ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขถึงแก่กรรมด้วยอาการอันสงบ จากโรคมะเร็งไตที่ลุกลาม ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2563 เวลา 22.52 น.

นายแพทย์มงคล ณ สงขลา เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการทำซีแอลยา หรือการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาเอดส์ 2 ชนิด ยาหัวใจ 1 ชนิด และยามะเร็ง 4 ชนิด เมื่อปลายปี พ.ศ. 2549 ถึงต้นปี 2551 ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากสามารถเข้าถึงยาราคาแพงเหล่านี้ได้อย่างกว้างขวาง โดยประเทศชาติสามารถประหยัดเงินได้หลายหมื่นล้าน

ระบบสิทธิบัตรเป็นระบบที่มีหลักการและเหตุผลที่ดี เพราะส่งเสริมให้เกิดแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติ แต่โดยที่ยาเป็น “สินค้าคุณธรรม” ที่ประชาชนไม่ว่ายากดีมีจนควรสามารถเข้าถึงได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม จึงต้องมีระบบที่สร้างสมดุลระหว่างกำไรของธุรกิจกับประโยชน์สาธารณะ หรือการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ (Public use)

อนึ่งคำว่า “สาธารณะ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ให้ความหมายว่า “เพื่อประชาชนทั่วไป” ประโยชน์สาธารณะ จึงแปลว่า “ประโยชน์ของประชาชนทั่วไป”

ด้วยหลักการดังกล่าว ผู้กำหนดกติกาการค้าของโลก ซึ่งเดิมคือแกตส์ (GATTs) หรือ ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariff and Trades) ปัจจุบันคือองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) จึงนอกจากจะมีการกำหนดความตกลงว่าด้วย ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreement on Trade-Related Intellectual Properties หรือ TRIPs Agreement) แล้ว ความตกลงดังกล่าวยังกำหนดให้มี ข้อยืดหยุ่นต่างๆ (TRIPs Flexibilities) เพื่อมิให้เกิดการผูกขาด เกินความจำเป็น หรือเกินสมควร ความยืดหยุ่นของความตกลงทริปส์ทำให้ธุรกิจหรือประเทศต่างๆ สามารถทำซีแอล (CL) : หรือการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing) ได้ตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ดี ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ มักไม่กล้า หรือไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าว เพราะธุรกิจข้ามชาติมีกลไกมากมายที่จะใช้ตอบโต้ ดังกรณีประเทศไทยผู้ป่วยเอดส์เคยมีการชุมนุมเรียกร้องให้ทำซีแอลกับยาเอดส์ชนิดหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2542 แต่รัฐบาลสมัยนั้นก็ไม่ดำเนินการ

การที่นายแพทย์มงคล ณ สงขลา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จึงมีความ “อ่อนแอ” หรือ “เปราะบาง” ในสายตานานาชาติอยู่โดยพื้นฐาน แต่สามารถทำซีแอลกับยาทั้งสิ้นถึง 7 ชนิดได้สำเร็จ นอกจากต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากแล้ว ยังต้องใช้สติปัญญาและทีมงานที่แข็งแกร่งมาก ดังปรากฏการถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจากองค์กรที่เรียกตัวเองว่า USA for Innovation เข้ามาซื้อหน้าโฆษณาเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์ไทยทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษโจมตีเรื่องนี้อย่างรุนแรง รวมทั้งสื่อบางฉบับในสหรัฐ เช่น หนังสือพิมพ์เดอะวอลสตรีท เจอร์นัล มีบทความโจมตีเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และแม้แต่ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ก็ให้สัมภาษณ์ เชิงตำหนิการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขไทยด้วยในช่วงแรก

แต่ภายใต้การนำอย่างเข้มแข็งและยืนหยัดในประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งการยึดถือกฎหมายระหว่างประเทศและในประเทศ ของนายแพทย์มงคล ณ สงขลา โดยการสนับสนุนของทีมงานอันแข็งแกร่ง และแรงหนุนอันแข็งขันของภาคประชาชนและสื่อมวลชนในประเทศ ทำให้ประเทศไทยสามารถทำซีแอลได้สำเร็จอย่างงดงาม เริ่มต้นจากยาเอดส์ 2 ชนิด แล้วขยายไปทำกับยาหัวใจ 1 ชนิด และยามะเร็งอีก 4 ชนิด

นอกจากผลงานที่โด่งดังระดับโลกอย่างเรื่องซีแอลแล้ว ระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มงคล ยังสร้างผลงานสำคัญอีก 4 ชิ้น

