ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 โลกสรุป "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า"ต้องลงทุนระบบ "ปฐมภูมิให้หนัก-ไปต่อไม่ได้หากไม่เน้น "ส่งเสริมสุขภาพ"การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทยช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้สะท้อนมุมมองของนานาชาติต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องไปให้ถึง ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2573 โดยตัวแทนจากทุกประเทศ สนับสนุนให้ระบบนี้ไปต่อ เพื่อสร้างหลักประกันว่าในอนาคตต้องไม่มีใครที่ "ล้มละลาย" หรือ "ยากจน" จากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีกต่อไปทั้งหมดนี้ ยังคงเป็นเรื่องยาก เพราะมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วโลก ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ เพราะระบบนี้ต้องการการลงทุนโดยรัฐ ภายใต้เม็ดเงินมหาศาล และในอีกหลายประเทศ ต้องเข้าไป Disrupt กลไกธุรกิจ ระบบประกันสุขภาพเอกชน ไปจนถึงบริษัทยา โรงพยาบาลเอกชน ที่มีรายได้มหาศาลในแต่ละปี เพื่อก่อร่างสร้างระบบนี้ ให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด
          
เบฟเวอร์ลี โฮ ที่ปรึกษาพิเศษ รมว.สาธารณสุข ประเทศฟิลิปปินส์ เล่าว่า ฟิลิปปินส์ เป็นหนึ่งในประเทศน้องใหม่ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเพิ่งเริ่มต้นผ่านกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นเมื่อปี 2562 เพื่อให้ประชาชนฟิลิปปินส์เข้าถึงการรักษาได้ง่าย และไม่มีค่าใช้จ่าย ในระยะเริ่มต้น ฟิลิปปินส์ได้ดึงงบประมาณจาก "ภาษีบาป"ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิตจากเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และกาสิโน เข้าไปในโครงการ ซึ่งฟิลิปปินส์ มียอดทำให้ได้ งบประมาณเพิ่มระดับหนึ่ง โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์คาดว่า การดึงภาษีบาปมาใช้จะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นราว 2.5 หมื่นล้านเหรียญฟิลิปปินส์ (ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท)
          
เบฟเวอร์ลีกล่าวว่า ก้าวต่อไปของระบบ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าฟิลิปปินส์ คือ การโฟกัสไปยังระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยรัฐบาลเห็นความจำเป็นว่าโครงการจะไปต่อไม่ได้ หากเน้นไปที่การรักษาอย่างเดียว เพราะงบประมาณสาธารณสุขจะพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
          
นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังวางแผนในการดึงภาษีแบบ Earmarked tax หรือ ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ 1% ของงบประมาณด้านสุขภาพทั้งหมดต่อปี เพื่อลงไปยังการ "ส่งเสริม สุขภาพ-ป้องกันโรค" โดยตรง ผ่านสำนักงานส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งทำให้งบประมาณด้าน ส่งเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรคของฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้นจาก 1 ปีก่อนหน้ากว่า 400%
          
ขณะเดียวกัน ฟิลิปปินส์ยังร่างกฎหมายสนับสนุนให้เกิดระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อให้คนฟิลิปปินส์ 104.9 ล้านคนทั่วประเทศ เข้าถึงสถานบริการสุขภาพปฐมภูมิอย่างทั่วถึง โดยร่วมมือกับภาคประชาสังคม ในการผลักดันระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้เข้าถึงประชากรให้มากที่สุด
          
"เรารู้ดีว่า การสร้างระบบแบบนี้ ต้องใช้เวลาและต้องใช้กลไกที่เข้มแข็ง ทั้งด้วยกฎหมายและด้วยอำนาจทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องแสวงหาความร่วมมือจากภาคประชาชนให้มากที่สุด เพื่อให้ระบบสามารถขับเคลื่อนได้เร็ว ไม่ต้องรอกลไกรัฐ ไม่ต้องรอรัฐบาล แต่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมด้วยตัวเอง" เบฟเวอร์ลีระบุขณะที่ โกกู อาโวนัวร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริการสุขภาพ ประเทศกานา กล่าวว่า ความท้าทายของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทวีปแอฟริกาก็คือ การที่ยังมี "โรคติดต่อ" เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นมาลาเรีย หรือโรคเอดส์ ทำให้ทรัพยากรรัฐ และงบประมาณ ถูกมุ่งไปยังการจัดการปัญหาพวกนี้ ฅ,มากกว่าจะไปสู่การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ โดยวิธีคิดขณะนี้คือ หลายประเทศมองว่าต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงต้องหา จุดกึ่งกลางระหว่างการจัดการปัญหาโรคระบาด และการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาได้
          
นอกจากนี้ แอฟริกายังคงเผชิญปัญหาที่ ใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศรายได้ปานกลางอื่นๆ อย่างการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข และจำนวนผู้ป่วยในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การออกแบบระบบ จึงต้องวางแผนให้ครบทุกมิติ ไม่ใช่ แค่มิติการรักษาอย่างเดียว แต่ต้องจัดการให้เชื่อมโยงกับปัญหาที่รอบด้านกว่า อย่างการจ้างงานบุคลากรสาธารณสุข และการจัดการกับ โรคเรื้อรัง ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งทั้ง 2 ปัญหา จะทำให้ค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพุ่งสูงขึ้นจนหยุดไม่อยู่ ซึ่งรัฐบาลอาจ มองว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน
          
