ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีการมอบรางวัลใหญ่ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (AAAH Award) สำหรับแพทย์และพยาบาลที่มุ่งมั่นทุ่มเทให้กับวงการสาธารณสุข จำนวน 3 รางวัล

2 ใน 3 ผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นบุคลากรจากประเทศไทย

พิธีมอบรางวัลดังกล่าว เกิดขึ้นในการประชุมนานาชาติ “งานประชุมพันธมิตรกำลังคนด้านสุขภาพภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ซึ่งจัดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ธนาคารพัฒนาเอเชีย องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ

แบ่งออกเป็น 3 ประเภทรางวัล ได้แก่ รางวัลแพทย์ (Medical Award) รางวัลพยาบาล (Nursing Award) และรางวัลผดุงครรภ์ (Midwifery Award)

บุคคลแรกที่ได้รับรางวัลคือ นพ.ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่น

บุคคลที่สอง คือ ดร.กฤษดา แสวงดี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงด้านแผนยุทธศาสตร์สาธารณสุขและกรรมการที่ปรึกษาสภาการพยาบาล ได้รับรางวัลพยาบาลดีเด่น

เพื่อเป็นการเข้าใจการทำงาน เข้าใจภารกิจเพื่อเพื่อนมนุษย์ "The Coverage" จึงได้ขอความอนุเคราะห์จาก “นพ.ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา” เพื่อพูดคุยถึงแนวคิดและวิธีการทำงาน ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นจนนำมาสู่การได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในครั้งนี้

--- ‘แม่สอด’ พื้นที่เปราะบาง ---

สำหรับพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่ชายแดนด้านตะวันตกที่มีความอ่อนไหวทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด มีแค่ อ.เมียวดี เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่อยู่ในอิทธิพลของเมียนมา ที่เหลืออยู่ในอิทธิพลของกระเหรี่ยงทั้งหมด เมียนมาและกระเหรี่ยงไม่ได้เป็นมิตรต่อกันสักเท่าใดนัก และลักษณะประชากรในเมียนมาก็เป็นไปในลักษณะหลายชาติพันธุ์ แต่ละชาติพันธุ์มีแนวคิด ประเพณี วัฒนธรรมที่ต่างกัน

ด้านการค้าการลงทุนก็มีทั้งชาวไทย เมียนมา และจีนเข้ามาลงทุนเต็มไปหมด ลักษณะทางภูมิศาสตร์มีช่องทางผ่านแดนธรรมชาติเยอะมาก ประชาชนจากทั้ง 2 ฝั่ง เดินทางข้ามแดนกันไปมาเป็นเรื่องปกติ

พื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลแม่สอด นอกจากดูแลพื้นที่ใน อ.แม่สอด แล้ว ยังเป็นแม่ข่ายดูแลโรงพยาบาลในอีก 4 อำเภอ คือ อ.ท่าสองยาง อ.แม่ระมาด อ.พบพระ อ.อุ้มผาง ต้องดูแลตลอดแนวตะเข็บชายแดนยาวประมาณ 542 กิโลเมตร 

พื้นที่ดังกล่าวมีโรคติดเชื้อจำนวนมาก บางโรคที่หายไปจากประเทศไทยแล้วแต่กลับพบได้แถวๆ นี้ การทำงานสาธารณสุขในบริบทเหล่านี้จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก

“เมื่อ 20 ปีก่อน โรงพยาบาลแม่สอดมีประมาณ 200 เตียง ตอนนี้ยกระดับเป็น 400 กว่าเตียง และวางแผนเพิ่มเป็น 500 เตียง รวมถึงพยายามเอาแพทย์เฉพาะทางมาอยู่ที่นี่ให้มากที่สุด” นพ.ธวัชชัย ระบุ

