ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ต้องทำให้คนไข้มั่นใจในการรักษา นี่ยังเป็นปัญหาที่หลักประกันสุขภาพต้องทำ” พลอากาศตรีหญิง แพทย์หญิงกณิกา ภิรมย์รัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช อดีตผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ป้องกัน กรมแพทย์ทหารอากาศ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช หลายผลงานของท่านได้รับรางวัลที่ยืนยันได้ถึงความทุ่มเทตั้งใจในวิชาชีพ จากประสบการณ์พบเจอผู้ป่วยในทุกรูปแบบมาตลอด 40 ปีจึงเชื่อว่านอกจากยาแล้ว ยังต้องรักษาด้วยความเข้าใจ แนวทางสำคัญในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพที่เราจะชวนเปิดประเด็นในวันนี้    

ก่อนจะพัฒนาก้าวต่อไปของหลักประกันสุขภาพ  อาจารย์หมอมองว่าเราต้องปูพื้นฐานอย่างไรบ้าง ?

แพทย์หญิงกณิกา : คิดว่าก่อนพัฒนาต้องแก้ไขก่อน ทางภาครัฐต้องยื่นมือช่วยเหลือเรื่องงบประมาณให้กับโรงพยาบาลในสังกัดให้เพียงพอ เพราะบางครั้งรัฐอาจคิดว่ามีคนป่วยเท่านี้ แต่จริงๆ มีมากกว่าที่คิดไว้ การที่สถานพยาบาลหลายแห่งขาดทุนจนอาจถอนตัวออกจากโครงการ ก็ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงผู้ป่วยด้วย เป็นปัญหาใหญ่ว่าสถานพยาบาลภายในท้องที่ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ

ยังมองเห็นปัญหาอะไรบ้างกับสิทธิหลักประกันสุขภาพ ?

แพทย์หญิงกณิกา : ปัญหายังมีอยู่แน่นอน อย่างภูมิพลเอง เคยมีโควต้าจำกัด อย่างคนที่อยู่ละแวกนี้ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้ใช้สิทธิ์ทั้งหมด จากแต่ก่อนโควต้าเป็นแสนก็ต้องเหลือรับผู้ป่วยแค่หลักหมื่น ยิ่งเป็นโรงพยาบาลใหญ่ที่หมอครบเครื่อง หลายคนก็อยากมาหาเพราะมันใกล้บ้านใกล้ใจ เราอยากให้เค้าหาหมอใกล้บ้านก็ต้องพร้อมในทุกๆ ด้าน

ระบบหลักประกันสุขภาพพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ?

แพทย์หญิงกณิกา : คือแต่ละยุคสมัยมีดีมีเสียต่างกัน อะไรเป็นข้อดีไม่ยากเราก็หยิบยกมา อย่างตอนนี้สิทธิ์หลักประกันหรือชาวบ้านเค้าบอกว่ามีบัตรทองเนี่ยนะ มันชัดอยู่แล้วตรงที่แพทย์ต้องไม่ปฏิเสธการรักษา ต้องให้ยาจนถึงที่สุด ถ้ารักษาไม่ได้ต้องส่งต่อ คราวนี้มันก็มีในบางเคสเหมือนกันที่ไม่กล้าตัดสินใจ จนคนไข้แย่ ถามว่าความรับผิดชอบอยู่ตรงไหน ก็น่าจะอยู่ตรงการทำความเข้าใจกับข้อบังคับให้ตรงกัน และประสานงานกันให้ดีให้ชัดเจน เมื่อมองว่าคนไข้ควรเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดทุกอย่างจะออกมาดีเอง

คิดอย่างไรกับประเด็นสุขภาพที่กำลังถูกพูดถึง ในร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 47 ที่ใช้คำว่า “ผู้ยากไร้” มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลฟรี ?

แพทย์หญิงกณิกา : อันนี้เป็นเรื่องที่น่าติดตามมาก เพราะอย่าลืมนะว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามันเกี่ยวกับพวกเราทุกคน การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ต้องลงลึกถึงรายละเอียด แต่อยากให้คำว่าเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเป็นอะไรที่ต้องดีขึ้นพัฒนาขึ้น ผู้มีสิทธิเข้าถึงการรักษาแน่นอนว่าย่อมรวมถึงผู้ยากไร้ด้วย คนที่เขาต้องการที่พึ่งทางการแพทย์ รู้สึกอุ่นใจได้แม้ไม่มีเงินติดตัว แต่นั่นก็อาจไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด เพราะเรายังเน้นการเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม คิดว่ามันควรมีทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย

ทางออกที่ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงไหม ?

