ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รพ.จุฬาฯ ชี้ หากรักษามะเร็งด้วยแผนปัจจุบันไม่สำเร็จ สามารถลองแพทย์ทางเลือกได้ แต่ไม่ควรรักษา 2 แผนไปพร้อมกัน


ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งและชีวาภิบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวในเวทีเสวนา รับมือ ... เรียนรู้สู้มะเร็ง วันมะเร็งโลก กับอดีตผู้ป่วยและคุณหมอ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ตอนหนึ่งว่า วิวัฒนาการของการรักษามะเร็งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เกิดยาตัวใหม่หรือที่เรียกว่า “ยามุ่งเป้า” ซึ่งทำให้มะเร็งหลายชนิดที่ไม่เคยรักษาหายสามารถรักษาได้

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ส่วนตัวอยากแนะนำว่าควรรักษาตามมาตรฐานก่อน หากไม่สำเร็จค่อยไปลองการรักษาทางเลือก

“มะเร็งมีทั้งที่รักษาหายและโอกาสรักษาหายน้อย สำหรับมะเร็งชนิดที่รักษาหายนั้นอยากให้ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงการรักษาตามมาตรฐานการแพทย์ปัจจุบันก่อน เพราะเมื่อมีโอกาสรักษาให้หายขาดแล้วก็ควรทำมันอย่างเต็มที่” ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ กล่าว

ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของผู้ป่วยที่เคยรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่สำเร็จ หรือผู้ที่มีประสบการณ์ว่าการทำเคมีบำบัดโหดร้ายจนเกินไป หรือผู้ป่วยที่มะเร็งกระจายไปแล้วและไม่อยากเลือกสู้ทางนี้ ก็สามารถลองใช้แพทย์ทางเลือกได้

สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการรักษาทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือกไปพร้อมๆ กันทั้ง 2 ทางนั้น ส่วนตัวไม่แนะนำ เพราะการรักษาแบบทางเลือกส่วนมากจะไม่ได้มุ่งไปที่การฆ่ามะเร็ง ขณะที่แพทย์แผนปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การฆ่ามะเร็งให้หมด ฉะนั้นจะเห็นว่าวิธีคิดของทั้งสองทางสวนทางกัน

“เราจะไม่ทราบผลการรักษาได้เลย เพราะถ้าไม่ได้ผล ฝ่ายนึงก็จะโทษอีกฝ่ายนึง ผมจึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนว่าป่วยเป็นมะเร็งชนิดใด และอยู่ในชนิดที่สามารถหายได้หรือไม่” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ ระบุ

ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจะพบว่าผู้ป่วยกับญาติมักจะมีความขัดแย้งกันเรื่องการรักษา จึงอยากสนับสนุนให้ญาติเคารพการตัดสินใจของเจ้าของชีวิต นั่นเพราะ การรักษามะเร็งค่อนข้างโหดร้าย ถ้าอยากหายขาดต้องฆ่ามะเร็ง ต้องให้เคมีบำบัด ต้องเจ็บตัว หรือถ้าจะให้ยามุ่งเป้าก็ต้องเสียเงินจำนวนมาก ฉะนั้นบางคนต้องการแลก บางคนไม่อยากแลก

“เราสนับสนุนให้เคารพเจ้าของชีวิต เพราะถ้าให้คีโม เขาก็คือคนที่จะต้องเจ็บตัว ถ้าเขาตัดสินใจแล้วว่าไม่อยากได้คีโม เราก็ควรเคารพในสิ่งที่เขาเลือก หรือบางคนโอกาสหายน้อย เขาไม่อยากเจ็บตัวจึงไม่อยากรักษา ฉะนั้นแพทย์ต้องหาจุดตรงกลางและเคารพความต้องการของผู้ป่วย” ศ.ดร.อิศรางค์ กล่าว