ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชีวิตพลิกผันต้องจากบ้านเกิดจังหวัดมหาสารคามเข้ามาอยู่กรุงเทพมหานครเพียงลำพังตั้งแต่ปี 2553 หลังจากสามีประสบอุบัติเหตุถูกรถชนเสียชีวิต ส่งผลให้ครอบครัวขาดเสาหลัก ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินเลี้ยงลูก 2 คน ที่กำลังอยู่ในวัยเจริญเติบโตและกำลังเรียนหนังสือ ประกอบกับพ่อแม่ของเธอที่อยู่บ้านหลังเดียวกันเริ่มมีอายุมากขึ้น

นางจันทร์เพ็ญ อันทะปัญญา อายุ 43 ปี ชาวมหาสารคาม เป็นคนหนึ่งในประชากรแฝงของกรุงเทพฯเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ น้ำตาคลอเบ้าว่า ช่วงที่สามีเสียชีวิตนั้นยอมรับว่ารู้สึกหดหู่เสียใจมากไม่มีกะจิตกะใจทำอะไร แต่พอหันมาเห็นหน้าลูกชาย ลูกสาว อยู่ในชุดนักเรียนและกำลังกินข้าวเพื่อจะไปโรงเรียน ตอนนั้นรู้สึกน้ำตาไหล ต้องรีบหันหลังแล้วเช็ดน้ำตาเพื่อไม่ให้ลูกเห็นว่าร้องไห้ พอลูกไปโรงเรียนเธอก็มานั่งคิดว่า ต้องลุกขึ้นสู้เพื่ออนาคตของลูก 2 คน จะต้องหาเงินมาส่งให้ลูกเรียนสูงๆ เท่าที่ความสามารถของแม่จะทำได้

จากชีวิตไม่เคยลำบาก เพราะช่วงที่สามียังมีชีวิตอยู่เขาจะทำนา และออกไปรับจ้างทั่วไปหาเงินมาเลี้ยงทุกคนในครอบครัว พูดได้ว่าทุกคนอยู่กันสุขสบายมีกินมีใช้ มีรายได้เข้าบ้านทุกวัน ส่วนเธอทำหน้าที่เลี้ยงลูก ดูแลบ้าน เย็บผ้า ถ้าฤดูทำนาก็ไปช่วยทำนาบ้าง

เมื่อขาดเสาหลัก ไม่มีตัวช่วย ทุกคนในบ้านเริ่มลำบาก ในฐานะที่เธอเป็นลูกสาวคนโต ต้องทำหน้าที่เสาหลักของบ้านแทนสามี และคิดว่าวันนี้ยังมีลมหายใจชีวิตก็ต้องดิ้นรน ต้องสู้ คิดจะออกไปรับจ้างทำนาซึ่งรายได้ไม่สม่ำเสมอเกรงว่าเงินที่หามาได้จะไม่พอเลี้ยง 5 ชีวิต

“ตอนนั้นรู้สึกเครียด คิดมาก ความรู้จบแค่มัธยมศึกษาปีที่ 3 ไหนจะอายุเยอะแล้ว ตัวเลือกในการทำงานจึงมีไม่มากนัก เธอมานั่งปรึกษากับพ่อแม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร แม่นึกได้ว่ามีญาติอยู่กรุงเทพมหานคร รับเย็บเสื้อโหล เธอพอมีฝีมือเย็บผ้าอยู่บ้าง จึงตัดสินใจโทรศัพท์ปรึกษาญาติพร้อมกับเล่าเรื่องราวความจำเป็นต่างๆ ญาติรู้ว่ากำลังลำบากจึงให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯมาเย็บเสื้อโหลด้วย โดยญาติให้พักย่านสายไหม เป็นบ้าน 2 ชั้น ชั้นล่างเย็บผ้า ชั้นสองเป็นที่พัก ส่วนข้าวต้องซื้อกินเอง”

