ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อวันที่ 31 มกราคม -วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ประเทศไทย ถือเป็นโอกาสสำคัญ ในการรวมตัวบรรดานักวิชาการชั้นนำจากทั่วโลกเข้าด้วยกัน โดยปีนี้จัดการประชุมภายใต้หัวข้อ Accelerating Progress Towards UHC  หรือเร่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นได้จริง ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หรือ Sustainable Development Goals  ซึ่งมุ่งหวังให้ทุกประเทศทั่วโลกมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า
          
หนึ่งในนักวิชาการคนสำคัญที่เข้าร่วมในเวทีนี้ คือ ศ.โกรัน ทอมสัน ที่ปรึกษาอาวุโสประจำสถาบันปฏิรูประบบสุขภาพระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Swedish Institute for Global Health Transformation) ชาวสวีเดน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพ ที่เข้า-ออก ประเทศไทย เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงมานานกว่า 40 ปี
          
งานนี้ โกรันไม่ได้มาเพื่อเสนอแนะการ "ปฏิรูป"ระบบสุขภาพในบริบทโลก เพื่อให้ข้อเสนอแนะในเวทีวิชาการเท่านั้น แต่ยังมาเพื่อรำลึก "สหาย" ของเขา ที่ชื่อ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งปีนี้ครบรอบการเสียชีวิต ปีที่ 12 พอดี และย้อนมองระบบสุขภาพของไทย ที่จะมาถึงวันที่ทั่วโลก "ยกย่อง" ไม่ได้เลย หากปราศจาก นพ.สงวนโกรันบอกว่า เขาพบกับ นพ.สงวน ครั้งแรกเมื่อราว 30 ปีก่อน ซึ่งในขณะนั้น นพ.สงวนเริ่มสนใจเรื่องการปฏิรูประบบ "สวัสดิการสังคม" และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแล้ว
          
"สงวนในความทรงจำของผมคือ คนที่เป็นมิตร มีอารมณ์ขัน และมองการณ์ไกล ในเวลาที่อยู่ประเทศไทย เราพบปะกันเป็นประจำ โดยในขณะนั้น สวีเดนช่วยไทยทำโครงการ 'ประเมินผลเทคโนโลยี และนโยบายด้านสุขภาพ' ภายใต้ชื่อ TASSIT (Technology Assessment Social Security in Thailand) ซึ่งกลายเป็นองค์กรอย่าง โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ ไฮแทป ในปัจจุบัน" โกรันเล่าย้อนอดีตแน่นอน ในวันนั้น นพ.สงวนเริ่มพูดถึง "วิสัยทัศน์" ของการเริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในไทยแล้ว และนั่นคือราวปี 2534 นับ 10 ปี ก่อนที่โครงการ "30 บาทรักษาทุกโรค" จะเกิดขึ้นจริง"ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าเขา (สงวน) พูดถึงอะไร แล้วจะเป็นไปได้ไหม แต่เขาพาผมไปดูโครงการอยุธยา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แล้วพาไปพบทีมของเขาอย่าง คุณหมอวิโรจน์ (นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขระดับโลก) คุณหมอสมศักดิ์ (นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีต รมช.สาธารณสุข) และได้พบกับ คุณหมอประเวศ (ศ.นพ.ประเวศ วะสี) ผมก็พอเห็นภาพว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้จริง" ศาสตราจารย์ชาวสวีเดนระบุ
          
"การขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการทำด้วยหลักการที่ถูกต้อง และด้วยคนที่ถูกคน ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดี คือมีการทำงานวิชาการสนับสนุน และนำไปเสนอกับผู้มีอำนาจตัดสินใจอย่าง 'นักการเมือง' หรือ 'รัฐบาล' อย่างถูกที่-ถูกเวลา และทำงานจากระดับล่างขึ้นบน ภายใต้ความร่วมมือที่ดี"
          
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ตัดทิ้งไม่ได้ ก็คือบุคลิกของ นพ.สงวนที่สามารถชักชวนทุกคน เข้ามาร่วม "สังฆกรรม" ในนโยบายนี้ได้ ในความเห็นโกรัน หมอสงวนมีทั้งบารมี มีความกระตือรือร้น สามารถชักจูงใจคนอื่นให้เชื่อได้ตลอดเวลา และที่สำคัญคือเขายังมีความเป็นเด็ก เด็กซึ่งไม่เชื่อในความ "เป็นไปไม่ได้""สงวนเป็นคนเรียบง่าย เขาไม่ได้คุยโว เขาไม่ได้พูดมากเกี่ยวกับทฤษฎี เขาก็แค่ลองทำมันไปเรื่อยๆ และทำมันทันที" โกรันเล่าให้ฟังสิ่งต่อมาที่คนไทยรู้กันดี คือ 30 บาทรักษาทุกโรค จากมันสมองของหมอสงวน กลายเป็นนโยบาย "พลิกแผ่นดิน" จากคนไทยซึ่งตกหล่น เข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุขหลายล้านคน ไปสู่การเข้ารักษาตัวในโรคที่ราคาแพงได้ ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเต็มขั้น และกลายเป็นตัวอย่างสำคัญให้ทั่วโลกเห็นถึงความ "เป็นไปได้" ว่าแม้แต่ประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ก็สามารถสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้าได้เช่นกัน
          
