ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มาตรการล็อกดาวน์เมืองและประเทศ อันเป็นผลพวงมาจากโรคโควิด-19 ระบาด ได้ทำให้เกิดกระแสนิยมใช้บริการ "การแพทย์บนโลกดิจิทัล" มากขึ้น

โดยเฉพาะโทรเวชกรรม (Telemedicine) ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับคำปรึกษาและวินิจฉัยจากแพทย์ผ่านแอพพลิเคชั่นหรือช่องทางออนไลน์อื่นๆ

งานศึกษาของ Global market Insights บริษัทที่ปรึกษาและวิเคราะห์ด้านการตลาด ระบุว่าโทรเวชกรรมมีขนาดตลาดอยู่ที่ 1.35 ล้านล้านบาทในปี 2562 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 5.25 ล้านล้านบาทภายในปี 2569 หรือมีมูลค่าเติบโตเฉลี่ยมากถึง 19.3% ต่อปี

ก่อนหน้านี้ โทรเวชกรรมดูเหมือนจะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร สืบเนื่องจากแพทย์และผู้ป่วยยังคงเคยชินกับการดูแลรักษาแบบพบหน้า

แต่ความจำเป็นที่ต้องอยู่บ้านในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 กลับทำให้การใช้โทรเวชกรรมเป็นที่ยอมรับเป็นวงกว้างมากขึ้น และยังพบข้อดีในแง่ของการลดต้นทุน ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าเดินทางไปโรงพยาบาล

ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์สามารถลดทรัพยากรและเวลากับการรักษาที่ไม่จำเป็น สามารถไปทุ่มเทให้ให้กับกรณีเร่งด่วนก่อน

มีธุรกิจสตาร์ทอัพได้รับอานิสงค์จากความนิยมต่อการแพทย์บนโลกออนไลน์ ด้วยการคิดค้นแอพพลิเคชั่น เครื่องมือ และซอฟต์แวร์ ที่เอื้ออำนวยต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยผ่านระบบออนไลน์

หนำซ้ำยังช่วยให้คนทั่วไปสามารถมอนิเตอร์สถานะทางสุขภาพของตนเองได้ โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ถึงโรงพยาบาล

สัญญาณการเติบโตของธุรกิจ เห็นได้จากมูลค่าของเงินร่วมลงทุน (Venture capital) ในธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการแพทย์บนโลกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในไตรมาสแรกของปี 2563 มีเงินร่วมลงทุนมากกว่า 9.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5 เท่าจากช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 สาเหตุเกิดจากการใช้บริการทางการแพทย์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แพร่หลายมากขึ้นภายหลังเกิดโรคโควิด-19 ระบาดทั่วโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ มีบริษัทจำนวนหนึ่งที่หันมาเปิดบริการการแพทย์ผ่านช่องทางอออนไลน์ เช่น Homage บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ซึ่งให้บริการดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน เพิ่งเปิดหน้างานใหม่ในด้านการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ เช่น การดูแลและให้คำปรึกษาผู้ป่วยผ่านมือถือและแอพพลิเคชั่น โดยเรียกกลุ่มงานใหม่ของบริษัทนี้ว่า Homage Health

ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ผ่านวีดีโอคอล โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการเบื้องต้นและสั่งยา นอกจากนี้ ยังมีบริการฟื้นฟูและเยียวยาสภาพจิตใจผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ป่วยสามารถเรียกขอให้แพทย์มาดูแลที่บ้านได้หากมีความจำเป็น

คาดว่าบริการดังกล่าวจะตอบโจทย์กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังไม่เร่งด่วนได้ดี เช่น โรคความดันสูง โรคเบาหวาน หรืออาการเครียด

ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศที่โดดเด่นด้านนวัตกรรมก็เริ่มหันมาเน้นสินค้าและบริการด้านการแพทย์ที่เชื่อมโยงกับโลกดิจิทัล ทั้งยังชูให้เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
ผู้นำในด้านนี้ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย คงหนีไม่พ้นไต้หวัน

ไต้หวันได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยทั่วไปในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

“วิกฤติโรคระบาดทำให้ประตูเชื่อมต่อโลกแต่ละบานปิดตามๆ กัน แต่โทรเวชกรรมเปิดหน้าต่างแห่งความหวัง” วอลเตอร์ เยห์ ประธานสภาพัฒนาการค้าระหว่างประเทศไต้หวัน หรือ ไททรา (Taiwan External Trade Development Council: TAITRA) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

“ด้วยการผสมผสานระหว่างปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้า เราสามารถเชื่อมต่อระบบข้อมูลด้านการแพทย์ เข้ากับการวิเคราะห์ภาพ (ร่างกายของผู้ป่วย) สามารถวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วยโดยที่พวกเขาอยู่ในบ้าน ไม่ต้องเดินทางออกมาเจอสถานที่เสี่ยงติดโควิด”

หนึ่งในตัวอย่างเทคโนโลยีที่ไททรานำเสนอ คือสายรัดข้อมือของ บริษัทหลีดเทค (Leadtek Research Inc.) ที่สามารถจับวัดสถานะสุขภาพของผู้สวมใส่ เช่น การหลับนอน ดัชนีความเหนื่อย และความเครียด เพื่อให้ผู้สวมใส่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือส่งข้อมูลให้แพทย์วิเคราะห์สภาพร่างกายได้

อีกตัวอย่างคือ บริษัทไบโอนีม (Bionime Corporation) ซึ่งสร้างระบบรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพ และให้บริการโทรเวชกรรมที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการจัดหาโรงพยาบาลและคลินิกที่ได้มาตรฐานให้กับผู้ป่วย รวมไปถึงการติดตามดูแลนอกสถานที่อย่างต่อเนื่องด้วย

ในส่วนของประเทศไทยนั้น แม้ว่ามีการนำเทคโนโลยีด้านโทรเวชกรรมมาประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยบ้างแล้ว แต่ยังคงกระจุกตัวในโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่

ข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ระบุว่ามีโรงพยาบาลรัฐเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ใช้โทรเวชกรรม บอร์ดสปสช. จึงตั้งเป้านำร่องบริการสาธารณสุขทางไกลและระบบการแพทย์ทางไกลในปี 2564 เพื่อขยายอัตราการใช้โทรเวชกรรมเป็นร้อยละ 5 ของโรงพยาบาลรัฐทั้งหมด

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า โทรเวชกรรมจะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้งบประมาณเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท ที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับจัดสรรจากรัฐบาล

หลังจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าหากมีการใช้โทรเวชกรรมในโรงพยาบาลรัฐมากขึ้น น่าจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายหลักที่ยังต้องการทางออกใหม่ๆ

โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับให้บริการผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง