ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความเหน็ดเหนื่อยและเข็ดขยาดที่ต้องตรากตรำตื่นนอนตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง เพื่อเตรียมตัวและออกเดินทางไปจองคิวยังโรงพยาบาล คือความทุกข์ร่วมสมัยของผู้ป่วย

ทว่าปัญหานี้กำลังจะได้รับการคลี่คลาย อย่างน้อยก็ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งมีอาการคงที่ และรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่ได้นำระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth/Telemedicine/Telecare) มาใช้

ระบบสาธารณสุขทางไกล โดยคอนเซ็ปต์ก็คือการนำเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้แพทย์สามารถตรวจคนไข้ได้โดยที่คนไข้ไม่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล

สำหรับการใช้จริงทั่วโลก มีตั้งแต่การผ่าตัดชั้นสูง ที่โรงพยาบาลท้องถิ่นเชื่อมต่อสัญญาณเข้ากับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรืออาจารย์แพทย์ช่วยแนะนำ-ให้คำปรึกษา ตลอดจนควบคุมการผ่าตัด

ไปจนถึงการให้คนปรึกษาระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยที่อยู่ในชนบท-พื้นที่ห่างไกล ด้วยการวิดีโอคอลพูดคุย-ติดตามอาการ

 ในส่วนของ “ประเทศไทย” ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สนับสนุนให้โรงพยาบาลที่มีความพร้อมตามเกณฑ์ที่กำหนด นำร่องการดูแลผ่าน Telehealth/Telemedicine/ Telecare โดยให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายได้ครั้งละ 30 บาท ต่อ 1 การรักษา

โฟกัสไปที่ “ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองโรคเรื้อรัง ที่มีอาการคงที่ และสามารถควบคุมโรคได้ดี” โดยมุ่งหวังที่จะอำนวยความสะดวก ลดความหนาแน่นของโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงจากการติดโควิด-19

นั่นทำให้ ผู้ป่วย NCDs สามารถนัดพบแพทย์ผ่าน “VDO call” ได้

ปัจจุบัน มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการนำร่องแล้ว 16 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลตติยภูมิที่มีศักยภาพระดับต้นๆ ของประเทศ

“The Coverage” ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.พญ.อติพร อิงค์สาธิต รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี บอกเล่าถึงความคืบหน้า โอกาส อุปสรรค ปัญหา และดอกผล จากการนำเทคโนโลยีการสื่อสารล้ำสมัยมาหนุนเสริมการให้บริการประชาชน

--- ผู้ป่วยพอใจ-ลดความหนาแน่นได้จริง ---

รศ.ดร.พญ.อติพร เล่าว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีมีบริการตรวจคนไข้ทางไกล (Telecare) ผ่าน Rama Application ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 โดยผู้ใช้บริการในเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ราว 5,000 คน และเพิ่มเป็น 9,000 คน ในช่วงเดือนมกราคม 2564

นั่นเพราะ คนไข้ที่โรงพยาบาลรามาฯ ประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 50% อาศัยอยู่ที่กรุงเทพ (กทม.) และปริมณฑล ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอยู่ทั่วประเทศ ฉะนั้นในส่วนของผู้รับบริการที่ปกติต้องมาจากต่างจังหวัดก็จะไม่ต้องเดินทางมา ก็จะได้รับความสะดวกสบายขึ้น

นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังได้เปลี่ยนรูปแบบการตรวจเป็น “การตรวจทางไกล” ซึ่งคนไข้ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล กล่าวคือสามารถพูดคุยกับแพทย์ได้ทั้งที่อยู่บ้าน การให้บริการดังกล่าวทำให้ระดับความพึงพอใจของคนไข้ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์สูง ความแออัดของโรงพยาบาลลดน้อยลง

“ปกติทางโรงพยาบาลจะมีคนไข้นัด ประมาณวันละ 6,000 คน ซึ่งการตรวจทางไกลสามารถช่วยลดได้มากถึง 700 คน” รศ.ดร.พญ.อติพร ระบุ

สำหรับระบบการตรวจทางไกลของโรงพยาบาลรามาฯ จะต้องเป็นคนไข้ที่ประเมินโดยแพทย์แล้วว่าเป็นโรคคงที่ หรือโรคเรื้องรังอาการคงที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สะดวกมาโรงพยาบาลโดยปกติ เช่น คนไข้ที่มีภาวะสมองเสื่อม หรืออัมพฤกษ์ หรือผู้ที่ลำบากในการเดินทาง เช่น ขาพิการ เดินไม่สะดวก