งานชิ้นแรก คือ การผลักดันจนกระทั่งรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งหัวใจสำคัญคือการสร้างกลไกให้มีการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา (Participatory Public Policy Process based on Wisdom : 4PW) ทำให้มีกลไกสำคัญ ได้แก่ (1) สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ และสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น (2) ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ (3) สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ และ (4) ข้อกำหนดเรื่องการทำการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพนอกเหนือจากข้อกำหนดเรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการสมัชชา ซึ่งดำเนินการตามรูปแบบสากล คือ สมัชชาอนามัยโลก แต่ก้าวหน้าไปอีกหนึ่งขั้น คือ ภาคีที่เข้าร่วมนอกจาก ตัวแทนประเทศสมาชิก (ซึ่งคือตัวแทนภาครัฐเท่านั้น) สมัชชาสุขภาพของไทยมีภาควิชาการ/วิชาชีพ และภาคประชาสังคม/ภาคประชาชน เข้าร่วมอย่างแข็งขันด้วย

กฎหมายฉบับนี้ เดิมคาดว่าจะใช้เวลาผลักดันได้แล้วเสร็จในเวลาเพียง 2 ปี แต่เนิ่นช้าออกไปกลายเป็น 7 ปีเศษ และคลอดออกมาเป็นพระราชบัญญัติฉบับแรกของสภานิติบัญญัติชุดนั้น แน่นอนว่านอกจากทีมงานที่แข็งแกร่งแล้ว ก็คือการนำอันเข้มแข็งของนายแพทย์มงคล ณ สงขลา

งานชิ้นที่สอง คือการเพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องการบำบัดทดแทนไตให้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งเดิมเป็น “หนามตำใจ” หรือ “ความเหลื่อมล้ำ” ในระบบประกันสุขภาพของไทย เพราะข้าราชการราว 5 ล้านคน และประกันสังคมราว 10 ล้านคนเวลานั้น มีสิทธิ์ แต่ประชาชนบัตรทองราว 47 ล้าน ไม่มีสิทธิ์ ด้วยเหตุผลสำคัญเพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด แต่เสียงดังน้อยที่สุด ทว่าด้วยการเตรียมการอย่างเป็นระบบโดยทีมงานที่เข้มแข็ง ในที่สุดรัฐบาลก็ตัดสินใจให้สิทธิแก่ประชาชนกลุ่มนี้ โดยพัฒนาให้ก้าวหน้ากว่าระบบเดิมที่ทำกันอยู่แล้วด้วย กล่าวคือ (1) ด้วยตระหนักดีว่าภาระงบประมาณเพื่อสิทธิประโยชน์เรื่องนี้สูงมาก และผูกพันระยะยาว จึงได้มีการศึกษาอย่างรอบคอบ คาดการณ์ภาระงบประมาณระยะยาวอย่างชัดเจน ผ่านการพิจารณาของคณะทำงาน คณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วเสนอให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบและดำเนินการมาด้วยดีจนทุกวันนี้ โดยใช้เงินน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้กว่าร้อยละ 20 (2) จากเดิมเป็นการฟอกเลือดในโรงพยาบาล แต่โครงการนี้สนับสนุนให้ล้างไตทางช่องท้อง ให้คนไข้ทำเองที่บ้านโดยจัดส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงบ้านคนไข้ทุกคน ทำให้คนไข้ไม่ต้องมีภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปล้างไตในโรงพยาบาลสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2554 โรงพยาบาลบางแห่งน้ำท่วม ไม่สามารถให้บริการได้ และคนไข้ส่วนหนึ่งไม่สามารถฝ่าเส้นทางที่ถูกน้ำท่วมเดินทางไปรับบริการได้ ทำให้เสียชีวิตไปหลายคน ขณะที่ผู้ป่วยที่ล้างไตเองที่บ้านไม่มีใครเสียชีวิตจากเหตุเพราะน้ำท่วมเลย

เมื่อเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2561 ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกเดินทางมาประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในประเทศไทย ได้มีโอกาสไปเยี่ยมคนไข้ที่ล้างไตที่บ้านในชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง มีข้อสงสัยว่าเราคงจะทำไว้โชว์แบบ “ผักชีโรยหน้า” และคงมีผู้รับบริการไม่กี่คน แต่ต้องถึงกับตะลึงที่ได้คำตอบว่า เรามีผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่กว่า 3 หมื่นรายทั่วประเทศ

งานนี้ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งด้วยภาวะผู้นำของนายแพทย์มงคล ณ สงขลา และต้องชื่นชม พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่เห็นชอบโครงการนี้ เพราะห้วงเวลานั้น เป็นช่วงปลายของรัฐบาล และรัฐบาลได้ประกาศจะไม่อนุมัติโครงการที่มีผลผูกพันงบประมาณระยะยาวแล้ว เคยมีผู้สอบถาม พล.อ.สุรยุทธ์ ว่าทำไมจึงอนุมัติ ได้คำตอบคือ “เมื่อคนมีเงินมีสิทธิ์ที่จะยืดต่ออายุได้ รัฐบาลไม่สามารถปล่อยให้คนจนต้องล้มละลายเพื่อต่อชีวิต ซึ่งสุดท้ายก็ต่อไม่ได้นาน เมื่อหมดเงิน”

