ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

DHML ความสำเร็จโรงเรียนสุขภาพอำเภอ

“โรงเรียนที่เปลี่ยนคน ภาพฝันอันใฝ่ยล เห็นชุมชนพึ่งตนได้ ด้วยประชาร่วมใจ เพื่อคุณภาพชีวิตดี

ร่วมคิดร่วมจิต รวมน้ำใจหลอมไมตรี รู้รักสามัคคี ขับเคลื่อนงานให้ก้าวไกล

DHML สานรับกระบวนการเรียนรู้ใหม่ เปลี่ยนคนเปลี่ยนที่ใจ ให้เปิดกว้างให้ฟังคน

เคารพในศักดิ์ศรี มีหัวใจมนุษย์ชน โรงเรียนที่เปลี่ยนคน สร้างคุณค่าประชาไทย”

บทกลอนที่นิยามคำว่า “DHML” (District Health System Management Learning: DHML) ให้ฟังง่ายขึ้น สะท้อนภาพกระบวนการเรียนรู้ และวิธีทำงานที่นำชุมชนเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อน นอกจากบทกลอนที่ รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ตั้งใจนำมาถ่ายทอดในงานประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับประเทศครั้งที่ 1 แล้ว รศ.นพ.สุรเกียรติ ยังเป็นพลังสำคัญที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังโครงการสมรรถนะการบริหารจัดการระบบสุขภาพระดับอำเภอ (DHML) ที่ลงมือลงแรงตั้งแต่แรกเริ่ม จวบจน 2 ปี ได้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ

ที่มาที่ไป และวัตถุประสงค์ของโรงเรียนระดับอำเภอ ?

รศ.นพ.สุรเกียรติ :  เราแปลเป็นไทยว่า DHML เรามีชาวบ้านมาเรียนด้วย มีนายกฯ อบต. ชื่อ DHML ฟังแล้วอาจจะไม่เก็ตเราเลยขอตั้งชื่อว่า นี่คือโรงเรียนสุขภาพอำเภอ ไม่ใช่ต้องมีโรงเรียนนะ เราพูดถึงการเรียนรู้ในพื้นที่ตามแต่ละบริบท เรามีทั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ โรงเรียน อสม. ส่วนโรงเรียนสุขภาพอำเภอคือโรงเรียนที่สร้างภาคีเครือข่ายสุขภาพในชุมชนทั้งระดับหมู่บ้านตำบล และอำเภอที่เข้มแข็ง มันไม่ใช่ว่าเราต้องสร้างโรงเรียน เราไม่มีโครงสร้าง แต่ของเราหมายถึงอยู่ในป่าเขาอยู่ในบ้านคนไข้ ในชุมชน อยู่ที่วัดได้หมด มันคือสถานที่ไปเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้และมีกระบวนการเรียนรู้ จากปราชญ์ชาวบ้าน จากผู้นำ จากผู้ป่วยเอง จากเจ้าหน้าที่อนามัยที่สะท้อนปัญหา และสะท้อนความสำเร็จ 

ระยะเวลาในการดำเนินงานนั้นนานแค่ไหน และพบอุปสรรคอย่างไรบ้างในการดำเนินงาน

รศ.นพ.สุรเกียรติ : นี่เพิ่งเริ่มประมาณปี 57 แต่สุขภาพอำเภอเริ่มเมื่อปี 55 ตอนประกาศทั่วประเทศ คนในพื้นที่นึกว่าเป็นเรื่องใหม่ก็งง ไปไม่ถูก ก็เลยทำตามคำสั่งเหมือนราชการ โดยที่มดงานไม่เข้าใจ ทำให้ต้องถอยก้าวหนึ่ง ให้คนในพื้นที่ได้เข้าใจแนวคิดหลักการก่อนว่ามันทำเพื่ออะไรและคืออะไร เครือข่ายไม่ใช่แค่ฝ่ายสาธารณสุข ภาคประชาชน ถ้าประชาคมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของร่วม เป็นการถ่ายโอนความรู้สึกเจ้าของสุขภาพนั่นคือ ประชาชน เจ้าของสิทธิสุขภาพให้ประชาชน