"ที่น่าทึ่งก็คือ วิสัยทัศน์ของสงวน เรื่องการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้น ล้ำกว่ายูเอ็น ล้ำกว่าองค์การอนามัยโลก หลายสิบปี" ศาสตราจารย์ชาวสวีเดน เพื่อนรักของหมอสงวนระบุ
          
ถามถึงวิสัยทัศน์ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูเอ็น ในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นได้จริงทั่วโลก ภายใน 10 ปีข้างหน้า โกรันยอมรับว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ "ง่าย" ขนาดนั้น เพราะมีหลายอย่างที่ต้องทำ อย่างการสร้าง "วิสัยทัศน์" ที่ชัดเจน และในแต่ละประเทศก็มีบริบทที่แตกต่าง ไม่สามารถสร้างระบบหลักประกันสุขภาพได้ง่ายขนาดนั้น
          
"เพราะระบบสุขภาพนั้น ซับซ้อนมาก ไม่ใช่แค่เรื่องการรักษาพยาบาลอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม การเงินการคลัง แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ไทย สามารถเป็นตัวอย่างสำคัญให้กับหลายประเทศในเอเชีย เช่น กัมพูชา ลาว หรือประเทศแอฟริกาอื่นๆ ในการเริ่มต้นระบบนี้ โดยเฉพาะการผสานหลายคน-หลายฝ่าย ให้ทำงานด้วยกัน ภายใต้งานวิชาการที่เข้มแข็ง" โกรันกล่าว ขณะเดียวกัน การสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง ก็ต้องสร้าง "ผู้นำ" ที่มีวิสัยทัศน์ และสร้าง "ทีมเวิร์ก" ที่ดี โดยต้องรวมมืออาชีพทั้งในเรื่องระบบสุขภาพ ด้านการประสานงาน หรือด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในละตินอเมริกา หรือในแอฟริกา การสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง ก็เกิดขึ้นภายใต้ทีมแบบนี้เช่นกัน
          
โกรันยกตัวอย่างว่า ไทยเองก็มีทีม "คลังสมอง" ด้านสุขภาพที่เข้มแข็งอย่าง "กลุ่มสามพราน" ที่มี "หมอประเวศ" เป็นผู้นำ และมีคนอย่าง หมอสงวน หมอสุวิทย์(นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ) นพ.สมศักดิ์ หรือ นพ.วิชัย โชควิวัฒน (อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา) รวมอยู่ในทีม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพอยู่ช่วงหนึ่ง
          
เพราะฉะนั้น ส่วนสำคัญของการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็คือ การรวมมันสมองเข้าด้วยกัน สร้างทีมที่เข้มแข็ง และสร้างผู้นำรุ่นใหม่ๆ ที่จะพาระบบสุขภาพก้าวต่อไปข้างหน้า นำไปเสนอกับฝ่ายที่มี "อำนาจตัดสินใจ" อย่างรัฐสภา หรือนักการเมืองได้อย่างมีศิลปะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
          
อย่างไรก็ตาม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในความเห็นของโกรัน ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง เพราะยังมีความท้าทายอีกมากรออยู่
          
"ไม่ว่าจะระบบสุขภาพในยุโรป หรือประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน คือ 'ค่าใช้จ่าย' ในระบบสุขภาพกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ จากสังคมผู้สูงอายุ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ยาใหม่ๆ ที่แพงขึ้น แต่จีดีพีกลับเติบโตน้อยกว่า หากไม่ทำอะไร หลายประเทศจะล้มละลายด้วยกันทั้งนั้น" โกรันระบุเพราะฉะนั้น ในแวดวงนักวิชาการผู้สนใจด้านระบบสุขภาพทั่วโลกจึงหันหัวไปยังการสร้างระบบส่งเสริม สุขภาพ-ป้องกันโรค เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษา ซึ่งนับวันจะสูงขึ้นทุกทีจากจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
          
"เท่าที่ผมเห็นก็คือ ประเทศไทยสร้างระบบนี้อย่างแข็งแรง ตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อน เรื่องกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องยาสูบ ไทยถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมานานแล้ว หรือเรื่องส่งเสริมการออกกำลังกาย ไทยก็ทำมาก่อน เพราะฉะนั้น ความท้าทายก็คือ จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพื่อดึงคนไทยให้มาสนใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น" โกรันกล่าวนอกจากนี้ เขายังเสนอให้ไทย "โฟกัส" ไปยังการผลิตหมอ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข เพื่อลงไปยังพื้นที่ชนบท ลงไปยังชุมชนต่อไป เพื่อสร้าง "การมีส่วนร่วม" กับคนในพื้นที่ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศไม่กี่ประเทศที่ให้นักศึกษาแพทย์จบใหม่ ต้องลงไปเรียนรู้งานในพื้นที่ชนบท
          
โกรันทิ้งท้ายว่า ระบบสุขภาพที่ดี ไม่ใช่เรื่องของการรักษาที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่คือการสนใจผู้ปฏิบัติงานทุกคน บุคลากรสาธารณสุขทุกคน และดึงทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อเดินไปข้างหน้าให้ได้ เพื่อสร้างสังคมที่ "สุขภาพดี" ต่อไปในอนาคต

 

ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 'โกรัน ทอมสัน' มิตรจากสวีเดน รำลึก 'หมอสงวน' ผู้มีวิสัยทัศน์ล้ำหน้า 'ยูเอ็น' 40 ปี