ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ราวสัปดาห์ที่ผ่านมา ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา และกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน (พ.ศ. 2564-2566) ได้โพสต์ Facebook ส่วนตัวเรื่อง “สิทธิการตายใครเป็นผู้กำหนด ???” โดยบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่มีโอกาสเสียชีวิตสูง (แต่ยังไม่สิ้นหวัง)

ญาติของผู้ป่วยได้ปรึกษากัน และแจ้งความประสงค์แก่แพทย์ผู้รักษาว่า ขอให้แพทย์ช่วยถอดท่อช่วยหายใจออก เพราะต้องการให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างสงบตามความประสงค์ของผู้ป่วย โดยบุตรและคู่สมรสยินดีจะทำเอกสารแจ้งความประสงค์ พร้อมลงนามยืนยันว่า “จะไม่ฟ้องร้อง” แพทย์และโรงพยาบาล ทั้งทางแพ่งและอาญา

อาจารย์อำนาจ ให้ความเห็นในโพสต์ดังกล่าวว่า กรณีแบบนี้ แพทย์ไม่สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจออกได้

หลายชั่วโมงต่อมา ญาติและบุตร ได้นำหนังสือที่เขียนด้วยลายมือของผู้ป่วยเองทั้งฉบับ โดยมีข้อความระบุไว้ว่า หากอยู่ในภาวะใกล้ตาย ไม่ประสงค์จะให้ใส่ท่อช่วยหายใจ เพราะผลสุดท้ายก็ตายเหมือนกัน

แพทย์ผู้รักษาได้ปรึกษา นพ.อำนาจ อีกครั้ง โดย นพ.อำนาจ ก็ได้ยืนยันความเห็นอีกครั้งว่า ถอดไม่ได้ครับ

อาจารย์อำนาจ อธิบายไว้ในโพสต์ว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 บัญญัติเอาไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้” ดังนั้น “สิทธิการตายเป็นของผู้ป่วยเท่านั้น”

ฉะนั้นในกรณีนี้ หากผู้ป่วยได้ทำหนังสือแสดงเจตนาไว้กับโรงพยาบาล หรือทำในสถานที่อื่นๆ ที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นเอกสารที่ลงนามโดยผู้ป่วยจริง และทำในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ และแพทย์ได้รับทราบก่อนแล้ว แพทย์ก็จะ ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ตามความประสงค์ เพราะการใส่จะเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย

หากแต่ในกรณีนี้ มีการใส่ท่อช่วยหายใจไปแล้ว ดังนั้นถ้าถอดออกและผู้ป่วยเสียชีวิตจากการกระทำของแพทย์ แพทย์ก็อาจมีความผิดฐาน ฆ่าคนตายโดยเจตนา ได้

อีกหนึ่งประเด็นก็คือ หนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วยที่ญาติและบุตรนำมาให้ในภายหลังนั้น ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นเอกสารที่ทำขึ้นโดยผู้ป่วยเองในขณะมีสติครบถ้วนหรือไม่

ดังนั้น แพทย์จึงไม่สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้

ภายหลังจากที่ นพ.อำนาจ โพสต์เนื้อหาข้างต้น ปรากฏว่ามีความคิดเห็นแตกออกเป็น 2 ฝ่าย มุมหนึ่งเห็นด้วยและเข้าใจ อีกมุมหนึ่งแสดงออกถึงการคัดค้านการ “ตีความ” ดังกล่าว

เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น “The Coverage” ได้พูดคุยกับ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ โดยละเอียดอีกครั้ง และนี่คือคำอธิบายจากกรรมการแพทยสภา หนึ่งในเสาหลักทางวิชาชีพของผู้ในบริการในระบบบริการสาธารณสุข

--- ถอดเครื่องช่วยหายใจ แพทย์เสี่ยงรับผิด ---

นพ.อำนาจ ให้สัมภาษณ์กับ “The Coverage” ว่า ประเด็นนี้ได้ทำให้เกิดการถกเถียงของแพทย์ออกเป็น 2 ฝั่ง โดยเฉพาะหากมีการใส่ท่อช่วยหายใจให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายไปแล้ว จะทำให้การตัดสินใจถอดออกนั้นเป็นไปได้ยาก แม้ภายหลังจะพบว่าผู้ป่วยได้แสดงเจตนาไม่ขอใส่เครื่องช่วยชีวิตไว้แล้วก็ตาม

นั่นเพราะในทางหนึ่งอาจมองได้ว่าการถอดท่อช่วยหายใจนั้น จะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากการทรมาน และเสียชีวิตได้อย่างสงบหากถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ในอีกทางหนึ่งหากมองว่าแพทย์ซึ่งมีหน้าที่ต้องช่วยชีวิต การถอดท่อช่วยหายใจนั้นอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตลง จะทำให้แพทย์เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ และไม่อยากดำเนินการตามนั้นได้

