ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.-ม.มหิดล-ราชทัณฑ์ ร่วมตรวจคัดกรอง COVID-19 แก่เจ้าหน้าที่-ผู้ต้องขัง “ทัณฑสถานหญิงกลาง-บำบัดพิเศษกลาง” ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด เรือนจำเล็งปรับ New Normal ญาติเข้าเยี่ยม เน้นใช้งานระบบออนไลน์

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2563 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันดำเนินกิจกรรมตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 ให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังรวมกว่า 300 คน ภายในทัณฑสถานหญิงกลาง และทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร (กทม.)

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจะทำการเก็บตัวอย่างจากกลุ่มเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่เรือนจำที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับผู้ต้องขังรายใหม่ หรือมีภารกิจในการนำตัวผู้ป่วยออกไปยังสถานพยาบาลต่างๆ และกลุ่มผู้ต้องขังแรกรับรายใหม่ที่กำลังเตรียมเข้าสู่เรือนจำ โดยทางคณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล จะนำตัวอย่างที่ได้ไปตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธีการ RT-PCR

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำนับเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ COVID-19 เนื่องจากมีการอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่น โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือกลุ่มผู้ต้องขังเดิมที่อยู่ภายในเรือนจำ ซึ่งมีความปลอดภัยเพราะมีมาตรการดูแลป้องกันของเรือนจำอยู่ ขณะที่อีกกลุ่ม คือผู้ต้องขังแรกรับที่มีปริมาณเพิ่มใหม่ในทุกวัน หากมีการติดเชื้อในกลุ่มนี้และถูกนำเข้าสู่เรือนจำ จะส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดกระจายไปเป็นวงกว้างได้

“ตามปกติปริมาณผู้ต้องขังรายใหม่ทั่วประเทศมีอยู่ถึง 2,000 คนต่อวัน หรือในช่วงปัจจุบันก็อาจลดลงเหลือราว 400 คนต่อวัน แต่โจทย์สำคัญคือการคัดกรองกลุ่มผู้ต้องขังแรกรับเหล่านี้ให้มีความปลอดภัยจากเชื้อไวรัส โดยเฉพาะในเรือนจำที่มีผู้ต้องขังแรกรับจำนวนมากทำให้ยิ่งมีความเสี่ยงสูง และจะต้องมีการคัดกรองต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย” ทพ.อรรถพร ระบุ

ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล กล่าวว่า สปสช.มุ่งเน้นการดำเนินงานคัดกรองโรคในกลุ่มเสี่ยง เช่น คนไร้บ้าน หรือผู้ต้องขัง ที่อาจเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพได้ด้วยตนเอง ซึ่งครั้งนี้ได้พุ่งเป้ามายังเรือนจำ 2 แห่งที่มีความเสี่ยงสูง เพราะจากเป็นเรือนจำที่มีขนาดใหญ่และแออัด โดยทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง มีผู้ต้องขังอยู่ราว 8,000 คน ขณะที่ทัณฑสถานหญิงกลาง มีผู้ต้องขังราว 5,000 คน

“เรือนจำเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูง เพราะหากมีการติดเชื้อเข้ามาเพียงคนเดียว ก็มีโอกาสแพร่กระจายไปทั่วทั้งแดนได้ จึงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยแต่ละเรือนจำมีมาตรการกักตัวที่แตกต่างกันตามขนาดพื้นที่และปริมาณผู้ต้องขัง ขณะนี้เราจึงพุ่งเป้าการตรวจคัดกรองไปยังเรือนจำขนาดใหญ่ รวมถึงอยู่ในพื้นที่สีแดงตามที่รัฐประกาศก่อน เช่น กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ ขณะเดียวกันก็จะทำแผนเข้าสู่เรือนจำขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นลำดับต่อไป” ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม ระบุ

ด้าน นายวุฒิชัย เจนวิริยะกุล ผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง กล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นประเด็นที่ทางเรือนจำให้ความห่วงใยมาโดยตลอด โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ต้องขังรายใหม่ ซึ่งมาจากหลากหลายแห่ง โดยเรือนจำได้ใช้วิธีการสัมภาษณ์คัดกรอง หากพบว่ามีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีไข้ มีประวัติการเดินทาง ก็จะแยกกักตัวเฉพาะราย แต่หากมีพฤติกรรมเสี่ยงน้อย ก็อาจกักตัวเป็นกลุ่มได้ เมื่อครบ 14 วันจึงค่อยนำตัวเข้าสู่เรือนจำตามปกติ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสในการนำเชื้อเข้ามาสู่เรือนจำได้ จึงต้องมีความระมัดระวังพร้อมกับตรวจคัดกรองเป็นประจำด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ในส่วนของญาติผู้ต้องขัง ซึ่งปกติมักมีการเดินทางเข้ามาเยี่ยมถึง 700 คนต่อวัน ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ สนับสนุนให้มีการเยี่ยมและสื่อสารกันผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น เช่นเดียวกับระบบฝากเงินหรือฝากของให้แก่ผู้ต้องขัง ที่ได้มีการปรับเข้าสู่ระบบออนไลน์ด้วย ซึ่งผู้ต้องขังในเรือนจำก็รับรู้และเข้าใจถึงสถานการณ์ด้วยเช่นกัน

“สิ่งที่จะเป็น New Normal หลังจากนี้ เราอาจต้องจำกัดในหลายเรื่อง เช่น การเข้าเยี่ยม เราห่วงว่าเมื่อเปิดกลับมาแล้วญาติจะเข้ามาเยี่ยมพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องของพื้นที่เยี่ยมเองก็จะต้องมีการเว้นระยะ ทำให้อาจรองรับได้ลดลงครึ่งหนึ่ง ฉะนั้นอาจต้องจำกัดจำนวนญาติที่เข้าเยี่ยมได้เหลือคราวละ 1-2 คน ประชาสัมพันธ์ให้มีการทยอยกันมา หรือเน้นให้เยี่ยมออนไลน์ให้มากขึ้น โดยปัจจุบันเราปรับระบบที่ญาติสามารถเลือกจองวันเวลาเยี่ยมเองได้สะดวกมากขึ้น” นายวุฒิชัย ระบุ