ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปบทเรียน 13 ปี "พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" เครื่องมือดีแต่ยังขาดความเข้มข้น-สม่ำเสมอ แพทย์ยันวัตถุประสงค์กฎหมายคือคุมเข้ม “กลุ่มทุนแอลกอฮอล์” ไม่ได้มุ่งจำกัดสิทธินักดื่ม


ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวในงานเสวนา “ธุรกิจแอลกอฮอล์กับปัญหาเชิงโครงสร้าง และการควบคุมที่เป็นธรรม” เนื่องในโอกาสครบรอบ 13 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ตอนหนึ่งว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการควบคุมกิจกรรมของภาคธุรกิจเหล้าเบียร์ และปกป้องประชาชนจากภัยของแอลกอฮอล์ แต่ปัญหาที่ยังคงมีอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย

ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกอบด้วย มาตรการจำกัดการเข้าถึง จำกัดกิจกรรมการตลาด รวมถึงการบำบัดรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจากการสำรวจระดับประเทศเมื่อปี 2560 พบว่าทำให้สัดส่วนผู้ดื่มลดลง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนก็คือ กฎหมายฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อควบคุมกิจกรรมของกลุ่มทุนแอลกอฮอล์ เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพในการที่จะมีสุขภาพที่ดี เป็นการปลดแอกประชาชนจากอิทธิพลของทุนใหญ่

"แต่ปัญหาที่ยังคงมีอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขาดความเข้มข้น สม่ำเสมอ รวมถึงกระแสของสังคมที่ไปทางเสรีนิยมมากขึ้น ทำให้ประชาชนมักเข้าใจว่ากฎหมายฉบับนี้จำกัดเสรีภาพในการใช้ชีวิต ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจกับประชาชนใหม่" ผศ.นพ.อุดมศักดิ์  กล่าว

นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการบังคับใช้กฎหมายมา 13 ปี มีทั้งเรื่องที่สำเร็จและยังไปไม่ถึง โดยสิ่งสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือกลไกในระดับจังหวัดต้องขับเคลื่อนให้มาก ทำงานในพื้นที่ให้ชัดเจน บังคับใช้กฎหมายโดยที่ไม่ต้องรออาศัยอำนาจจากส่วนกลาง และจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างของกฎหมาย เพื่อให้ทันภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า ที่ผ่านมายังคงพบการละเมิดกฎหมายจำนวนมาก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานและกระบวนการบังคับใช้กฎหมายยังน้อยเกินไป ซึ่งกฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์หรือมีอิทธิพลได้นั้นต้องมี 3 ปัจจัย คือ ความแรงของบทลงโทษ ความสม่ำเสมอเป็นมาตรฐานเดียวกัน และความรวดเร็ว

"ถ้าทำผิดกฎหมายแล้วใช้เวลาอีก 3-5 ปีในการลงโทษ ความเข้มแข็งตรงนี้จะน้อยลง" นพ.ทักษพล กล่าว

ด้าน นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า หลังจากกฎหมายห้ามขายทางออนไลน์มีผลบังคับใช้ พบว่าผู้ประกอบการรายย่อยให้ความร่วมมือดี กว่า 80% ทำถูกกฎหมาย แต่ในเพจรีวิวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลับมีการทำผิดเกือบทั้งหมด 

“นี่คือสิ่งยืนยันว่าธุรกิจรายย่อยให้ความร่วมมือ ทำการค้าขายเคารพกฎหมาย แต่ธุรกิจใหญ่เจ้าของผลิตภัณฑ์กลับอาศัยทุกช่องทางในการทำผิดกฎหมาย" นายคำรณ กล่าว