เช่น ให้นายกฯ อบต.เข้ามารับรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และขยะ ไม่ได้ให้สาธารณสุขทำทุกเรื่อง เป็นการถ่ายอำนาจการดูแลทุกรูปแบบให้ประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่แค่ฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายเรา ไม่ใช่แค่ขอความร่วมมือ ซึ่งไม่ประสบความยั่งยืน แต่ตรงกันข้ามว่าทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข โดยให้ตำบลเป็นฐานในการเคลื่อนไหว มีเจ้าหน้าที่ มีนายกฯ อบต. นายกเทศมนตรี ให้เค้าคิดว่าในตำบลมีปัญหาอะไร แต่ละชุมชนไม่เหมือนกัน ขอแต่ละพื้นที่ชัดเจนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันคืออะไร พอทำหนึ่งเรื่องสำเร็จมันเกิดพลังมหาศาล โยงไปเรื่องอื่นได้

แต่ก่อนเป็นหมอสั่ง แต่ไม่ได้ร่วมคิดร่วมเรียนรู้  แต่ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือ 3 สร้าง สร้างคนก่อนให้คิดเป็นก่อน เพื่อสร้างทีม เคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกันให้เปิดใจรับฟังมุมมอง รับฟังมุมมองประสบการณ์ของทุกฝ่าย จะได้รวมพลังเพื่อแก้ไขปัญหาด้วย สร้างคนเพื่อสร้างทีมแล้ว เราจะสร้างงานที่ยั่งยืนได้ เอาแค่หนึ่งงานที่สนใจ ใช้เวลาเพียง 2 ปี มันจะสำเร็จได้ มันจะมีพลังเกิดขึ้นยั่งยืน

มีอำเภอไหนทำแล้วเห็นผล หรือมีการเปลี่ยนแปลง  ?

รศ.นพ.สุรเกียรติ : มันเยอะมาก อย่างของคำม่วง เขาเอาเรื่องพุทราปลอดสารมา ในการเรียนรู้จะมีตัวแทน 5 อำเภอ เฉลี่ยนะ หนึ่งศูนย์เรียนรู้ มีตัวแทนอำเภอ จะมีท้องถิ่น อาสาสมัคร มีเจ้าอาวาสมาด้วย เราตั้งเงื่อนไข ต้องมาจากตัวแทน 3 สาม ภาค โรงพยาบาล ภาคสาธารณสุข และภาคประชาชน ซึ่งจะมีซัก 10 คนแลกเปลี่ยน 2 เดือนครั้ง พาไปดูงานไปถอดบทเรียน ทุกคนต้องสะท้อนมุมมองตัวเอง มีอาจารย์ไปร่วมแต่ห้ามบรรยาย ไปเรียนรู้ อาจารย์มีหน้าที่สรุป ให้เกิดเป็นแนวคิดที่ชัดเจนเรื่องระบบ แล้วกลับไปขับเคลื่อน ต้องเอาสิ่งดีๆ ไปปรับใช้กับงานที่อยากทำ

เช่น พุทราปลอดสาร เค้าทำกันมานานแล้วเป็นรายได้หลัก แต่ตรวจพบสารเคมีตกค้างเกือบ 100 เราพยายามมาตลอด แต่ไม่สำเร็จ แต่พอเรียนรู้ไปโรงงานอีกที่เกษตรปลอดสาร เค้าบอกเค้าเข้าใจ ใช้วิธีกางมุ้งต้นพุทรา เดิมทีมี 2 บ้านแล้วขยายผลเป็น 150 บ้าน มุ้งจากเดิม 2 หลังเกือบเต็มพื้นที่เอาพุทรามาตรวจปลอดสารเกือบ 100 ตรงข้ามเลย ราคาดีกว่าเก่า เค้าพอใจมากกับรายได้ ปลอดภัยด้วยกับเขาเองต่อผู้บิโภค win- win หมด ได้ 4D คือ ได้คนดีมีน้ำใจ สุขภาพดี รายได้ดี สิ่งแวดล้อมดี

หลายที่ประสบความสำเร็จ แต่อีกหลายที่ต้องทำความเข้าใจกันยังไง  ?

