ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ก่อนที่ไวรัสโควิด-19 จะเกิดการระบาดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา วาระสำคัญของ “ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส” ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) คือการผลักดันให้ทุกประเทศทั่วโลกสร้างระบบ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ของตัวเองให้สำเร็จ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันที่ 23 ก.ย. 2019 นับเป็นย่างก้าวสำคัญ เพราะเป็นวันที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ได้ร่วมลงนามใน “ปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสหประชาชาติ” ที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

ปฏิญญาดังกล่าว “ประเทศไทย” และ “จอร์เจีย” ในฐานะ 2 ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพเป็นผู้เสนอเข้าสู่ที่ประชุม โดยมีสาระสำคัญคือ “ประชาชนทุกคน” จะต้องได้รับการบริการสุขภาพที่จำเป็น รวมถึงยา วัคซีน อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อยุติปัญหาความยากจน และไม่ทิ้งให้ใครต้องเสียชีวิต เพียงเพราะไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาล

แน่นอนว่า นั่นเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้า เพราะได้ทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2001 จนได้รับการยกย่องไปทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อโควิด–19 แพร่ระบาด ทำให้นานาประเทศต้องหันกลับมาตั้งรับเต็มรูปแบบเพื่อปกป้องพลเมืองของตัวเอง

วาระใหญ่อย่างการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงถูกพูดถึงน้อยลง

หนำซ้ำยังเกิดคำถามว่า ... ในเวลาที่วาระด้านสุขภาพของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังคงมีความจำเป็นอยู่อีกหรือ ? หรือรัฐบาลทั่วโลกควรใช้เงินไปลงทุนในเรื่องอื่นมากกว่า ?

สำหรับคำตอบตัวโตยังคงเป็นเหมือนเดิม ... หลักประกันสุขภาพฯ มีความจำเป็น เพราะประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดี และมีความ “ยืดหยุ่น” สูง ย่อมจัดการกับโรคระบาดที่ไม่มีใครคาดคิดได้ดีกว่า

ตัวอย่างชัดเจนเริ่มจาก “ไต้หวัน” ระบบสุขภาพแห่งชาติไต้หวัน หรือ NHI เริ่มต้นเมื่อปี 1995

ระบบสุขภาพของไต้หวัน ได้รับการยกย่องในฐานะระบบที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก มีหน่วยงาน “ซื้อบริการ” แทนประชาชน ประชาชน “ร่วมจ่าย” สมทบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรายปีผ่านระบบภาษี ตามสัดส่วนรายได้ (หากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องจ่าย) ซึ่งทำให้ระบบไม่ต้องแบกรับภาระงบประมาณมากจนเกินไป

ในปี 2016 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไต้หวัน อยู่ที่ราว 6.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ไทย อยู่ที่ 4.6% ของจีดีพี

หากจะแตกต่างจากประเทศไทยอยู่บ้าง ก็ตรงที่โรงพยาบาลเอกชนเองอยู่ร่วมในระบบนี้ด้วย โดยคิดเป็นกว่า 70% ของโรงพยาบาลในโครงการทั้งหมด

เมื่อฐานคิดของระบบ ตั้งต้นด้วยการบอกว่า “ทุกคน” มีสิทธิเข้ารับบริการเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นฐานข้อมูลเรื่องสุขภาพจึงต้องแม่นยำ ต้องบอกได้ว่าใคร อยู่ที่ไหน รับสิทธิบริการที่ไหน

นั่นนำไปสู่การพัฒนาระบบสารสนเทศจนแม่นยำ เพื่อช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย แพทย์สามารถใช้ระบบ Cloud ดึงฐานข้อมูลคนไข้ได้จากทั่วประเทศ โดยไม่ต้องส่งต่อเวชระเบียนให้ยุ่งยาก

ทั้ง 2 เรื่องนี้ ได้กลายเป็นประโยชน์สำหรับการทำ Contact Tracing หรือติดตามเส้นทางการระบาดของคนไข้ หรือของกลุ่มเสี่ยงได้เป็นอย่างดี

การที่ “ระยะห่าง” ระหว่างคนไข้กับสถานบริการพยาบาลมีน้อยนิด ทำให้เมื่อมีคนไข้สงสัยว่าตัวเองป่วย มีอาการใกล้เคียงกับโรคโควิด – 19 ก็สามารถนัดพบแพทย์ หรือนัดเข้าตรวจได้ทันที เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ตามมา ต่างจากอีกหลายประเทศที่คนไม่กล้าเข้าโรงพยาบาล เพราะกลัว “บิลค่ารักษา” ที่ตามมาเก็บที่บ้าน

จนถึงขณะนี้ ไต้หวัน มีผู้ติดเชื้อเพียง 447 ราย เสียชีวิตเพียง 7 ราย อย่างไรก็ตาม "เฉิน สือจง" รมว.สาธารณสุข ไต้หวัน บอกว่า แม้ปัจจุบันระบบสุขภาพจะดีมาก และเป็นผลทำให้การติดเชื้อไม่ขยายเป็นวงกว้างนัก แต่ก็ยังมองเห็น “โอกาส” ในการพัฒนาระบบอีก

