ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.-สปสช.-รพ.เอกชน เห็นพ้องตรวจคัดกรองเชิงรุกคือปัจจัยสำคัญในการสกัดการระบาดของโควิด-19 ในอนาคต ชี้ปัจจุบันอัตราส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อหารด้วยจำนวนตรวจของไทยอยู่ที่ 1-2% สะท้อนให้เห็นว่ามีการเฝ้าระวังเชิงรุกมากขึ้น ย้ำ รพ.เอกชนลงพื้นที่คัดกรองกลุ่มเสี่ยงต้องเป็นพื้นที่ สสจ.กำหนดเท่านั้น

วันที่ 4 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดเสวนาเรื่อง "การตรวจคัดกรองโควิด-19กับภารกิจเปิดเมือง" โดยมี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. และ ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมอภิปราย

นายสาธิต กล่าวว่า ในระดับนโยบายมีการพูดคุยกันในหลายทฤษฎีว่าจะดำเนินการแบบไหน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าประเทศเราไม่ได้ร่ำรวย การจัดการทุกเรื่องเป็นการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทั้งอุปกรณ์และทรัพยากรบุคคล ดังนั้นในช่วงแรกไทยจึงตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงและผู้สัมผัสใกล้ชิดเท่านั้น แต่ ณ วันนี้เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลงก็เริ่มปรับเปลี่ยนมาคัดกรองกลุ่มเสี่ยงให้กว้างมากขึ้น มีการตรวจเชิงรุกมากขึ้น แต่ยังเป็นการตรวจเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอยู่ ไม่ใช่ไปตรวจใครก็ได้ ต้องเป็นกลุ่มที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำหนด เช่น ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย สัมผัสกับผู้กักตัว หรือ กลุ่มแรงงานต่างชาติที่พบการติดเชื้อ เป็นต้น

"ดังนั้น ในเชิงนโยบายการคัดกรอง เราทำควบคู่กันทั้งการตรวจเชิงรุกให้มากขึ้นและการควบคุมการติดเชื้อ ณ วันนี้ถ้าไม่นับที่ภาคใต้ เรามีผู้ติดเชื้อเป็น 0 แล้ว ผมเชื่อว่าถ้าเราเดินแบบนี้ก็จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้สำเร็จ" นายสาธิต กล่าว

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า เดิมที การตรวจทางห้องปฏิบัติการเน้นตรวจเพื่อวินิจฉัยและควบคุมโรค เป้าหมายต่อไปถ้าประเทศไทยจะผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ก็จะเป็นการตรวจโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ซึ่งการค้นหาเชิงรุกจะมีความสำคัญมากขึ้น

"การตรวจทางห้องปฏิบัติการตอนนี้มี 4 กลุ่มใหญ่ 1.กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยต้องวินิจฉัยสอบสวนโรค 2.กลุ่มที่สัมผัสกับผู้ป่วย 3.บางพื้นที่มีการระบาดจำนวนมาก เช่น ภูเก็ต หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มนี้จะลงไปตรวจหาในชุมชนหรือที่เรียกว่า Active case finding และ 4.การเฝ้าระวังเชิงรุกในประชากรบางกลุ่ม เช่น กลุ่มแรงงานที่อยู่กันอย่างแออัด ก็ต้องลงไปเฝ้าระวังค้นหาเชิงรุก" นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 2563 ไทยตรวจด้วยวิธี RT-PCR ไป 227,860 ตัวอย่าง ถามว่าตรวจมากหรือน้อย ถ้าเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อหารด้วยจำนวนตรวจ ของไต้หวัน สิงคโปร์อยู่ที่ 2% เมืองไทยก็อยู่ที่ 2% และตัวเลขเริ่มลดลงมา 1% แล้ว หมายความว่าต้องตรวจ 100 คนถึงจะเจอผู้ติดเชื้อ 1-2 คน สะท้อนให้เห็นว่าเราเฝ้าระวังเชิงรุกมากขึ้น ขณะเดียวกัน ตอนนี้มีห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานเพิ่มขึ้นมาก รวม 140 แห่งทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน เชื่อว่าจะสนับสนุนการเฝ้าระวังและค้นหาเชิงรุกให้เป็นจริงในทางปฏิบัติได้

ขณะที่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตั้งแต่ 5 มี.ค. 2563 มีประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยจากข้อมูลพบว่า 40% ของผู้ป่วยได้รับบริการในภาคเอกชน

ในส่วนของการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ออกประกาศเรื่องแนวทางการให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) นอกสถานพยาบาล โดยกำหนด 2 เงื่อนไข คือ 1.เอกชนที่ไปร่วมกับโครงการของรัฐ ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามโครงการของรัฐ สามารถดำเนินการได้เลย และ 2.เอกชนออกไปตรวจเอง ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง หลักๆ คือไปยังสถานที่พักของผู้ป่วยที่ไม่สะดวก เช่น ผู้พิการ ผู้ป่วย หรือสถานที่กักตัวชั่วคราว นอกจากนี้ต้องมีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรอง ต้องรายงานผลตรวจให้กรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อให้ทราบข้อมูลในภาพรวม