นี่คือจุดเริ่มต้นของการเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ของ นางจันทร์เพ็ญ ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน ทุกปีจะกลับมหาสารคาม ไปกราบพ่อแม่ หาลูกในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ หรือมีงานบวช งานแต่งงาน เท่านั้น

นางจันทร์เพ็ญ เล่าว่านับแต่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ชีวิตนี้ต่อสู้เพื่อลูก เพื่อพ่อแม่ ทุกวันเธอถีบจักรเย็บเสื้อผ้าตั้งแต่ 7 โมงเช้าจนถึง 5 ทุ่มเที่ยงคืน เฉลี่ยเย็บผ้ากว่า 200-300 ตัวต่อสัปดาห์เพื่อให้มีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือนโดยเงินที่ได้จากการเย็บผ้าจะส่งให้พ่อแม่เป็นค่าใช้จ่ายและเป็นทุนการศึกษาลูกเดือนละ 10,000 บาท  ส่วนตัวเก็บไว้ใช้เพียงเดือนละ 5,000 บาท 

ยอมรับว่าช่วงแรกๆ ที่เข้ามาเย็บผ้ารู้สึกท้อบ้าง คิดถึงบ้าน คิดถึงลูก แต่ก็ต้องอดทนนั่งหลังขดหลังแข็งปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว ทุกครั้งที่รู้สึกท้อก็จะนึกถึงหน้าลูก พร้อมกับปลอบใจตัวเอง ว่า จะท้อไปทำไม เราสู้เก็บแรงไว้ถีบจักรดีกว่า ถ้าท้อแล้วคนทางบ้านจะกินอะไร ฉะนั้นต้องอดทน เพื่ออนาคตที่ดีของลูก ลูกเป็นกำลังใจให้เธอต่อสู้และผ่านความยากลำบากมาจนถึงทุกวันนี้

นั่งถีบจักรด้วยท่าเดิมทุกวันๆ วันละหลายชั่วโมง ก็มีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะมีอาการปวดหลัง เมื่อยขา หรือบางครั้งเจ็บป่วยเป็นไข้หวัด จะออกไปซื้อยาแก้ปวด ยาแก้ไขหวัดจากร้านขายยามาทาน หากมีอาการป่วยมากจะไปหาแพทย์ที่คลินิก ไปรักษาที่คลินิกครั้งหนึ่ง จะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารักษา 500 บาทขึ้นไป เพราะเธอไม่ได้ย้ายสิทธิบัตร 30 บาท ซึ่งชื่ออยู่ที่มหาสารคาม จะมาใช้สิทธิในกรุงเทพฯไม่ได้ ถ้าไปโรงพยาบาลก็ต้องจ่ายเงินเอง  อย่างไรก็ตาม โชคดีที่ไม่เคยเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ป่วยมากสุดก็แค่เป็นไข้หวัด

นางจันทร์เพ็ญ เล่าว่า เมื่อปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ จะออกไปไหนไม่ได้ ทุกคนช่วยกันขนย้ายจักรเย็บผ้าขึ้นไปไว้ชั้น 2 และกินอยู่ที่ชั้น 2 เพราะชั้นล่างถูกน้ำท่วมหมด  ตอนนั้นคิดว่าคงไม่มีผ้าให้เย็บแล้วจะหาเงินจากที่ไหนส่งให้พ่อแม่และลูก เตรียมเก็บเสื้อผ้ากำลังจะกลับมหาสารคาม