เนื่องจาก อ.แม่สอด อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถ้าจะต้อง refer (ส่งต่อ) โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดคือโรงพยาบาลพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ซึ่งใช้เวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมง นั่นจำเป็นต้องขยายศักยภาพให้โรงพยาบาลแม่สอดสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เช่น โรคหัวใจ สมอง ฯลฯ 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโรงพยาบาลแม่สอดมีแพทย์เฉพาะทางเกือบครบทุกสาขาแล้ว

นอกจากดูแลคนไทยแล้ว ความท้าทายอีกประการของโรงพยาบาลตามแนวชายแดน คือต้องดูแลรักษาคนจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

“เรามีแนวคิดว่าต้องดูแลชาวเมียนมาฝั่งโน้นด้วยเพื่อไม่ให้นำโรคข้ามมาฝั่งเรา นี่เป็นแนวคิดที่พี่ๆ สอนกันไว้ว่าเราอยู่ในพื้นที่ชายแดน เราต้องปฏิบัติแบบนี้ แต่ก็ต้องดูตามความเหมาะสมของแต่ละคนด้วย ไม่ใช่ว่าข้ามฝั่งมาแล้วจะรับหมด ถ้าช่วยได้เราก็ช่วย ถ้าข้ามไปช่วยได้เราก็ไป ตอนนี้เรามีผู้ป่วยนอก 20% และผู้ป่วยในอีก 30% ที่เป็นชาวเมียนมา

“หลักการบริหารคือคนเมียนมาที่จ่ายค่ารักษาได้ก็จะให้จ่าย แล้วเอาเงินนั้นย้อนกลับไปรักษาคนเมียนมาที่ไม่มีเงินจ่าย วนกันไปมาแบบนี้ แต่กระนั้นก็ยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสงเคราะห์ผู้ป่วยกว่า 40-50 ล้านบาททุกปี” นพ.ธวัชชัย ระบุ

--- สร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก ---

นอกจากการพัฒนาศักยภาพให้ครอบคลุมเบ็ดเสร็จในพื้นที่แล้ว การทำงานในเชิงรุกก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน 

ตัวอย่างเช่น การให้วัคซีน ที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้ประสานกับกรมควบคุมโรคในการจัดหาวัคซีนหลายๆ ตัวมาฉีดให้กับเด็กชาวต่างชาติ หลักคิดในเรื่องนี้เพราะเชื่อว่าถ้าไม่มีการฉีดวัคซีนแล้ว ในอนาคตคนกลุ่มนี้ก็จะป่วย เมื่อป่วยก็จะนำโรคมาสู่ประชาชนคนไทย

ดังนั้น ยอมเสียค่าวัคซีนดีกว่า เพราะจะทำให้คนไทยได้อยู่อย่างปลอดภัย

นอกจากการให้วัคซีนแล้ว โรคหลายๆ โรค เช่น วัณโรค เอดส์ ฯลฯ ทางโรงพยาบาลและเครือข่ายก็พยายามค้นหาในแถบ 5 อำเภอ และรักษาให้เร็วเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจาย เรื่องการฝากครรภ์มีการทำ Health Post 2 แห่ง สำหรับฝากครรภ์ให้แรงงานต่างชาติพร้อมจัดพยาบาลชาวเมียนมาไปดูแล รวมทั้งมีการฉีดวัคซีนเด็กและการคุมกำเนิด 

มากไปกว่านั้น ยังมีคลินิกกฎหมายที่จะออก “ใบรับรองการคลอด” ให้ลูกของคนต่างชาติที่ข้ามเข้ามาคลอดในฝั่งไทย เพื่อให้สามารถเอาใบนี้ไปยืนยันตัวตนกับทางการเมียนมาได้เวลากลับไปอยู่ฝั่งนั้นได้ เหตุที่ต้องทำเช่นนี้เพราะทางเมียนมายังมีปัญหาเรื่องทะเบียนราษฎร์ บางครั้งก็จะเกิดปัญหาไม่ยอมรับกลับประเทศและอ้างว่าไม่ใช่ประชากรของตัวเอง