อีกคนหนึ่งที่ต้องจารึกชื่อไว้ คือ ท่านรองนายกรัฐมนตรีไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งพื้นเพมาจากลูกชาวนาและเป็นคนสำคัญที่ตัดสินใจอย่างมุ่งมั่นและแน่วแน่ให้เสนอเรื่องนี้ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้ผลักดันคนสำคัญให้เกิดสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และเป็นผู้เสนอโครงการสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขององค์การเภสัชกรรมด้วย

เรื่องที่สาม ระบบบัตรทองเป็นระบบที่กระทบผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่ม จึงมีความพยายามอยู่เป็นระยะๆ ที่จะทำลายระบบนี้ ช่วงที่นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ครบวาระแรก และมีการสรรหาคนไปทำหน้าที่ต่อ ซึ่งไม่มีใครเหมาะสมเท่านายแพทย์สงวน แต่มีการล็อบบี้กรรมการบางคนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้นายแพทย์สงวนพ้นจากหน้าที่ ทำให้คะแนนออกมาเท่ากัน โชคดีของประเทศไทยที่เวลานั้น นายแพทย์มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขและเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยตำแหน่ง ได้ออกเสียงชี้ขาดให้นายแพทย์สงวน เป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อไปอีกวาระหนึ่ง

ถ้าประธานขณะนั้นไม่ใช่นายแพทย์มงคล และนายแพทย์สงวนไม่ได้ทำหน้าที่เลขาธิการ สปสช. ต่อมา ระบบบัตรทองอาจถูกบ่อนเซาะ และประเทศไทยคงจะไม่ได้รับความชื่นชมจากนานาประเทศ และองค์การระดับโลก เช่น องค์การอนามัยโลก สหประชาชาติ ธนาคารโลก ฯลฯ อย่างที่ปรากฏ

นายแพทย์มงคล ไม่เพียงเป็นผู้ธำรงรักษาและพัฒนาระบบบัตรทองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างตัวของระบบนี้ด้วย เพราะระบบนี้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่นายแพทย์มงคล ณ สงขลา เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งเพียงปีเดียวในปีสุดท้ายของชีวิตราชการประจำ แต่ด้วยภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง จนได้ฉายาว่า “ไม่มีเกียร์ถอยหลัง” ทำให้ระบบบัตรทองที่เริ่มดำเนินเมื่อเดือนเมษายน 2544 ใน 6 จังหวัดขยายเป็น 15 จังหวัด ใน 2 เดือนต่อมา และครอบคลุมส่วนภูมิภาคทั้งประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ใช้เวลาดำเนินการจนครอบคลุมเกือบทั้งประเทศในเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น ขณะที่อังกฤษใช้เวลาดำเนินการครอบคลุมทั้งประเทศในเวลาประมาณ 3 ปี และต่อมาก็ครอบคลุมกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนมกราคม 2545 แม้จะมีปัญหามากมาย แต่นายแพทย์มงคล ถือหลัก “ปัญหามีไว้แก้” และ “ประโยชน์สุขของประชาชนต้องมาก่อน” งานนี้จึงมี “โมเมนตัม” แรงจนใครก็ฉุดไม่อยู่และสำเร็จครอบคลุมทั่วประเทศในเวลาเพียง 9 เดือนเท่านั้น

เรื่องที่สี่ คือการเสนอและผลักดันพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จนสำเร็จ โดยเป็นพระราชบัญญัติฉบับสุดท้ายที่ผ่านสภานิติบัญญัติชุดนั้น