--- แพทย์-พยาบาล ภาระงานเพิ่ม ---

ในขณะที่ผู้เข้ารับบริการได้รับความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับผู้ให้บริการแล้ว การให้บริการผ่านระบบ Telehealth/Telemedicine/Telecare ทำให้เขาเหล่านั้นมีภาระงานเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

รศ.ดร.พญ.อติพร บอกว่า การให้บริการดังกล่าวทำให้ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีภาระงานเพิ่มขึ้น เพราะจะต้องมีการประเมินล่วงหน้าก่อน 1 -2 สัปดาห์ ว่าคนไข้รายใดที่สามารถตรวจทางไกลได้บ้าง ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านการประเมินจากแพทย์อย่างละเอียดว่าสามารถตรวจทางไกลได้จริง เนื่องจากอาการคงที่แล้วจริงๆ ส่วนคนไข้รายใดจำเป็นต้องเจาะเลือด หรือตรวจร่างกายพิเศษ ก็ยังจำเป็นจะต้องมาโรงพยาบาล

“ก่อนหน้านี้เราแค่รอให้ถึงวันนัดหมาย เมื่อถึงวันนัดหมายคนไข้ก็เดินทางมา แต่เมื่อทำ Telecare คุณหมอต้องมีการประเมินว่าเคสนี้ตรวจได้หรือไม่ ครึ่งหนึ่งนอกจากจะเป็นคนไข้ที่พิจารณาโดยแพทย์แล้ว ก็ยังมีอีกครึ่งหนึ่งที่คนไข้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอตรวจ Telecare

“แต่ทั้งหมดนี้ คนไข้ต้องให้แพทย์เช็คประวัติก่อนว่าสามารถเข้ารับการตรวจทางไกลได้หรือไม่ ทีนี้ภาระงานของพยาบาลที่เพิ่มขึ้นก็จะเป็นส่วนที่ต้องรับโทรศัพท์ และแพทย์ก็จะต้องทำงานซ้อนอีกครั้ง” รศ.ดร.พญ.อติพร กล่าว

รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ยอมรับว่า การตรวจทางไกลมีผลต่อภาระงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของพยาบาลที่ติดต่อ OPD (ผู้ป่วยนอก) แพทย์ที่ลงตรวจ และหน่วยเวชระเบียน การเงิน เภสัชกร รวมไปถึงหน่วยรับรองสิทธิ ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

“ปกติแล้วถ้าคนไข้มาโรงพยาบาลก็จะเป็นผู้ติดต่อเอง แต่เมื่อคนไข้อยู่บ้านก็เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่เข้ามารับหน้าที่ตรงนี้ ในส่วนของเวชระเบียนก็ต้องคอยยืนยันที่อยู่คนไข้เพื่อจัดส่งยา เพราะบางกรณีคนไข้อาจจะมีการเปลี่ยนที่อยู่ ฉะนั้นก็ต้องมีการยืนยันทุกครั้งว่าที่อยู่จัดส่งเป็นที่เดิมหรือไม่

“หรืออย่างหน่วยรับรองสิทธิ ซึ่งผู้ป่วยประมาณ 30% เป็นสิทธิประกันสังคมและบัตรทอง ที่ต้องเน้นการรับรอง ตรงนี้ก็ต้องมีการเช็คสิทธิก่อนว่าวันที่นัดสิทธิยังอยู่ถึงหรือไม่ โดยเฉพาะคนไข้โครงการสำคัญ เช่น โครงการปลูกถ่ายอวัยวะ มะเร็ง หรือ HIV รวมถึงการเงินที่ต้องติดต่อกับคนไข้ที่มีค่าจัดส่งส่วนเกิน ต้องชำระเงินผ่าน payment link หรือ Rama application ด้วย” รศ.ดร.พญ.อติพร อธิบาย