นพ.อำนาจ อธิบายว่า นอกจากประเด็นนี้จะเป็นความเห็นแย้งทั้งในเชิงของความรู้สึกและจริยธรรมแล้ว เรื่องนี้ยังมุมมองในด้านกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเมื่อผู้ป่วยยังใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ ก็จะยังคงสามารถมีชีวิตอยู่ตราบเท่าที่ความดันเลือด หัวใจ หรือค่าอื่นๆ ยังดี แต่เมื่อถอดออกและผู้ป่วยเสียชีวิตลง หากมีประเด็นการฟ้องร้องเข้ามาเกี่ยวข้องก็อาจทำให้แพทย์ตกอยู่ในฐานความผิดได้

นพ.อำนาจ ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งภรรยาเสียชีวิตแล้ว เหลือทายาทเพียงน้องชายกับลูกชายของตน ปรากฎว่าตัวลูกชายเกิดประสบอุบัติเหตุ ทำให้ขณะนี้ทั้งพ่อและลูกกำลังถูกใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ทั้งคู่ หากมีการถอดท่อช่วยหายใจของพ่อ แล้วพ่อเสียชีวิตลงก่อน มรดกก็จะตกไปอยู่ที่ลูกชาย และหากภายหลังลูกเสียชีวิตตาม มรดกนั้นก็จะถูกส่งต่อไปยังคู่สมรส

ทว่าหากว่าลูกเสียชีวิตก่อนพ่อ ลูกก็จะขาดสิทธิในการรับมรดก มรดกนั้นก็จะตกไปอยู่ที่น้องของพ่อ แล้วคู่สมรสของลูกก็จะไม่ได้อะไร ดังนั้นมรดกนี้จะไปที่เมียลูกหรือน้องพ่อ นี่คือคดีที่เกิดขึ้นและต้องมีการพิสูจน์การตายก่อนตายหลัง ฉะนั้นหมอจึงกลัวกันอยู่ว่าหากในกรณีที่เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น นอกจากหมอจะไม่สบายใจแล้ว ยังอาจตกเป็นจำเลยได้อีกด้วย

--- ‘หนังสือแสดงเจตนา ต้องพิสูจน์ได้ ---

อย่างไรก็ตาม แม้มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 จะให้คนเรามีสิทธิแสดงเจตนาไม่รับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต และแพทย์ก็จำเป็นจะต้องดำเนินการตามเจตนานั้น แต่ก็ยังกลายเป็นประเด็นปัญหาว่าหากหนังสือแสดงเจตนานั้นมีที่มาที่ไปไม่ชัดเจน มีญาติเป็นผู้นำมา หรือมีการนำมาแสดงในภายหลัง แพทย์เองก็จะหนักใจเพราะไม่รู้ว่าเป็นเจตนาจริงของผู้ป่วยหรือไม่

"แม้ในกฎกระทรวงจะระบุเพิ่มเติมไว้ว่า การแสดงเจตนาสามารถทำที่ไหนก็ได้ แต่ถ้ายังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นเจตนาของคนไข้จริงหรือไม่ ก็ทำให้หมอตกที่นั่งลำบากในการตัดสินใจ หากเป็นหนังสือที่ไม่ถูกต้อง หากทายาทอยากให้เจ้ามรดกตายเร็วก็ทำหนังสือมา อะไรแบบนี้ หมอก็เกรงว่าจะทำถูกไหม เพราะนั่นเท่ากับว่าทำให้คนไข้เสียชีวิต และจะทำให้มีปัญหาทางกฎหมายตามมา" นพ.อำนาจ ระบุ

นพ.อำนาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ในมาตรา 12 จะระบุว่าการปฏิบัติตามเจตนาของผู้ป่วย จะทำให้แพทย์พ้นจากความรับผิดทั้งปวง แต่ประเด็นนี้ก็ยังอยู่ที่การตีความของนักกฎหมาย ซึ่งกลุ่มหนึ่งอาจตีความว่าไม่ต้องรับผิดใดๆ แต่อีกกลุ่มจะมองว่าไม่ได้นับรวมถึงหนังสือปลอม ซึ่งเคยมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่วินิจฉัยแล้วว่า หนังสือปลอมนั้นไม่ถือว่าเป็นเจตนาของผู้ป่วย แพทย์จึงยังไม่พ้นจากความรับผิดชอบ

