ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับตั้งแต่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 แพร่กระจายจากพื้นที่ กทม.ไปยังภูมิภาคต่างๆ งานด้านการคัดกรอง ป้องกัน เฝ้าระวังก็ขยายขอบเขตลงไปถึงระดับชุมชนตามไปด้วย ซึ่งแม้รัฐบาลจะพยายามวางมาตรการและจัดสรรทรัพยากรต่างๆ แต่ในภาวะเช่นนี้ ทรัพยากรบางอย่างอาจไม่เพียงพอจนอาจกระทบกับการทำงานในพื้นที่ได้

กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ที่สำนักงานหลักประกันแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนเงินสมทบร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือที่เรียกสั้นๆว่ากองทุนสุขภาพตําบล เป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มการทำงานในพื้นที่ให้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะตัวกองทุนเองก็มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอยู่แล้ว อีกทั้งมีงบประมาณในกรณีฉุกเฉินหรือภัยพิบัติที่เปิดช่องให้ท้องถิ่นนำเงินออกมาใช้ได้รวดเร็วทันสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายพื้นที่ที่ได้นำงบจากกองทุนสุขภาพตําบลไปช่วยเสริมศักยภาพการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19

องค์การบริหารส่วนตำบลเข็กน้อย (อบต.เข็กน้อย) อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้ใช้งบประมาณจากกองทุนสุขภาพตําบลมาช่วยสนับสนุนการทำงานของท้องถิ่นในการจัดการปัญหาการระบาดในครั้งนี้

นายสุวิทย์ แสนยากุล นายก อบต.เข็กน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสุขภาพตำบลเข็กน้อย กล่าวว่า เข็กน้อยแม้เป็นชุมชนที่อยู่กันจำนวนมาก แต่ด้วยเหตุที่เป็นชาวม้ง จึงมีการช่วยเหลือกันในชุมชน โดยได้ประชุมคณะกรรมการและตั้งงบประมาณเพื่อเย็บหน้ากากอนามัยแจกให้ชาวบ้านทั้งตำบล และอาศัยกลุ่มแม่บ้านเสียสละมาช่วยเย็บให้ โดยผลิตไปแล้ว 12,000 ชิ้น ขณะที่กลุ่มที่พยายามแจกหน้ากากให้คือผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้ที่อยู่ในเขตที่ประชาชนหนาแน่น และตลาดนัด

ด้าน ดวงใจ โรจน์เจริญชัย ผู้ช่วยเลขานุการกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเข็กน้อย กล่าวว่า บริบทของตำบลเข็กน้อย มีประชากร 18,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวม้ง ซึ่งจะมีหลายคนที่ออกไปทำงานในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และบางส่วนก็ไปมาหาสู่กับญาติที่เป็นชาวม้งในอเมริกา จนกระทั่งไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ คนกลุ่มนี้ก็เริ่มทยอยกลับเข้ามาในพื้นที่

สำหรับการจัดการในพื้นที่นั้น ในด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้น ทางผู้ใหญ่บ้านจะเน้นประชาสัมพันธ์แก่ลูกบ้านให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับที่ อบต.ก็มีเครือข่ายหอกระจายข่าวไปยัง 12 หมู่บ้านในพื้นที่เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ทั้งช่วงเช้าและเย็นโดยมีนายก อบต. เป็นผู้สื่อสารให้ข้อมูลด้วยตัวเองเพื่อให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ก็มาช่วยประชาสัมพันธ์ด้วย

นอกจากนี้ ทางอบต.ยังได้ผลิตหน้ากากผ้าออกมาอีกกว่า 12,000 ชิ้นเพื่อให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นำไปกระจายยังกลุ่มเสี่ยงตามโซนที่รับผิดชอบ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์และเด็กก่อน  ส่วนที่เหลือจึงค่อยกระจายให้ประชาชนทั่วไป โดยในขั้นตอนนี้ได้นำงบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบลมาช่วยสนับสนุนการจัดหาวัตถุดิบและเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำให้แก่จิตอาสาที่มาช่วยกันเย็บหน้ากาก