อย่างไรก็ดี อาจารย์อติพร ยืนยันว่าโรงพยาบาลรามาฯ มีทีม telecare ที่เข้มแข็งมาก มีความเข้าใจปัญหาของคนไข้ว่าเขามาโรงพยาบาลไม่ได้จริงๆ ทุกคนในทีมเห็นประโยชน์ร่วมกันในบริการนี้ นั่นทำให้ทุกคนให้ความสำคัญ โดยโรงพยาบาลจะมีการประชุมทีมเรื่องสาธารณสุขทางไกลทุกวันอังคาร เพื่อพูดคุยกันว่ามีปัญหาอะไรที่ยังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้หรือไม่ จะลดภาระงานในแต่ละส่วนได้อย่างไรบ้าง

ทั้งหมดเพื่อให้เกิดความสุขในการทำงาน

--- ขยาย Telecare สู่สหวิชาชีพ ---

ไม่ได้จำเพาะเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังที่จะได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เท่านั้น หากแต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีสาขาวิชาชีพอื่นที่ต้องการเพิ่มความสะดวกแก่คนไข้ ซึ่งขณะนี้ในบางหน่วยงานก็เริ่มดำเนินการแล้ว

เช่น นักกายภาพบำบัด สามารถทำ telecare ฝึกเดิน ฝึกกลืน ฝึกพูด เนื่องจากรูปแบบเป็นวิดีโอคอลก็สามารถสอน แนะนำคนไข้ได้ นอกจากนี้หน่วยพยาบาลให้ความรู้ พยาบาลเยี่ยมบ้านก็ใช้ telecare เพื่อตรวจดูว่าที่บ้านคนไข้เป็นอย่างไร ก็จะให้คำแนะนำได้เลย เช่นการฉีดยา คลินิกวัณโรค ติดตามผลว่าคนไข้ว่าทานยาครบหรือไม่

“Telecare เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราดูแลคนไข้ได้ดีขึ้น ส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่อยากจะเผยแพร่ให้เกิดการใช้งานในวงกว้างไปทุกสหวิชาชีพ ซึ่งจะช่วยกันทำให้คนไข้มีคุณภาพที่ดีขึ้นได้โดยที่คนไข้ไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล” รศ.ดร.พญ.อติพร ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตยังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาอีกมาก เนื่องจาก Rama Application ขณะนี้เป็นเพียงเวอร์ชันแรก ซึ่งขณะนี้พบว่ามีบางส่วนของโปรแกรมที่ยังสามารถทำให้คนไข้ แพทย์ และพยาบาล ใช้งานได้ง่ายขึ้นได้อีก ตรงนี้ก็จะพัฒนารูปแบบโปรแกรมให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เช่น คนไข้ไม่จำเป็นต้องเปิดรามาแอปฯ ตลอดเวลาเพื่อรอสายเข้า หรือสามารถส่งข้อความ หรือรูปภาพมาให้ดูได้ ส่วนนี้นี้ก็เป็นส่วนที่ต้องพัฒนาเพิ่ม

รศ.ดร.พญ.อติพร ย้ำว่า อยากให้มีการสนับสนุนการขยายการดูแล telecare แบบบูรณาการไปยังวิชาชีพอื่น รวมทั้งการสนับสนุนการเบิกจ่ายให้ครอบคลุมการดูแลคนไข้เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การเยี่ยมบ้านก็ควรจะเบิกจ่ายจากส่วนนี้ได้

“บางอย่างมีเบิกจ่ายอยู่แล้ว พอเรามาใช้ระบบ Telecare แทนที่จะมาเยี่ยมแบบตัวเป็นๆ จะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งทางโรงพยาบาลรามาฯ ก็ทำไปแล้วเพราะได้ประโยชน์ โดยที่ไม่ได้ดูว่าเบิกได้หรือไม่ แต่ในส่วนของโรงพยาบาลอื่น ทำให้อยู่ในระบบเป็นสิ่งที่ยอมรับว่ามีการตรวจทางไกลเพื่อเสริมศักยภาพคนไข้แบบนี้ได้เช่นเดียวกัน

“ก็อยากให้มองกิจกรรมลักษณะแบบนี้และให้การสนับสนุน ส่วนของระบบก็ต้องขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลว่าสะดวกแบบไหน แต่ สปสช. ถ้าให้การสนับสนุนเหมือนเช่นที่รามาฯ ทำอยู่ การเบิกจ่ายการทำ Telecare ก็จะเป็นงบประมาณที่เราสามารถนำไปพัฒนาระบบภายในของแต่ละโรงพยาบาลได้เอง” รศ.ดร.พญ.อติพร ระบุ