ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายหลังจากการต่อสู้ยาวนาน 16 เดือนเพื่อเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม ในที่สุดก็ถึงเวลาเฉลิมฉลอง เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสตัดสินใจอนุมัติขึ้นเงินเดือนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ มากกว่ารายละ 6,500 บาท

ในวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ฌ็อง กัสเต็กซ์ (Jean Castex) นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสป้ายแดงซึ่งเพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อต้นเดือนนี้ ได้ลงนามในสัญญากับกลุ่มสหภาพแรงงานสายแพทย์เพื่อเป็นหลักประกันว่า ...

รัฐบาลฝรั่งเศสจะอนุมัติงบประมาณรวม 2.7 แสนล้านบาท เป็นค่าแรงเพิ่มเติมให้ลูกจ้างในภาคส่วนสาธารณสุข โดยเฉพาะพยาบาล และพนักงานในโรงพยาบาล รวมทั้งจะนำงบประมาณบางส่วนไปพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น

“นี่เป็นครั้งแรก (ของความเคลื่อนไหวด้านนโยบาย) ที่ตระหนักถึงผู้คนที่ทำงานอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด (โควิด-19)” สำนักข่าวบีบีซีอ้างอิงถึงคำพูดของ “กัสเต็กซ์” ในระหว่างการเซนต์สัญญา

นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2562 บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศได้รวมตัวกันประท้วงรัฐบาลเป็นระยะ หลังจากประธานาธิบดี “เอมมานูเอล มาครง” (Emmanuel Macron) ประกาศนโยบายลดงบประมาณสวัสดิการแห่งรัฐ

รวมทั้งการประกาศตัดงบประมาณด้านสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะรัฐบาลที่สูงเกินกว่าเกณฑ์จนส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

นั่นเพราะฝรั่งเศสมีหนี้สาธารณะสูงถึง 98% ของจีดีพี และมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพคิดเป็น 12% ต่อจีดีพี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป

ฝรั่งเศสได้ชื่อว่ามีระบบสุขภาพที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งใช้รูปแบบร่วมจ่ายระหว่างประชาชนและรัฐบาล โดยรัฐบาลจ่ายในสัดส่วนที่มากกว่า

อย่างไรก็ดี การประกาศนโยบายตัดงบประมาณด้านสาธารณสุข ได้ส่งผลให้เกิดการ “ตรึงค่าแรง” บุคลากรทางการแพทย์ในปีที่ผ่านมา ทั้งยังมีการลดทรัพยากรในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งมีจำนวนเตียง 60% ของทั้งประเทศ

จนกระทั่งมีรายงานกรณีที่ผู้ป่วยวัยชราคนหนึ่ง ต้องนั่งรอบนรถเข็นในโรงพยาบาลนานหลายชั่วโมง เพื่อรอให้เตียงว่าง ทำให้กระแสประท้วงรัฐบาลลุกลามไปอย่างรวดเร็ว

ยิ่งเมื่อเจอวิกฤติโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้แรงต้านรัฐบาลรุนแรงขึ้น เพราะแต่ละโรงพยาบาลต่างประสบสภาวะ “ทุลักทุเล” จากทรัพยากรทางการแพทย์ขาดแคลน โดยฝรั่งเศลมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 170,000 ราย เสียชีวิตมากกว่า 30,000 คน

ในกลางเดือน มิ.ย. บุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และสมาชิกสหภาพแรงงานในโรงพยาบาลมากกว่า 18,000 ชีวิต รวมตัวกันบนท้องถนนในกรุงปารีส ปะทะแก๊สน้ำตาของตำรวจ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณสาธารณสุขและค่าแรงบุคลากรทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน

“ภายหลัง 14 เดือนที่เราเคลื่อนไหว และต้องมาเจอกับวิกฤติโรคระบาด จนการกลับไปสู่สภาวะปกติเป็นเรื่องที่เราจินตนาการแทบไม่ออก สำหรับผู้ที่อยู่ในระบบสุขภาพนั้น มันไม่ใช่เวลาของการปรบมือชื่นชมให้บุคลากรทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ทุกคนต้องช่วยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเราด้วย” สำนักข่าว France 24 อ้างอิงคำกล่าวของหนึ่งในผู้ประท้วง

คำกล่าวนี้เชื่อมโยงกับสถานการณ์ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก มีชาวฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งนัดกันปรบมือที่ระเบียงห้องพักตอนสองทุ่มทุกคืน เพื่อให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์
หลายคนบอกว่า ...

“การปรบมือให้ก็เป็นเรื่องดี แต่บุคลากรทางการแพทย์ต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากกว่า”

ที่ผ่านมา การขึ้นค่าแรงบุคลากรทางการแพทย์ในหลายประเทศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะรัฐบาลมักจะมีข้อกังวลถึงจำนวนงบประมาณ แม้กระทั่งในกรณีของฝรั่งเศสเอง มีแนวโน้มที่ต้องใช้เงินกู้มาจ่ายค่าแรงของบุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น จนอาจพอกหนี้สาธารณะของรัฐบาลมากขึ้นไปอีก

การเรียกร้องขึ้นค่าแรงเกิดขึ้นในอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้เช่นกัน โดยกลุ่มสหภาพแรงงานในโรงพยาบาลเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี "บอริส จอนห์สัน" (Boris Johnson) และรัฐสภา ขอให้พิจารณาขึ้นค่าแรงให้บุคลากรทางการแพทย์ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (National Health Service) ภายในสิ้นปีนี้

กลุ่มสหภาพแรงงานประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 1.3 ล้านคนในอังกฤษ รวมทั้ง พยาบาล ผู้ช่วยแพทย์ พนักงานทำความสะอาด คนยกของ และคนงานในตำแหน่งอื่นๆ ที่ต่างส่วนในการขับเคลื่อนโรงพยาบาล

สมาชิกกลุ่มให้เหตุผลว่า การขึ้นค่าแรงจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ “รู้สึกมีคุณค่า” เติมพลังในการทำงาน และมีกำลังจ่ายมากขึ้นที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีมีเสียงตอบรับที่ชัดเจนจากซีกรัฐบาล
ในส่วนของประเทศไทย คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา มีมติบรรจุพนักงานและลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 45,242 คนเข้าตำแหน่งข้าราชการ

นั่นหมายถึงโอกาสไต่ลำดับขั้นรายได้และมีสวัสดิการมั่นคง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่ต่อสู้กับโรคโควิด-19

แต่กลับมีหนังสือจากกรมบัญชีกลางถึงสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ระบุให้ระงับการเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการ “รุ่นโควิด-19” เฉพาะเดือน ก.ค. เนื่องจากสำนักงบประมาณยังไม่จัดสรรงบให้ และให้รอเบิกจ่ายได้ในรอบเดือนถัดไป

การขึ้นค่าแรงของบุคลากรทางการแพทย์หลังจากนี้ ไม่ว่าจะในกรณีของไทยแหรือฝรั่งเศส จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการจัดหาแหล่งที่มางบประมาณที่ยั่งยืน เพื่อยกระดับสวัสดิภาพของลูกจ้างในระบบสุขภาพ