อย่างไรก็ตาม ในความโชคร้ายบ้านซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินถูกน้ำท่วมแต่ยังมีความโชคดี ญาติมาบอกว่าทุกคนอย่าเพิ่งกลับบ้านนอก ตอนนี้มีออเดอร์เสื้อเข้ามาให้เย็บจำนวนมาก เพื่อนำไปบริจาคให้แก่ผู้ที่ถูกน้ำท่วม ทุกคนช่วยกันเย็บผ้าแบบว่าผลัดกันนอนวันละ 3 -4 ชั่วโมงเท่านั้น ทุกเช้าจะมีเรือมาส่งผ้าที่ตัดแล้วมาให้เย็บ ขณะเดียวกันก็รับเสื้อที่เย็บเสร็จแล้วกลับไปด้วย พวกเราถีบจักรกันทั้งวันทั้งคืน ทำกันอยู่อย่างนี้กว่า 3 เดือน แม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าแต่ยอมรับว่าได้เงินคุ้มกับค่าเหนื่อย ที่สำคัญมีเงินส่งให้พ่อแม่ไว้ใช้จ่ายและเป็นทุนการศึกษาของลูก

“ทุกครั้งถ้าทราบว่ามีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มาตรวจสุขภาพใกล้ๆ บ้านเช่า มักจะขอรับบริการ คือ ต้องการตรวจเพราะอยากรู้ว่าเป็นความดัน การเต้นของหัวใจ หรือร่างกายมีส่วนไหนผิดปกติรึเปล่า นับว่าโชคดีทุกครั้งที่ตรวจผลออกมายังไม่พบสิ่งผิดปกติ อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทจึงหมั่นดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องอาหาร จะเน้นกินปลา ผัก เป็นหลัก รวมทั้งควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน”

ต่อมาตนมีแฟนใหม่เป็นคนจังหวัดชลบุรี เขาก็ไม่ได้ย้ายสิทธิบัตร 30 บาทเช่นกัน เธอรู้จักกับแฟน เขาทำโรงงานแห่งหนึ่งย่านสายไหมและรับซ่อมจักรอุตสาหกรรม โดยก่อนที่จะตัดสินใจอยู่ด้วยกัน เธอได้เล่าชีวิตความเป็นอยู่ บอกเขาว่ามีลูก 2 คนนะ และพาไปรู้จักครอบครัว จนมั่นใจว่าแฟนเข้ากับลูกๆ ได้ พอปี 2557 มีญาติแฟนโทรศัพท์ให้มารับพ่อแฟนซึ่งสติไม่ค่อยดีและกำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งและอีกหลายโรค

หัวอกคนเป็นลูกรู้ว่าพ่อป่วยก็อยากจะดูแลให้ดีที่สุดเท่าที่กำลังความสามารถของลูกจะทำได้ แฟนมาปรึกษาว่าจะไปรับพ่อมาอยู่ด้วย ก็บอกว่าอาศัยเขาอยู่อาจจะไม่สะดวก จึงตัดสินใจคุยกับญาติผู้มีพระคุณของเธอ โดยอธิบายว่าจะไปรับพ่อแฟนซึ่งป่วยมาอยู่ด้วย ขอแยกออกมาเช่าบ้านแล้วจะรับผ้ามาเย็บเอง เธอและแฟนได้มาเช่าบ้าน ในหมู่บ้านมิตรประชา ค่าเช่าเดือนละ 2,500 บาท ค่าน้ำ ค่าไฟ ต่างหาก

เมื่อแยกมาอยู่บ้านเช่าก็รับเสื้อเด็กมาเย็บเอง โดยจะมีบริษัทนำผ้าที่ตัดแล้วมาส่งให้เย็บสัปดาห์ละ 200 ตัว เขาให้ราคาตัวละ 20 บาท ก็ใช้เวลาเย็บเหมือนปกติโดยเริ่มถีบจักร 7 โมงเช้าเป็นต้นไป ถ้าหากรู้สึกปวดหลัง เมื่อย ก็จะหยุดถีบจักรระยะหนึ่งเพื่อออกมาเดินยืดเส้นยืดสายแล้วค่อยกลับไปถีบจักรต่อ เพียงแค่เย็บเสื้อให้เสร็จตามกำหนดที่บริษัทนัดมารับเท่านั้น นี่คือข้อดีของการรับผ้ามาเย็บเอง และเหลือเวลามาดูแลพ่อที่กำลังป่วยด้วย