แพทย์หญิงกณิกา : มันก็มีตัวอย่างให้เห็นอย่างในเยอรมัน เป็นประเทศต้นตํารับนโยบายสวัสดิการสังคม เขาวางแผนระบบมาอย่างดี เราถึงได้เห็นเขาใช้ชีวิตวัยเกษียณกันแบบไม่เครียด แต่นั่นคือภาครัฐมีการกันเงินไว้ทุกอย่างเป็นระบบ อาจต้องยอมเสียภาษีที่มากกว่า เขาเรียกเป็นการลงทุนด้านสุขภาพ ด้านสาธารณสุข เราคงทำได้แค่ปรับเปลี่ยนบางอย่างให้เข้ากับบ้านเรา อะไรของเขาดีก็หยิบยืมมาใช้ เพราะวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละที่แต่ละประเทศไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา มีสิทธิประโยชน์ด้านไหนอีกบ้าง ที่อาจารย์หมอมองว่าควรปรับเปลี่ยน เพิ่มเติม ?

แพทย์หญิงกณิกา : คิดว่าสิทธิประโยชน์ครอบคลุมในระดับหนึ่งแล้ว เพราะเป็นเรื่องของคนจำนวนมากในสังคม หากจะต้องเพิ่มเติมอะไรคงต้องมานั่งจับเข่าคุยกันว่าจะดีจริงไหม ทำได้แค่ไหน งบเอื้อรึเปล่า แต่ตอนนี้มีสิ่งที่เปลี่ยนได้เลยคือ เราต้องไม่รักษาคนไข้แค่ทางกาย แต่เราต้องช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้ป่วยด้วยว่า ถึงไม่มีทุนรักษาแต่ก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีเสมอภาคได้ เป็นเรื่องน่ายินดีนะที่บ้านเรามีการพัฒนาด้านหลักประกันสุขภาพที่มั่นคงขึ้น รัฐบาลมีกองทุนเฉพาะโรค เช่น โรคไต โรคมะเร็ง

คิดว่าหลักประกันสุขภาพควรเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด ?

แพทย์หญิงกณิกา : เราดูจากผลสำรวจ ดูจากคุณภาพชีวิตประชากรไทยก็คงบอกได้ว่าเราควรไปต่อกันยังไง ซึ่งตรงนี้ต้องมองให้กว้างขึ้นไปอีก เพราะเราอยู่ในสังคมผู้สูงวัย เหมือนหลายประเทศใกล้ๆ บ้านเรา มีทั้ง ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อย่างในฮ่องกงเขาให้ชุมชนร่วมรับภาระดูแลผู้สูงวัยนะ จัดเป็นโครงการเยอะแยะ ยิ่งญี่ปุ่นไม่ต้องพูดถึงรัฐเขายอมทุ่มงบด้านการรักษาการแพทย์ ซึ่งที่น่าเอาเยี่ยงอย่างคือ สนับสนุนให้ดูแลคุณปู่คุณย่าจากภายในครอบครัวนี่แหละ ถามว่าบ้านเราตรงไหนที่หมอยังเห็นช่องโหว่ ก็เหล่าผู้สูงวัยที่ป่วยต้องนอนติดเตียง อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ใส่ใจผู้ป่วยอาวุโสในทุกพื้นที่ จำนวนมากป่วยมาโรงพยาบาลไม่ได้เพราะไม่มีใครดูแลพามาต้องเดินทางก็ลำบาก ตรงนี้ต้องมีหน่วยแพทย์เข้าไปสอดส่องให้มากขึ้นรักษากันถึงบ้าน

“ทั้งหมดที่พูดคุยมาจะเป็นจริงได้ คงต้องอาศัยความร่วมมือและเสียสละ แล้ววันหนึ่งเราคงได้เห็นการพัฒนาระบบประกันสุขภาพในระยะยาวที่ตรงใจคนไทย”