ด้าน เอริกา ดี รุจิเอโร นักวิชาการจากวิทยาลัยสาธารณสุข ดาลลา ลานา มหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา กล่าวว่า หากพิจารณาการลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วโลก จะเห็นชัดว่า ยังขาดมิติการลงทุนด้านส่งเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรค แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยังไม่สามารถจัดสรรงบประมาณลงไปในด้านหลักส่งเสริมสุขภาพ ได้ดีพอ และเมื่อไม่ได้ลงทุนในส่วนนี้ ก็ทำให้ งบประมาณที่ใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง อย่างเบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ หรือมะเร็ง พุ่ง สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
          
"ปัญหาก็คือ ไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่า หากลงทุนในระบบส่งเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรคมากขึ้น จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้มากขนาดไหน และจะลดจำนวนการตายได้ เท่าไหร่ เพราะฝั่งส่งเสริมสุขภาพ เป็นเรื่องของการป้องกันระยะยาว อาจยังไม่เห็นผลชัดในเวลารวดเร็ว ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ควรจัดสรรงบประมาณใหม่ มุ่งเน้นไป ตั้งแต่การวิจัยด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และเพิ่มสัดส่วนงบประมาณ ให้ความ สำคัญผ่านระบบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ให้ไม่น้อยไปกว่าการรักษา" เอริการะบุขณะที่ ออน ควอท ผู้อำนวยการสำนักงานองค์กรด้านเอดส์แห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Council of AIDS Service Organizations) กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็คือ เจตจำนงทางการเมืองจากผู้นำแต่ละประเทศ ยังไม่ หนักแน่นพอ
          
แม้ในรายงานของสหประชาชาติ เรื่อง"สุขภาพ" จะเป็นเรื่องใหญ่ ที่มากกว่า 97% ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่มีเพียง 20% เท่านั้น ที่รายงานว่าตัวเอง มีความคืบหน้าในการดำเนินงานด้าน "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" และมีเพียง 5% เท่านั้น ที่ระบุว่า ประเทศตัวเองเดินหน้าจนบรรลุตัว ชี้วัดด้านการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ
          
"อย่างไรก็ตาม ในความมืดมน เราได้เห็นประเทศอย่างไทย หรือญี่ปุ่น ที่ช่วยผลักดันให้เกิดปฏิญญาการเมืองด้านระบบสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อเร่งให้ทั่วโลกสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของตัวเองให้เร็วที่สุด แต่สิ่งที่ต้องเรียกร้องก็คือ สหประชาชาติ อาจต้องหากลไกที่เชื่อมประสานแต่ละประเทศมากกว่านี้ เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นได้จริง ทั่วโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า"
          
แอนน์ มิลล์ ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและเศรษฐศาสตร์สุขภาพ และรองผู้อำนวยการ วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า ทุกเวทีของการประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เห็นตรงกันก็คือ แต่ละประเทศต้อง "ออกแรง" มากขึ้น ในการลดจำนวนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ประชาชนจ่ายออกจากกระเป๋าเอง (Out of Pocket payment) ซึ่งยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้น จาก 9.4% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด
          
หนังสือพิมพ์มติชนรายวันในปี 2543 เป็น 12.7% ในปี 2560 ให้นำไปสู่ การจัดการโดยรัฐ อย่างเป็นระบบมากขึ้น
          
นอกจากนี้ แอนน์ยังสรุปว่า ทุกประเทศเห็นตรงกันว่า ควรดึงภาคเอกชน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ได้ โดยอาจเป็นไปในรูปของ การลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐ-เอกชน หรือ Public-Private Partnership หรือ PPPs อย่างไรก็ตาม ก็มี ข้อควรระวัง โดยการลงทุนแบบนี้ ควรเป็นไปภายใต้รัฐบาล ที่มีความเข้มแข็งเท่านั้น และต้องมีระบบกฎหมายที่แข็งแรง รวมถึงมีระบบธรรมาภิบาลที่ดี มิเช่นนั้น จะเป็นไปได้สูงที่รัฐ จะถูกเอกชนเอาเปรียบ
          
ขณะเดียวกัน แอนน์ยังเห็นด้วยกับการนำ "ภาษีบาป" จากเหล้า บุหรี่ มาช่วยเป็นส่วนเสริมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเชื่อว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และจะสามารถเพิ่มงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้
          
ส่วนการ "ร่วมจ่าย" ที่หลายประเทศ เห็นว่าจำเป็นต้องสร้างระบบนี้มากขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืน และตอบโจทย์เรื่อง "สังคมผู้สูงอายุ" นั้น แอนน์ สรุปว่า ควรจะต้องเป็น "อัตราคงที่" หรืออาจเป็นการร่วมจ่ายรายปี โดยมี ข้อยกเว้น สำหรับกลุ่มคนยากจน และควร หลีกเลี่ยงการร่วมจ่ายโดยคิดเป็น "เปอร์เซ็นต์"จากบิลค่ารักษา
          
ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเป็นคำตอบให้กับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่ซับซ้อนขึ้น มีปัญหามากขึ้นทั่วโลก และจะเป็นเกราะกำบังคนยากจน ไม่ให้ต้องตกอยู่ภายใต้ความทุกข์ทรมาน ในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล
          
เพียงแต่ในรายละเอียด ยังมีเรื่องให้ขบคิดอีกมาก และเป้าหมายที่วางไว้ให้เกิดขึ้นได้จริงทั่วโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า อาจ ไม่ได้มาง่ายๆ...

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับวันที่ 26 มีนาคม 2563 โลกสรุป “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ต้องลงทุนระบบ “ปฐมภูมิ” ให้หนัก