อีกอย่างหนึ่งนับว่าโชคดี ที่ได้เพื่อนบ้านดี คอยเป็นหูเป็นตาช่วยดูแลพ่อ คือเราจะบอกเพื่อนบ้านว่าพ่อป่วย สติไม่ค่อยดี อย่าถือสาพ่อนะ เผื่อเธอถีบจักรแล้วไม่ทันได้มองว่าพ่อเดินไปไหน พ่อมักจะออกไปคุยกับเพื่อนบ้านในละแวกนั้น เวลาพ่อเดินไปทางไหนเพื่อนบ้านละแวกนั้นจะช่วยดู ช่วยจูง ไม่ให้รถมาเฉี่ยวชน นอกจากนี้เพื่อนบ้านหลายคนยังมีน้ำใจแบ่งปันอาหาร ผลไม้ มาให้พ่อและครอบครัวของเธออย่างสม่ำเสมอด้วย

ชีวิตช่วงที่พ่อมาอยู่ด้วย เห็นแฟนต้องเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ-ชลบุรี บ่อยมาก คือพ่อใช้สิทธิบัตรทอง แฟนต้องเดินทางไปขอใบส่งตัวจากชลบุรี เพื่อมารักษาที่โรงพยาบาลภูมิพล ซึ่งพ่อเข้าออกโรงพยาบาลเดือนละหลายครั้ง จนกระทั่งเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเห็นแล้วรู้สึกสงสาร เขาแนะนำให้ทำเรื่องย้ายสิทธิ 30 บาทมารักษาที่กรุงเทพฯ จะได้สะดวกขึ้น แฟนทำตามคำแนะนำจึงลาหยุดงานเพื่อไปเดินเรื่องย้ายสิทธิ 30 บาท ซึ่งย้ายมาใช้สิทธิรักษาแถวรามอินทรา

อย่างไรก็ดี แม้ว่าย้ายสิทธิ 30 บาท มากรุงเทพฯแล้วก็ตาม เวลาพ่อจะต้องให้คีโม แฟนจะต้องไปเดินเรื่องที่รามอินทราเพื่อส่งพ่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลภูมิพล นอกจากนี้แฟนยังต้องพาพ่อไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญาด้วย

“ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีก่อนที่พ่อจะเสียชีวิตเมื่อปี 2560 แฟนต้องพาพ่อไปรักษา 2 แห่ง ที่ รพ.ภูมิพล เพื่อรักษาโรคมะเร็งและอีกหลายโรค นอกจากนี้ยังต้องพาพ่อไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา เนื่องจากพ่อสติไม่ค่อยดี อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณโครงการบัตร 30 บาท ทำให้พ่อเข้าถึงการรักษาและไม่ต้องจ่ายค่ารักษา เราจ่ายเฉพาะค่าเดินทาง ถ้าหากจ่ายค่ารักษาเองก็ไม่รู้ว่าจะหาเงินมาจ่ายค่ายา ค่ารักษาได้รึเปล่า เชื่อว่าค่ารักษาสูงพอสมควรเพราะป่วยด้วยโรคร้าย”

จากนั้น นางจันทร์เพ็ญ เล่าให้ฟังว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เธอต้องออกไปเรียกรถแท็กซี่ตอนดึก เพื่อพาแฟนส่งโรงพยาบาลภูมิพล ตอนนั้นแฟนมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หน้าซีดมาก หมอตรวจพบว่าป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทางโรงพยาบาลทำการรักษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพราะเป็นไปตามสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และก่อนกลับมาพักฟื้นที่บ้าน หมอได้ให้คำแนะนำแฟนโดยให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร งดอาหารมันๆ ของทอด บะหมี่สำเร็จรูป งดชา กาแฟ ให้กินปลานึ่ง กินผัก  และให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อก่อนแฟนชอบกินบะหมี่สำเร็จรูป ของทอดๆ ของมันๆ อย่างไก่ทอด หมูสามชั้นทอด สูบบุหรี่วันละซอง กินเบียร์กินเหล้าเกือบทุกวัน สิ่งเหล่านี้ล้วนทำลายสุขภาพ