เมื่อไม่มีใบรับรองการเกิด คนเหล่านั้นจะกลายเป็น “คนไร้ตัวตน” ทั้งในฝั่งไทยและฝั่งเมียนมาในท้ายที่สุด

นพ.ธวัชชัย เล่าต่อไปว่า โรงพยาบาลแม่สอดยังได้ทำงานเชิงรุกอื่นๆ เพื่อเข้าถึงในชุมชนและโรงงาน รวมทั้งรุกทำเรื่อง School Health หรืออนามัยโรงเรียน ในศูนย์เรียนรู้เด็กต่างชาติ ใน อ.แม่สอด ซึ่งมีประมาณ 50 แห่ง ลักษณะเหมือนวิชาสุขศึกษาที่เรียนกันสมัยก่อน และเมื่อ 2-3 ปีก่อนก็เริ่มนำแนวคิดนี้ข้ามไปฝั่งเมียนมาลึกเข้าไปถึงเมืองเมาะละแหม่ง

“เราก็ไปนั่งคุยกันโรงเรียนต่างๆ ที่โน่นว่าเราทำแบบนี้ๆ นะ สนใจมั้ย พอเขาก็สนใจก็ข้ามมาดูกิจกรรมที่เราทำ School Health ในศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างชาติ พอดูเสร็จเขาก็เอาไปใช้ที่โน่น ตอนนี้มีโรงเรียนในเมาะละแหม่ง 5-6 โรงเรียนแล้วที่ใช้ระบบ School Health ซึ่งก็ช่วยทำให้ป้องกันโรคได้อีกทางหนึ่ง” นพ.ธวัชชัย กล่าว

การทำงานทั้งหมดนี้ ลำพังเพียงโรงพยาบาลอย่างเดียวทำไม่ไหวแน่นอน จุดเด่นของที่นี่อีกประการคือการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมทั้งริเริ่มจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) ซึ่งเป็นชาวต่างชาติขึ้นมาช่วยดูแลชาวต่างชาติด้วยกันเอง 

“เขาจะดูแลกันเป็นชุมชน เช่น ถ้ารู้ว่าชุมชนนี้มีโรคระบาด เขาก็จะแจ้งมา เราก็จะจัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงไปสอบสวนโรค อย่างโรคติดเชื้อโควิด-19 ก็ใช้กลไกนี้จัดการ” นพ.ธวัชชัย ระบุ

นอกจากนี้ เรายังมีทีมระบาดวิทยาที่เข้มแข็ง มีปรมาจารย์เรื่องระบาดวิทยามาช่วยดูข้อมูล มีการระดมน้องๆ ทั้งจังหวัดและจากเขตสุขภาพที่ 2 มาช่วยกัน อีกอย่างคือที่นี่มีองค์กรพัฒนาต่างๆ ค่อนข้างมาก เราติดต่อกันร่วมมือเป็นประจำ องค์กรเหล่านี้เขาก็จะช่วยเราหาเงินจากแหล่งต่างๆ มาดูแลชาวต่างชาติ ซึ่งช่วยลดภาระของโรงพยาบาลได้มาก 

อย่างชาวต่างชาติที่ไม่มีบัตรไม่มีสิทธิอะไรเลยที่อยู่ใน อ.แม่สอด มีอย่างน้อยประมาณ 2 แสนคน ก็ได้งบประมาณเหล่านี้มาช่วย

นพ.ธวัชชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ทำงานในพื้นที่ รู้สึกว่าได้มาอยู่ในที่ของตัวเอง อยู่ในจุดที่สามารถทำงานได้ คิดว่านี่คือบ้านเรา ต้องทำให้เต็มที่ ทำเพื่อพี่น้องเรา และในอนาคตเมื่อเกษียณแล้วก็คงจะตั้งรกรากอยู่ที่นี่ต่อไป