อย่างไรก็ดี ล่าสุดได้ทราบปัญหาว่ามีเอกชนบางหน่วยงานที่เข้าใจประกาศคลาดเคลื่อนและออกไปให้บริการในจุดที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เช่น ปั๊มน้ำมัน ศูนย์การค้า จึงได้ตกลงกันว่าการออกตรวจนอกสถานที่ของภาคเอกชนต้องมีคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัดเป็นผู้กำหนดเป้าหมาย โดยทางกรมควบคุมโรคมีหนังสือถึงคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดและ กทม.แล้ว เพื่อให้กำหนดพื้นที่เพื่อทำการคัดกรอง และหน่วยบริการไหนจะออกตรวจต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า 5 วัน ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดได้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้ดีที่สุด เป็นประโยชน์กับงบประมาณมากที่สุด

ด้าน นพ.การุณย์ กล่าวว่า ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ถึง 10 คน/วัน อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งไม่แสดงอาการ กลุ่มนี้สามารถแพร่เชื้อได้ ถ้าผ่อนคลายมาตรการ มีการเคลื่อนย้ายประชากร กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วยังไม่แสดงอาการก็อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อมากขึ้นจนอาจเป็นคลื่นการระบาดลูกที่ 2 ดังนั้นจึงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบในกลุ่มที่มีความเสี่ยง โดยทางกรมควบคุมโรคได้ประกาศกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มเติม คือ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้อาศัยในที่แออัด อาชีพที่สัมผัสกับผู้อื่นมากๆ ผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง ผู้ต้องโทษแรกรับเข้าเรือนจำ และแรงงานต่างชาติ

นพ.การุณย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการตรวจคัดกรองเชิงรุกของภาคเอกชนต้องเป็นไปตามประกาศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และต้องแจ้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อให้ความเห็นชอบและทำสำเนาแจ้ง สปสช. เขต ให้รับทราบด้วย ส่วนในบางพื้นที่ที่เอกชนออกไปบริการแล้วเกิดความคลาดเคลื่อนของกลุ่มเป้าหมาย ขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างหารือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเพื่อหาทางออกร่วมกัน

"หลักๆ คือเอกชนมีเจตนาดีในการเข้ามาร่วมบริการเพราะในช่วงแรกภาครัฐยังจัดบริการได้ไม่เพียงพอ เมื่อภาคเอกชนเข้ามาร่วมก็ทำให้การจัดบริการเพิ่มขึ้นอย่างมาก" นพ.การุณย์ กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าวว่าหลังจากรัฐบาลประกาศว่าโควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉิน กฎหมายจะครอบคลุมมาถึงโรงพยาบาลเอกชนทั้งระบบ ซึ่งทางโรงพยาบาลเอกชนก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ได้พัฒนาห้องแล็บและคัดกรองตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนด

"เราเชื่อว่า 30% ของผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ และจะเป็นตัวแพร่เชื้อ เราจึงทำ Drive-Through โดยมีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน 43.2% สะท้อนว่าเราทำการคัดกรองแล้วล็อกตัวไว้ก่อนแพร่เชื้อ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การระบาดน้อยลง นอกจากนี้เรายังพัฒนาห้องความดันลบ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงสำรองไว้ใช้งานใน กทม.และปริมณฑลหากมีการระบาดจำนวนมาก ส่วนเรื่องการเบิกจ่ายเป็นไปตามตามระบบ UCEP บวก On top 25% ซึ่งต้องบอกว่าเป็นการทำ CSR ของโรงพยาบาลเอกชนทั้งระบบเพราะไม่ได้กำไร โดยเฉพาะเครือข่ายโรงพยาบาลใหญ่ๆ ขาดทุนแน่นอน แต่โรงพยาบาลเอกชนก็ไม่ได้เกี่ยงงอนอะไร" ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าว

นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวด้วยว่า ในส่วนที่มีความผิดพลาดในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเกิดขึ้นนั้น เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่และทุกโรงพยาบาลก็ทำด้วยความตั้งใจ ทำให้มีการคัดกรองกันตามฟุตปาธ หน้าร้านสะดวกซื้อ หรือมีการเก็บค่าบริการจากประชาชน อย่างไรก็ตามทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้สั่งปรับตามกฎหมายไปหมดแล้วและจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าว ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงอุบัติภัยหรือภาวะฉุกเฉินของประเทศ เราต้องไม่แยกเขาแยกเรา ใครมีกำลังก็ลงไปช่วยกัน ถ้าสังเกตข้อมูลจะพบว่าตัวเลข Active case finding เกิดจากภาคเอกชนที่ออกไปในชุมชน ส่วนเรื่องที่การออกไปในกลุ่มเสี่ยงต้องขออนุญาตนั้น ช่วงนั้นก็ไม่มีใครรู้กฎแน่นอน และในคำสั่งแรกที่ออกมาก็ใช้คำว่าแจ้งเพื่อรับทราบเท่านั้น เรื่องนี้จึงไม่มีใครผิดใครถูก