติแห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations Committee on the Elimination of Racial Discrimination) เพื่อจี้ให้รัฐบาลเกาหลีใต้ดูแลแรงงานต่างชาติอย่างทั่วถึง

เกาหลีใต้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ตั้งแต่ปี 2532 และสามารถรวมกองทุนสุขภาพทั้งหมดเป็นกองทุนเดียว เรียกว่า National Health Insurance Corporation (NHIC) ทำให้พลเมืองชาวเกาหลีใต้ทุกคนสามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตรฐานเดียว

ในเชิงหลักการ แรงงานข้ามชาติสามารถรับสิทธิประกันสุขภาพ เพราะเป็นระบบร่วมจ่ายระหว่างผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล

แต่ในทางปฏิบัติ ยังพบว่านายจ้างไม่นำแรงงานต่างชาติจดทะเบียนเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ หรือไม่ระบุสิทธิด้านประกันสุขภาพในสัญญาจ้างงาน

มักเกิดในกรณีที่นายจ้างเป็นบุคคล ต้องการหลีกเลี่ยงภาระร่วมจ่ายค่าประกันสุขภาพ และไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับนายจ้างที่กีดกันแรงงานต่างชาติจากการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ

รายงานของ NHIC ระบุว่ามากกว่า 59% ของแรงงานต่างชาติที่มีเอกสารการทำงานถูกต้องกฎหมาย ไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบประกันสุขภาพ

และยิ่งหากเป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสารทำงานแล้ว โอกาสในการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพยิ่งเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ ระบบสุขภาพของเกาหลีใต้มีผู้ให้บริการเป็นโรงพยาบาลเอกชนมากถึง 90% จึงเป็นไปได้ยากที่แรงงานต่างชาติจะเดินเข้าไปใช้บริการรักษาพยาบาล เพราะค่ารักษาพยาบาลมีราคาแพง

ช่องว่างในระบบหลักประกันสุขภาพนี้ มีความคล้ายคลึงกับกรณีของ “ไทย” และ “สิงคโปร์” ซึ่งการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพของแรงงานต่างชาติ ต้องพึ่งพานายจ้างในการพาลูกจ้างจดทะเบียนเข้าสู่ระบบ หรือที่เรียกกันว่า Gatekeeping healthcare

การผูกขาดสิทธิการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพโดยนายจ้าง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานต่างชาติในประเทศเหล่านี้ ไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพ และยังหลุดรอดจากระบบควบคุมโรคของหน่วยงานรัฐ เห็นได้จากช่วงการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งไทยและสิงคโปร์พบคลัสเตอร์การระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติ ภายหลังเกิดโรคระบาดมาได้ระยะหนึ่ง

จึงมีข้อเสนอของภาคประชาสังคมในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติอย่าง “ไร้เงื่อนไข” ตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชน

หนึ่งในตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ การสร้างแพคเกจประกันสุขภาพที่ราคาไม่สูงมากนัก ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งแรงงานข้ามชาติทุกคนสามารถหาซื้อได้ทันทีเมื่ออพยพย้ายถิ่น รวมทั้งเข้าถึงบริการของโรงพยาบาลโดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ถามสิทธิหรือเรียกร้องเอกสารพิสูจน์การจ้างงาน

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอนี้ก็นำไปสู่การถกเถียงด้านความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรและภาษีของภาครัฐ จึงมีอีกข้อเสนอหนึ่ง คือการสนับสนุนงบประมาณให้ภาคประชาสังคม มีบทบาทให้บริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานและความรู้การควบคุมและป้องกันโรคแก่แรงงานต่างชาติ

โดยในเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไทย ก็มีภาคประชาสังคมที่ทำงานปิดช่องว่างด้านการเข้าถึงระบบสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ แต่ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายทางเท่านั้น

การแก้ปัญหาจึงต้องย้อนกลับไปที่ต้นทาง โดยรัฐบาลต้องพัฒนาระบบลงทะเบียนแรงงานต่างชาติให้ครอบคลุม รวมทั้งจูงใจนายจ้างให้นำลูกจ้างมาจดทะเบียนการจ้างงาน และพาเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพอย่างถูกต้อง