ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มหาเศรษฐีจำนวนมากได้บริจาคเงินเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 และสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุข

ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ ของเจ้าพ่อไมโครซอฟต์ "บิลล์ เกตส์" (Bill Gates) และภรรยา เมลินดา เกตส์ (Melinda Gates) ซึ่งบริจาคเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท ให้กับองค์กร Gavi vaccine alliance เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคให้กับกลุ่มเด็กในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด

"แม็คเคนซี สก๊อตต์" (MacKenzie Scott) อดีตภรรยาของ "เจฟฟ์ เบนโซส์" (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อเมซอน ก็บริจาคเงินรวม 5.1 หมื่นล้านบาท ให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เน้นพัฒนาระบบสาธารณสุข ผลักดันความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ และแก้ปัญหาโลกร้อน โดยรายได้ของเธอส่วนใหญ่มาจากการถือหุ้น 4% ในบริษัทอเมซอน

ส่วน "เบนโซส์" เองก็ไม่น้อยหน้า บริจาคเงินไปมากกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือด้านอาหารให้แก่ผู้ยากไร้ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด

บริษัทอเมซอนของเขายังบริจาคเงินร่วม 800 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการตรวจเชื้อโควิด-19 ฟรี ช่วยเหลือธุรกิจรายกลางถึงย่อย และแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด

ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา "วอเรน บัฟเฟต" (Warren Buffett) ปรมาจารย์ด้านการลงทุนแบบเน้นคุณค่า และผู้ก่อตั้งบริษัทโฮลดิ้ง Berkshire Hathaway ได้บริจาคหุ้นของบริษัทมูลค่ารวมกว่า 8.7 หมื่นล้านบาท ให้กับองค์กรไม่หวังผลกำไร 5 แห่ง

หนึ่งในนั้นคือ มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ ซึ่งสนับสนุนเงินกว่าหลายพันล้านบาทในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและการรักษาโรคโควิด-19

การบริจาคเงินของ "บัฟเฟต" ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมคืนกำไรสู่สังคมประจำปี โดยตั้งแต่ปี 2549 บัฟเฟตบริจาคเงินไปมากกว่า 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

เขายังเคยประกาศว่าจะบริจาคทรัพย์สินที่มีเกือบทั้งหมดเพื่อการกุศล หากเขาเสียชีวิตลง

นอกจากนี้ "มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก" (Mark Zuckerberg) ซีอีโอเฟซบุ๊ค และภรรยา "พริสซิลลา ชาน" (Priscilla Chan) ก็บริจาคเงินมากกว่า 1,800 ล้านบาท ให้กับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการโรคโควิด-19

นี่เป็นเพียงตัวอย่างจำนวนหยิบมือเท่านั้น การรวบรวมข้อมูลของ "นิตยสารฟอบส์" พบรายชื่อมหาเศรษฐีที่บริจาคในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ซึ่งมาจากหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแฟชั่น สโมสรฟุตบอล การท่องเที่ยว ท่าเรือ ไปจนถึงคาสิโน

ในมุมหนึ่ง แน่นอนว่าเงินบริจาคเหล่านี้ย่อมมีประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อมันถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อพัฒนาวัคซีนและช่วยชีวิตคนจำนวนมาก

ในประเทศที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และรัฐบาลมีงบประมาณด้านสุขภาพจำกัด เงินบริจาคจึงเป็นทรัพยากรสำคัญที่ช่วยปิดช่องว่างการเข้าถึงระบบสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามต่อปรากฎการณ์ดังกล่าว การบริจาคนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบสุขภาพ หรือความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ด้อยโอกาสทั้งหมดได้จริงหรือไม่ ?

คำตอบคือ “ไม่”

"Mother’s Jones" แมกกาซีนสัญชาติอเมริกัน ได้วิเคราะห์เรื่องนี้อย่างน่าสนใจ โดยอ้างอิงงานศึกษาจำนวนหนึ่งที่ระบุว่า ...

เงินบริจาคจากมหาเศรษฐี ไปไม่ถึงมือคนรากหญ้าอย่างแท้จริง และไม่สามารถกระจายโอกาสได้อย่างเท่าเทียม

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปดูปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงทศวรรษหลังๆ ที่ผ่านมา

การศึกษาของ Institute for Policy Studies สถาบันคลังสมอง หรือ Think Tank ในกรุงวอชิงตันดีซี พบว่าในระหว่างปี 2552-2562 จำนวนผู้บริจาคเพื่อการกุศลในสหรัฐอเมริกาในภาพรวม ลดลงถึง 12%

เพราะค่าแรงที่ไม่ขยับขึ้น ผสมกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แย่ลง ทำให้ผู้บริจาครายกลางไปจนถึงรายย่อยไม่สามารถบริจาคเงินได้เหมือนแต่ก่อน

