ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยชิฮิเดะ สุงะ เพิ่งอนุมัติหลักการให้ผู้สูงอายุ ที่มีอายุเกิน 74 ปี ในญี่ปุ่น จ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลเข้าระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ 20% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 10%

เหตุผลสำคัญคือรัฐบาลญี่ปุ่น ไม่สามารถ “อุ้ม” ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุอีกต่อไป

แผนนี้จะใช้กับผู้ที่ “อยู่คนเดียว” ที่อายุเกิน 74 ปี และมีรายได้ต่อปีเกินกว่า 2 ล้านเยน (ประมาณ 5.8 แสนบาท) และครัวเรือนที่อยู่ 2 คน และอายุเกิน 74 ปี ทั้งคู่ ซึ่งมีรายได้เกิน 3.2 ล้านเยน (ประมาณ 9.3 แสนบาท)

ปัจจุบัน ผู้ที่ลงทะเบียนในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติญี่ปุ่น จะต้องจ่าย 30% ของค่ารักษาพยาบาล และลดลงเหลือ 10% เมื่ออายุเกิน 75 ปี

ทว่า เมื่อผู้สูงอายุที่มีรายได้คงที่แก่ตัวลง และมีความเป็นไปได้ว่าจะใช้ระบบบริการสุขภาพมากกว่าคนหนุ่มสาว รัฐบาลจึงเชื่อว่า “ไม่เป็นธรรม” ที่คนหนุ่มสาวจะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อมาเลี้ยงดูคนสูงวัย ผ่านการจ่ายภาษี และจ่ายเงินสมทบเข้าระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ

นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งของการเก็บเงินเพิ่มรอบนี้

แม้สื่อญี่ปุ่นจะมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ ฮิโรชิ ฮอนดะ นายแพทย์ผู้ซึ่งลาออกจากวิชาชีพเมื่อหลายปีก่อน เพื่อเปิดโปงการทุจริตในระบบประกันสุขภาพญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์รายการวิทยุล่าสุด โดยแสดงความกังวลว่า นโยบายที่ให้ผู้สูงอายุจ่ายสมทบเงินเพิ่มนี้ จะยิ่ง “กีดกัน” ไม่ให้ผู้สูงอายุเข้ารับการบริการสุขภาพ หรือการรักษาพยาบาลที่จำเป็น หากต้องจ่ายเงินเพิ่มมากขนาดนั้น

เขาบอกอีกว่า ปัญหาสำคัญของระบบประกันสุขภาพทั่วโลกคือเรื่อง “โครงสร้าง” การจ่ายค่ารักษา ในยุโรปนั้น ผู้สูงอายุ ได้รับการ “ยกเว้น” ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หรือหากจ่าย ก็ต้องจ่ายในอัตราที่ถูกลง

ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก (ยกเว้นสหรัฐอเมริกา) ก็เป็นเรื่องผิดปกติ ที่จะชาร์จค่ารักษาผู้สูงอายุแพงกว่าคนวัยอื่น ด้วยอัตรา 20% ของค่ารักษา ทั้งที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในญี่ปุ่นนั้น เกิน 50% ของค่ารักษาพยาบาล จะจ่ายโดยแผนประกันสุขภาพแผนต่างๆ ซึ่งมีที่มาจาก “เบี้ยประกัน” ส่วนอีก 38% ของระบบ จะจ่ายโดย “ภาษี” ซึ่งเป็นอัตราคงที่ หากงบประมาณในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็มีความจำเป็นต้องหาแหล่งทุนอื่นๆ มาโปะ

สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ เมื่อญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุมากขึ้น และกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ ก็กลายเป็นเรื่องที่หลายคนเห็นว่า “ปกติ” อย่างการเอาเงินจากผู้สูงอายุมาโปะ

อย่างไรก็ตาม ฮอนดะ ระบุว่า “เบี้ยประกัน” สำหรับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติญี่ปุ่นนั้น “แพง” เกินจริง และแพงผิดปกติ ทั้งที่สิทธิประโยชน์หลายๆ อย่างถูกหั่นออกไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ เงินสมทบในระบบยังไม่เหมาะสม ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ หากรายได้ต่อเดือนเกิน 1.39 ล้านเยน (ประมาณ 4 แสนบาท) ค่าเบี้ยประกันก็จ่ายในอัตราคงที่อยู่ดี และต่อให้มีรายได้ถึง 10 ล้านเยน ก็จ่ายเบี้ยในอัตรานี้ ทั้งที่การจ่ายเบี้ยประกัน ควรจะเป็นไปใน “อัตราก้าวหน้า”