"ในส่วนของผ้า ทางมหาดไทยสนับสนุนงบประมาณมาแล้ว คิดราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 บาท/ชิ้น แต่เนื่องจากในภาวะเช่นนี้วัสดุมีราคาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ถ้ารอแต่งบของมหาดไทย เราอาจไม่ได้วัสดุเลย ก็เลยดึงงบกองทุนตำบลมาช่วย เราประชุมคณะกรรมการกองทุนวันที่ 6 มีนาคม 2563 กรรมการกองทุนอนุมัติแล้วก็ดึงงบในวันต่อมาไปสั่งของเลยเพราะคิดว่าเป็นภารกิจที่ต้องทำทันที เมื่อได้วัตถุดิบแล้วก็ระดมจิตอาสามาได้ 130 คน มาช่วยกันเย็บ ดีที่ชาวม้งส่วนใหญ่จะเย็บเสื่อผ้าใช้เอง มีจักรเย็บผ้าทุกบ้านและมีฝีมือในการเย็บอยู่แล้วจึงสามารถผลิตหน้ากากออกมาได้เร็ว รวมต้นทุนทุกอย่างตกราคาชิ้นละ 7 บาท ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ต่ำในภาวะวิกฤติแบบนี้" ดวงใจ กล่าว

นอกจากใช้ดึงงบมาสนับสนุนการผลิตหน้ากากผ้าแล้ว ทาง อบต.เข็กน้อยยังใช้งบฉุกเฉินของกองทุนสุขภาพตำบลไปจัดซื้อเจลแอลกอฮอล์ ปรอทวัดไข้ และเครื่องเทอร์โมสแกนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม. อีกด้วย

"กลุ่มที่เข้าข่ายเฝ้าระวังในพื้นที่เรามีประมาณ 100 กว่าคน เมื่อมาถึงพื้นที่เราก็จะให้มาลงทะเบียนแล้วมีทีมในชุมชนคอยติดตามอาการ 14 วัน เราก็ได้ใช้งบฉุกเฉินของกองทุนสุขภาพตำบลไปจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์สนับสนุน โดยให้ อสม. เป็นผู้เสนอโครงการขึ้นมาแทนที่จะใช้งบในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพตามปกติ เพราะเราคิดว่าถ้าทำตามปกติต้องมีการเสนอโครงการแล้วจัดซื้อจัดจ้างซึ่งอาจไม่ทันต่อสถานการณ์ จึงคุยกับ อสม.ว่าเขามีหน้าที่ต้องไปติดตามเคสอยู่แล้ว ก็ให้เสนอโครงการมาใช้งบฉุกเฉินซึ่งอยู่ในอำนาจของนายก อบต.ที่อนุมัติได้เลย จะได้ซื้อวัสดุได้ทัน" ดวงใจ กล่าว

ดวงใจ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจัยที่ทำให้สามารถเตรียมการและเฝ้าระวังโรคได้อย่างทันสถานการณ์ เกิดจากในพื้นที่มีต้นทุนในเรื่องจักรเย็บผ้าในทุกครัวเรือนอยู่แล้ว เพราะแม้จะได้งบประมาณ ได้วัตถุดิบมา แต่ถ้าไม่มีจิตอาสามาช่วยกันเย็บก็จะไม่สามารถดำเนินการได้เลย เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่แบ่งงานกันชัดเจน รพ.สต.รายงานเคสเสี่ยง หากขาดเหลืออะไร อบต.จะจัดสรรงบช่วย ขณะที่แกนนำในหมู่บ้านก็ทำงานคู่กับชุดทหารในพื้นที่ตามจุดคัดกรอง

"เรื่องนี้ทาง อบต.หรือกองทุนสุขภาพตำบลจะดำเนินการไม่สำเร็จเลยถ้าไม่มีคนเหล่านี้" ดวงใจ กล่าว