การรณรงค์เรื่องสุรามีมายาวนานตั้งแต่ครั้งพุทธกาล โดยพระพุทธศาสนาบัญญัติเป็นศีลข้อ 5 สำหรับประชาชน และมีพระอรรถกถาจารย์จำนวนไม่น้อยถือศีลข้อนี้เป็นข้อสำคัญที่สุดในบรรดาศีลทั้ง 5 ข้อ เพราะหากผิดศีลข้อนี้แล้ว ก็เป็นหนทางสู่อบาย คือ “อบายมุข” ทำให้ผิดศีลได้ทุกข้อ ทุกสังคมเห็นโทษของสุราและหามาตรการควบคุม แต่มักเอาชนะไม่ได้ ในประเทศไทย ขบวนการรณรงค์เรื่องสุราไม่เข้มแข็ง และไม่เข้มข้นเท่าการรณรงค์เรื่องบุหรี่ ซึ่งเป้าหมายใหญ่อยู่ที่การต่อสู้กับบริษัทข้ามชาติ จึงสามารถใช้เรื่องชาตินิยมมาเป็นเครื่องมือได้มาก ขณะที่เรื่องเหล้าผู้เสียผลประโยชน์หลักเป็นนายทุนชาติ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจและคนชั้นสูงในประเทศมาก การผลักดันกฎหมายนี้ผ่านสภาจึงต้องเผชิญแรงต้านอย่างหนัก นายแพทย์มงคล และทีมงาน “อ่านเกม” เรื่องนี้ “ขาด” จึงยอมถอยในเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ (1) ตัดเรื่องกองทุนแบบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพออก และ (2) ยอม “ถอย” เรื่องการควบคุมโฆษณา ยอมให้ไม่เข้มข้นเท่าการห้ามโฆษณายาสูบ นอกจากนี้ยังตัดใจไม่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์และการบริโภคยาสูบที่มีกลุ่มผลักดันจะให้เสนอเข้าสู่สภาด้วย แต่นายแพทย์มงคลและทีมงานไม่ “รับลูก” เพราะเกรงว่าจะฉุดให้กฎหมายเรื่องสุรา “พังพาบ” ไปด้วย ทำให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาออกมาได้สำเร็จ เปิดทางให้สามารถควบคุมการดื่ม การจำกัดสถานที่ดื่ม การจำหน่าย การซื้อสุรา และการรณรงค์ “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” ได้อย่างมีชีวิตชีวา และได้ผลดีอย่างกว้างขวางสืบต่อมา

นายแพทย์มงคล นามสกุล ณ สงขลา แต่นายแพทย์มงคลมาจากครอบครัวยากจน และอยู่ในพวกไม่ลืม “กำพืด” ของตัวเอง ขณะเรียนแพทย์ที่ศิริราช นายแพทย์มงคลเป็นนักศึกษาแพทย์จำนวนน้อยมากที่เลือก “รับทุนกรมอนามัย” ซึ่งให้ทุนเล่าเรียนเดือนละ 500 บาท เพื่อผูกพันให้ต้องไปเป็น “หมออนามัย” ในชนบทโดยแพทย์จบใหม่สมัยนั้นส่วนใหญ่ที่เข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุขจะเลือกไปทำงานในโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งสังกัดกรมการแพทย์ เพราะได้ทำงานในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือแพทย์และทีมงานที่พร้อมกว่ามาก ขณะที่ “หมออนามัย” แทบร้อยละร้อยต้องไปเป็นหมอคนเดียวอยู่ใน “สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง” มีงบประมาณค่ายาเพียงปีละ 1 หมื่นบาทเท่านั้น และต้องไปเป็นผู้บริหารตั้งแต่รับราชการวันแรกด้วย จึงมีน้อยคนที่จะเลือกไปเป็นหมออนามัยแม้จะได้ทุนระหว่างเรียนเดือนละ 500 บาท

นายแพทย์มงคล มุ่งมั่น ทุ่มเททำงานอย่าง “กล้าหาญ” มาโดยตลอด จนได้ดำรงตำแหน่งระดับอธิบดีครั้งแรก คือ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และต่อมาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งนายแพทย์มงคลทนเห็นการพิจารณาตำรับยาและผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างเชื่องช้าไม่ได้ จึงสร้างระบบ “เร่งรัด” ที่ “ล่อแหลม” ต่อการผิดระเบียบจนถูก “ร้องเรียน” และสอบสวนโดย ป.ป.ป. ทำให้เป็น “ชนัก” ติดหลังอยู่นานหลายปี

โชคดีของประเทศไทยที่คุณกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีสาธารณสุขขณะนั้นตัดสินใจแต่งตั้งนายแพทย์มงคลเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งๆ ที่ยังมีชนักติดหลังอยู่ ทำให้นายแพทย์มงคลได้ร่วมทำเรื่องบัตรทองในช่วงเริ่มต้น และทำงานสำคัญๆ อื่นๆ อีกหลายชิ้น

นายแพทย์มงคลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขช่วงเวลาไม่นาน เพียง 1 ปี 3 เดือน 27 วัน (9 ตุลาคม 2549 – 6 กุมภาพันธ์ 2551) แต่ในบรรดารัฐมนตรีสาธารณสุข นับตั้งแต่ตั้งกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2485 เป็นต้นมา นายแพทย์มงคลเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขที่มีผลงานโดดเด่น เป็นรองก็แต่ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เท่านั้น

ขอให้ดวงวิญญาณของนายแพทย์มงคล ณ สงขลา จงไปสู่สุคติในสรวงสวรรค์ เป็นเทพเจ้าที่คอยปกป้องคุ้มครองประเทศชาติและประชาชนชาวไทยให้พ้นภัยพาล และเจริญวัฒนาสถาพรตลอดไป