โดยเฉพาะการเพิ่มเตียง และเพิ่มสถานที่สำหรับรองรับผู้ป่วย ในกรณีที่เข้ารับการรักษาพร้อมกันจำนวนมากๆ

อีกหนึ่งประเทศ ที่ใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เป็นประโยชน์ก็คือ “เกาหลีใต้”

คนเกาหลีส่วนใหญ่ อยู่ใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า National Health Insurance Service หรือ NHIS เช่นกัน โดยเป็นระบบ Single Player คือมี “ผู้จ่าย” รายเดียวคือรัฐบาล

เกาหลีใต้ได้รวบรวมทุกระบบสุขภาพเข้าด้วยกันในปี 2000 แล้วให้ประชาชนร่วมจ่ายผ่านการ “หักเงินเดือน” คล้ายกับระบบประกันสังคมในไทย

ระบบสุขภาพเกาหลีใต้นั้นคล้ายกับไต้หวัน คือมี “ฐานข้อมูล” สำหรับผู้ที่รักษาพยาบาลที่แม่นยำอยู่แล้ว และระยะห่างระหว่างโรงพยาบาลกับประชาชนถือว่าน้อย ซึ่งเป็นข้อดีสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อโรคโควิด – 19 มาถึง เกาหลีนั้นเจอหนักกว่า เพราะคลัสเตอร์ใหญ่จากโบสถ์ที่เมืองแทกูนั้น ทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง มีผู้ป่วยวันละหลักพันคนในวันเดียว

ทว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีผู้จ่ายรายเดียวนั้น วางแผนได้ดี คือปรับการใช้จ่ายงบประมาณลงมายังการทำ Testing แทน เพราะเห็นว่าเป็นความจำเป็นลำดับแรก

การตรวจเชื้ออย่างบ้าคลั่ง การทำนวัตกรรมใหม่อย่างการเทสต์แบบ Drive Thru และการใช้เทคโนโลยี พัฒนาแอพพลิเคชันติดตามคนไข้ ผู้ใกล้ชิดคนไข้ กักกันโรค และรักษาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงสุด

ทั้งๆ ที่หลายคนคิดว่า การที่เกาหลีมีผู้ป่วยติดเชื้อมากขนาดนั้น จะทำให้เรื่องในเกาหลีกลายเป็น “หนังม้วนยาว” แบบเดียวกับในยุโรป หรือในสหรัฐอเมริกา

บทความล่าสุดเรื่อง Covid-19 and the Need for Health Care Reform โดย "Jaime King" ซึ่งตีพิมพ์ใน The New England Journal of Medicine วารสารทางการแพทย์ระดับโลก ชี้ให้เห็นว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบที่มีอยู่อย่าง Medicare และ Medicaid นั้น ยังไม่ครอบคลุม และได้สร้างปัญหา

นั่นทำให้การจัดการโรคเป็นไปได้ยากเกินกว่าที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างเช่นเมื่อคนไข้ไปเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่คู่สัญญา หรือไม่ได้ลงทะเบียนไว้ คนไข้จะถูก “ชาร์จค่ารักษา” จากอุปกรณ์ทางการแพทย์ราคาแพง เช่น เครื่องช่วยหายใจ

หรือแม้กระทั่งค่าแรงแพทย์ - พยาบาล – บุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงค่าใช้จ่ายจากการใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้บิลค่ารักษา สูงกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก

ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผลพวงจากโควิด – 19 และการล็อคดาวน์ ทำให้รายได้ของหลายกลุ่มอาชีพหายไปแบบสมบูรณ์แบบ ประชากรจำนวนมากตกงาน “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งทำให้ประชาชนเข้ารับบริการสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย “ยิ่งมีความจำเป็น”

และจะยิ่งเร่งเร้าให้หลายประเทศที่ยังไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องพัฒนาระบบของตัวเองขึ้นมา

วันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา “ทีโดรส” ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ยังคงยืนยันความสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และยังยกให้เป็น “วาระหลักของโลก” โดยให้เหตุผลว่า ในภาวะโรคระบาดยิ่งตอกย้ำว่า เรื่องสุขภาพควรเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่ “สินค้าราคาแพง”

ขณะเดียวกัน การมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดี ก็หมายถึงระบบสุขภาพประเทศนั้น มีความ “โปร่งใส” ในการจัดการ และการมีฐานข้อมูล มีระบบ “เฝ้าระวัง” โรคที่ดี

ในขณะที่โจทย์เดิมอย่างเรื่องการให้บริการสุขภาพอย่างทั่วถึง-มีคุณภาพ ยังคงอยู่ และจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในห้วงเวลาที่ประชากรมีความ “เปราะบาง” เรื่องรายได้จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ กลับพบ “โจทย์ใหม่” ที่ท้าทายอย่างยิ่ง

โจทย์ใหม่นั้นก็คือ จะทำอย่างไรให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถ “ยืดหยุ่น” ได้ในช่วงเวลาโรคระบาด และในเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกไม่ดีนัก ซ้ำยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกนาน

ทั้งหมดนี้คือโจทย์ที่นานาประเทศทั่วโลกต้องเดินไปให้ถึง