รศ.นพ.สุรเกียรติ : เมื่อเค้ามาเรียนรู้ เขาเข้าใจ อย่างเกษตรกำแพงแสน นครปฐม ตอนแรกเค้ามาทำเรื่องโรคเรื้อรังที่เป็นภาระ ทำเบาหวาน ความดัน แต่เมื่อดูงานแล้ว เขาเริ่มจากเคสเล็กๆ เป็นผู้พิการ 1 ครอบครัว ผู้ป่วยจิตเวชถูกกักขังใต้ถุนบ้านมา 10 กว่าปีแล้ว ภาคประชาชนไปเรียนด้วยเลยยกขึ้นมาเป็นปัญหา ประมาณ 3 เดือน ทำสำเร็จเอายาให้กิน ฉีดยา ย้ายกลับบ้านได้ ทีมงานภูมิใจมาก แล้วขยายไปเป็น 131 เคส  เริ่มจากเรื่องเล็กๆ พื้นที่น้อยๆ แล้วพอได้ผล ได้บทเรียน มีกำลังใจไปขยายผลต่อ ไม่ต้องมีใครไปสอน เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว แล้วเป็นปัญหาจริง แก้ได้จริง ขยายผลได้จริง เกิดขึ้นหลายที่ เค้าภูมิใจมาก ที่งานสำเร็จเห็นความก้าวหน้า งานได้ผล คนมีค่า สังคมผาสุก

สปสช.ต้องสนับสนุนอย่างต่อเนื่องอย่างไรบ้าง ?

รศ.นพ.สุรเกียรติ : ก็เข้าใจว่าในระดับประเทศ อันนี้กระทรวงสนใจตั้งงบประมาณอันนี้ คือควรจะเป็นระบบปกติไม่ใช่นำร่อง เคสทำนำร่องมา 2 ปีมันพอแล้ว สรุปได้ว่าทิศทางที่ขับเคลื่อนอยากให้เป็นระบบปกติ

พัฒนาการกว่าจะเป็นโมเดลภาพจำลองกระบวนการ DHML มาถึงปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?

รศ.นพ.สุรเกียรติ : ผมร่วมออกแบบแต่แรก ไปเยี่ยมพื้นที่เรียนรู้ สรุปผล ค่อยๆ ตกผลึกมา 2-3 ปีจนได้ภาพนี้ ไม่ใช่อ่านหนังสือตำราเล่มไหน ผมตกผลึก งานต้องมีการเรียนรู้ มีความสัมพันธ์รองรับ ต้องเคารพศักดิ์ศรีคนเล็กคนน้อย ต้องเสมอภาคกัน เหมือนที่ผมเขียนกลอนนั่นหละ

งานเสวนาวิชาการเครือข่ายโรงเรียนสุขภาพอำเภอที่ผ่านมามีส่วนช่วยสนับสนุนงานนี้อย่างไรบ้าง ?

รศ.นพ.สุรเกียรติ : คราวนี้ถือว่าประชุมระดับประเทศครั้งแรก หลังจากที่เราทำมา 2 ครั้ง มีสมาชิก 2 รุ่น มีศูนย์การจัดการเรียนรู้ประมาณ 111 แห่ง มีทีมอยู่ 500 ทีม หรือ 500 อำเภอ แต่ตอนนี้ 800 อำเภอเกิดขึ้นแล้ว คิดว่าจะกลายเป็น momentum สำคัญเป็นแรงเหวี่ยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กระบวนการทำงานใหม่ ทำงานไปต้องได้เรียนรู้และสร้างเครือข่ายไปพร้อมๆ กัน