ในทางตรงข้าม สัดส่วนเงินบริจาคจากมหาเศรษฐีรายใหญ่กลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก

การศึกษาข้างต้นพบว่า ในปี 2532 ทุกๆ 81 เซนต์ของเงินบริจาค 1 ดอลลาร์ มาจากผู้บริจาครายย่อยบุคคล และลดลงเหลือ 69 เซนต์ ในปี 2562

สัดส่วนเงินบริจาคของผู้บริจาครายย่อย ถูกแทนที่ด้วยเงินบริจาคของมหาเศรษฐีที่ทุ่มเงินใส่มูลนิธิและองค์กรขนาดใหญ่ที่ตั้งขึ้นโดยคนรวยด้วยกัน

แมกกาซีนสัญชาติอเมริกัน Chronicle of Philanthropy ระบุว่าในระหว่างปี 2560-2561 เงินบริจาคเข้าองค์กรการกุศลขนาดใหญ่เติบโตมากถึง 11%

ที่เงินบริจาคจากมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นนั้น เป็นเพราะความมั่งคั่งของพวกเขาเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด สวนกระแสสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

การบริจาคจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดภาษีรายได้บุคคลและนิติบุคคลประจำปี

ความมั่งคั่งของพวกเขามีมากเพียงไร ? สามารถดูได้จากช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ซึ่งมีสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง อันเป็นผลมาจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม มหาเศรษฐีของสหรัฐอเมริกากลับมีสินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มรวมมากกว่า 15 ล้านล้านบาท ในระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย.

เพราะบางธุรกิจยังคงดำเนินการอยู่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจขายสินค้าและบริการออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหญ่

ขณะที่มูลค้าหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ถีบตัวขึ้นสวนกระแสเศรษฐกิจซบเซา เกิดจากความคาดหวังเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ของมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นเท่าตัวไปตามๆ กัน

แม้ว่าเงินบริจาคสะพัดในองค์กรเพื่อการกุศลขนาดใหญ่ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับรากหญ้าที่ทำงานเข้าถึงคนเล็กคนน้อย กลับได้เงินบริจาคน้อยลง

แหล่งที่มาของเงินบริจาคขององค์กรขนาดเล็ก โดยมากมาจากผู้บริจาครายย่อย ซึ่งตอนนี้ต่างประสบปัญหาเศรษฐกิจไม่ต่างกัน

องค์กรเหล่านี้จึงต้องปลดพนักงาน และลดเงินเดือน เพื่อความอยู่รอดในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด สวนทางกับความเฟื่องฟูขององคืกรเพื่อการกุศลขนาดใหญ่

การศึกษาของ Institute for Policy Studies ยังระบุอีกว่ามหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในสหรัฐอเมริกา 20 คนแรก จริงๆ แล้วบริจาคเงินเพียง 0.3% ของมูลค่าทรัพย์สินในปี 2561 เท่านั้น

แต่หากเทียบกับมูลค่าเงินที่ได้รับการลดหย่อนภาษีแล้ว ถือว่าคุ้มค่ามากสำหรับมหาเศรษฐีเหล่านี้

เมื่อลองพิจารณาแคมเปญ Giving Pledge เริ่มต้นโดยเกตต์และบัฟเฟต ซึ่งเชิญชวนเศรษฐีทั่วโลกมาให้คำมั่นสัญญาว่า ตนจะบริจาคทรัพย์สินส่วนตัวและมูลนิธิให้สาธารณะเมื่อเสียชีวิต

โดยมีมหาเศรษฐีชาวอเมริกันเซนต์สัญญาเข้าร่วมแคมเปญ มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 15 ล้านล้านบาท การบริจาคจะทำให้ลูกหลานที่รับมรดกของพวกเขา สามารถลดหย่อนภาษีได้มากถึง 11 ล้านล้านบาท

ดังนั้น บทวิเคราะห์ของ Mother’s Jones จึงเสนอว่า เงินบริจาคของมหาเศรษฐี ไม่สามารถให้ผลประโยชน์ตอบแทนได้เท่าการจ่ายภาษีของพวกเขา จึงควรหันมาปรับปรุงระบบการเก็บภาษีให้เป็นธรรม และปรับเปลี่ยนกฎหมายลดหย่อนภาษี

เพื่อมิให้มหาเศรษฐีสามารถ “หนีภาษี” ได้ด้วยการทำบุญ

ที่สำคัญก็คือ รัฐบาลสามารถนำภาษีไปทำนโยบายรัฐสวัสดิการอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับระโยชน์เป็นวงกว้าง และยั่งยืนมากกว่า