หลังจากแฟนออกจากโรงพยาบาลภูมิพล หมอทำบอลลูนหัวใจ ทุกวันนี้แฟนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น เดี๋ยวนี้เปลี่ยนมากินอาหาร ประเภทปลานึ่ง ผักจิ้มน้ำพริก ต้มจืด ไม่กินอาหารรสจัด ที่สำคัญเลิกสูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า

แฟนบอกว่า “เข็ดกับการแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก และไม่อยากเข้าโรงพยาบาลอีกแล้ว”

จากความใกล้ชิดและเห็นอาการเจ็บป่วยของพ่อ และแฟน ทำให้เธอหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองมากยิ่งขึ้น แม้ว่าทุกวันนี้ยังนั่งถีบจักร 7 โมงเช้าถึง 5 ทุ่มเที่ยงคืนก็ตาม พอนั่งถีบจักรไประยะหนึ่งเมื่อรู้สึกเมื่อยจะลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายเพื่อผ่อนคลายความเมื่อย เหมือนที่เคยเห็นรายการโทรทัศน์สอน และทุกเช้าก่อนจะถีบจักรจะแกว่งแขน 100 ครั้ง และหลังเลิกถีบจักรแกว่งแขน 100 ครั้ง นอกจากนี้เมื่อต้นปี 2561 เธอได้ไปทำเรื่องย้ายสิทธิ 30 บาทมาอยู่กรุงเทพฯ แล้ว

นางจันทร์เพ็ญ บอกว่า วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ตอนนี้ลูก 2 คนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม จังหวัดมหาสารคาม แล้วและปัจจุบันลูกคนหนึ่งได้งานทำในโรงงานแหอวน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ บ้าน ส่วนอีกคนแต่งงานมีครอบครัว ประกอบอาชีพทำนา และรับจ้างทั่วไป ตอนนี้ลูกๆ มีรายได้เลี้ยงตัวเองแล้ว เธอจึงส่งเงินให้พ่อแม่เดือนละ 2,000 บาท ส่วนน้องชายมีงานทำก็ส่งเงินให้พ่อแม่ใช้ทุกเดือนเช่นกัน และนับเป็นความโชคดีที่พ่อแม่ของเธอแม้จะอายุเกือบ 70 ปีแล้ว มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นเบาหวาน ความดัน ไม่มีโรคร้ายมาเบียดเบียน ในช่วงฤดูทำนายังออกไปดำนาได้ตามปกติ

ส่วนเธอตอนนี้สายตายังดี พอมีเรี่ยวแรง ตั้งใจจะถีบจักรหรือทำจนกว่าจะถีบจักรไม่ไหว หวังเก็บเงินซักก้อนหนึ่งไว้ใช้ตามแก่ จะได้ไม่เป็นภาระกับลูกหลาน

ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีก่อนที่พ่อจะเสียชีวิตเมื่อปี 2560 แฟนต้องพาพ่อไปรักษา 2 แห่ง ที่ รพ.ภูมิพล เพื่อรักษาโรคมะเร็งและอีกหลายโรค นอกจากนี้ยังต้องพาพ่อไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา เนื่องจากพ่อสติไม่ค่อยดี อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณโครงการบัตร 30 บาท ทำให้พ่อเข้าถึงการรักษาและไม่ต้องจ่ายค่ารักษา เราจ่ายเฉพาะค่าเดินทาง ถ้าหากจ่ายค่ารักษาเองก็ไม่รู้ว่าจะหาเงินมาจ่ายยา ค่ารักษาได้รึเปล่า เชื่อว่าค่ารักษาสูงพอสมควรเพราะป่วยด้วยโรคร้าย