แทนที่รัฐบาลจะไปรีดเบี้ยประกันจากผู้มีอันจะกินมาโปะในระบบ รัฐบาลกลับเลือกที่จะ “รีด” เงินจากผู้สูงอายุที่อายุเกิน 74 แทน

นอกจากนี้ ฮอนดะ ยังวิจารณ์อีกว่า ราคาของการบริการสาธารณสุขในญี่ปุ่นนั้นแพงเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยกัน เขาประเมินว่ารัฐบาลญี่ปุ่น จ่ายเงินไปยังคลินิกและโรงพยาบาล เป็นค่าตรวจและค่าหัตถกรรม แพงกว่าประเทศอื่นเกินครึ่ง

ขณะที่ราคากลางของเวชภัณฑ์ และยาที่รัฐบาลกำหนดก็สูงเกินจริงเช่นกัน นั่นทำให้หลายโรงพยาบาล กระทั่งโรงพยาบาลรัฐ “ขาดทุน” และไม่สามารถจ้างบุคลากรเพิ่มได้ ยิ่งมีการระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งเห็นได้ชัดว่าระบบสุขภาพญี่ปุ่นทั้งระบบ อยู่ในสถานะ “เจ็บหนัก”

ตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า หากผู้สูงอายุที่อายุเกิน 74 ปี จ่ายสมทบในอัตรา 30% จะสามารถประหยัดเงินให้กับบรรดา Working Generation หรือวัยทำงาน ได้มากกว่า 8.8 หมื่นล้านเยน (ประมาณ 2.55 หมื่นล้านบาท) ต่อปี

แต่คำถามสำคัญที่รัฐบาลอาจลืมคิดก็คือ ผู้สูงอายุที่มีรายรับน้อยลงไปเรื่อยๆ และมีรายจ่ายค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยไม่มีเงินออมจำนวนมากขนาดนั้น จะรับภาระจากค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่

Japan Times สื่อญี่ปุ่น วิเคราะห์ว่า ความล้มเหลวของระบบประกันสุขภาพ มาจากโปรแกรมสุขภาพที่ชื่อว่า “ไคโกะ” ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน โดยโปรแกรมนี้ตั้งเป้าไว้ให้ผู้ที่อายุเกิน 40 ปี จ่ายสมทบเข้ากองทุนไคโกะเรื่อยๆ และหลังอายุ 65 คนกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลจากกองทุนไคโกะ

หลักการเหมือนจะดี แต่ปัญหาก็คือ ยิ่งเวลาผ่านไป เบี้ยประกันยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่ในทางตรงกันข้าม การรับสวัสดิการ กลับเป็นไปอย่างยากลำบาก

ฮอนดะ ยกตัวอย่างพ่อของเขาเองซึ่งจ่ายสมทบโครงการไคโกะเช่นเดียวกัน แต่เมื่อถึงเวลาจะใช้งานจริง พ่อของเขากลับไม่สามารถเข้าใช้บริการเนิร์สซิงโฮมของรัฐได้ เนื่องจากต้องรอคิวยาวนานมาก และทางเลือกที่เหลือก็คือต้องใช้เนิร์สซิงโฮมเอกชน ซึ่งเขาเองก็จ่ายไม่ไหว

ในที่สุด เงินสมทบที่จ่ายผ่านกองทุนไคโกะก็สูญเปล่า

บทความในหนังสือพิมพ์ อาซาฮี ชิมบุน รายงานว่า ในปี 2018 ผู้ที่อยู่ในระบบไคโกะกว่า 1.9 หมื่นคน ถูกยึดทรัพย์สิน เนื่องจากค้างชำระเงินสมทบ

หากค้างชำระ เบี้ยประกันที่สมทบมา รวมถึงผลประโยชน์ด้านบำนาญ จะถูกหักออกโดยอัตโนมัติ ยิ่งไปกว่านั้น หากนโยบายใหม่บังคับใช้ นอกจากคนกลุ่มนี้ต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสุขภาพในอัตราที่แพงขนาดนั้นแล้ว ยังต้องจ่ายค่ารักษาเพิ่มจาก 10% เป็น 30% อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ จึงเป็น “ทุกขลาภ” เพราะแม้คนญี่ปุ่น จะมีอายุขัยที่สูงที่สุดในโลก และสุขภาพโดยรวมค่อนข้างดี

แต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือต้องเตรียมเงินออมไว้จำนวนมาก หากเกิดอาการเจ็บป่วยในวันหนึ่ง เมื่อยามที่อายุยืนนั่นเอง