"ด้วยความที่ยังเห็นแย้งต่างกันแบบนี้ มีการตีความในกฎหมายไม่เหมือนกัน มีความรู้สึกไม่เหมือนกัน จึงเป็นอะไรที่ยังไม่สบายใจกันอยู่ทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นเรื่องนี้คงจะต้องมาระดมสมอง เชิญทุกฝ่ายเข้ามา ทั้งฝ่ายที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ฝ่ายกระทรวง ฝ่ายนักกฎหมายที่เห็นไม่เหมือนกัน เข้ามาคุยกัน และถ้ามีประเด็นทางกฎหมายก็คงต้องมีองค์กรกลางอย่างกฤษฎีกา หรือสำนักงานอัยการสูงสุด ในการช่วยตีความ วินิจฉัยไว้ให้เป็นบรรทัดฐาน เพราะถ้าปล่อยให้เป็นความคิดของแต่ละคน ก็จะคิดไม่เหมือนกัน" นพ.อำนาจ ระบุ

อาจารย์อำนาจ ยังได้ให้มุมมองถึงร่างกายมนุษย์ที่มีความซับซ้อน ซึ่งในผู้ป่วยระยะท้ายบางรายแม้จะถูกคาดเดาว่าอยู่ต่อได้อีกไม่นาน ก็ยังอาจมีโอกาสที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อได้อีกหลายปี หรือในบางกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าไม่น่าจะรอดแล้ว ก็กลับรอดและหายกลับมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ฉะนั้นในบางครั้งสิ่งที่ไม่แน่นอนทางการแพทย์ล้วนเกิดได้

"หากเป็นเจตนาของตัวผู้ป่วยเอง ก็จะไม่มีใครโต้แย้ง ถ้าได้ทำหนังสือแสดงเจตนาเอาไว้แล้วโดยที่มีสติครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ในทางกลับกันถ้าเป็นเจตนาของญาติหรือผู้อื่น แพทย์ก็ย่อมไม่สบายใจ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าบางคนเขารักผู้ป่วยแค่ไหน รักผู้ป่วยจริงหรือไม่ หรือบางทีอยากได้มรดกเร็ว สิ่งเหล่านี้จึงน่ากังวลเพราะการตัดสินใจอยู่ที่ญาติ ทั้งที่ควรจะเป็นของผู้ป่วย" เขาระบุ

--- แนะแสดงเจตนาล่วงหน้าไว้ที่โรงพยาบาล ---

นพ.อำนาจ จึงมองว่า ฉะนั้นแล้วเรื่องของการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เป็นสิ่งที่ต้องมีการพูดคุยกันบนศาสตร์หลายหลักที่ต้องจับเข้ามาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นหลักนิติศาสตร์ จริยศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ ซึ่งในบางครั้งการใช้หลักแต่ละศาสตร์ก็อาจไม่ตรงกัน จึงต้องหาแนวปฏิบัติที่ควรจะเป็น เพื่อสร้างความสบายใจในการปฏิบัติได้อย่างปลอดภัย ทั้งแพทย์และผู้ป่วย

นอกจากนี้อีกทางออกหนึ่งที่ควรมี คือการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยได้มีการแสดงเจตนาไว้ตั้งแต่ต้น ในระบบของโรงพยาบาลหรือในระบบหน่วยงานของรัฐ ว่าเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้วผู้ป่วยจะมีเจตนารับหรือไม่รับเครื่องช่วยชีวิตใด

แน่นอนว่า ไม่ว่าผู้ป่วยจะไปโรงพยาบาลใดก็สามารถเช็คจากระบบตรงนี้ได้ อันเป็นวิธีดีที่สุดที่จะทำให้ทุกคนปลอดภัยและสบายใจ เป็นสิ่งที่แพทย์เชื่อถือได้และสบายใจในการที่จะทำตาม ไม่ต้องเกิดปัญหาการไปใส่หรือถอดเครื่องช่วยหายใจทีหลังได้

"สิ่งนี้จะขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนในการทำไว้ล่วงหน้า แต่ยังไม่รู้ว่าจะได้รับความร่วมมือแค่ไหน เพราะส่วนใหญ่ถ้ายังไม่ถึงจุดก็ไม่ค่อยได้คิดกัน แต่ถ้าคนไข้เป็นผู้ตัดสินใจไว้ก่อนก็จะดีที่สุด ไม่ต้องรอการตัดสินใจของญาติหรือแพทย์ และถ้ามีโอกาสผมก็จะนำเสนอเรื่องนี้เข้าคณะกรรมการแพทยสภา หรือตั้งอนุกรรมการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

"เรื่องนี้เป็นความขัดแย้งบนสองแนวคิด คล้ายกับเรื่องการทำแท้ง ที่จะเห็นว่าแพทย์กลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นการช่วยคนไข้ และเป็นสิทธิของแม่ กับอีกบางกลุ่มก็มองว่าเป็นบาป ไม่สบายใจที่จะทำ และส่วนหนึ่งก็เป็นสิทธิของลูกในท้องเหมือนกัน จึงมีลักษณะคล้ายกันในสองเรื่องนี้ คือการตาย กับการเกิด ยังเป็นอะไรที่หมอมีความเห็นต่างกันอยู่" อดีตนายกแพทยสภา ให้มุมมองทิ้งท้าย