ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ถือเป็นวาระระดับโลก สำหรับการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วงปลายเดือนมกราคม ที่ประเทศไทย
          
ปีนี้ บัน คี มุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกลุ่ม The Elders องค์กรระหว่างประเทศระดับโลก ได้เดินทางไปเป็นองค์ปาฐกในช่วงเปิดงาน เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา โดยปีนี้จัดภายใต้หัวข้อ "Accelerating Progress Towards UHC"หรือเร่ง "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ให้เกิดขึ้นจริงบันกล่าวปาฐกถาว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลได้กระตุ้นให้ทั่วโลก "ตื่นตัว" กับการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปีนี้การประชุมได้เริ่มต้นพอดิบพอดีกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กลายเป็น "ความกังวล" ของนานาชาติอย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ต่างอะไรกับโรคซาร์ส และโรคไข้หวัดนก H5N1 ที่เคยเป็นโรคระบาดเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบสุขภาพที่ยืดหยุ่นจะสามารถปกป้องพลเมืองในประเทศได้ดี ไม่ว่าจะมี "ภูมิหลัง" อย่างไร หรือมี "รายได้" เท่าไหร่"การเอาชนะไวรัสโคโรนา 2019 จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกประเทศร่วมมือกัน ภายใต้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ต่างอะไรกับการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต้องการความร่วมมือของนานาชาติเช่นกัน" อดีตเลขาธิการยูเอ็นระบุ
          
บันบอกอีกว่า ในห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกให้คำมั่นถึง 3 ครั้งกับสหประชาชาติว่าจะทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ให้เกิดขึ้นได้จริง โดยครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2562
          
การประชุมครั้งนั้นรัฐบาลทั่วโลกต่างตั้งเป้าหมายว่า ประเทศของตนเองจะสามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ภายในปี 2573 และจะมีความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการ "ปฏิรูป" ระบบสุขภาพของประเทศตัวเองบันบอกว่า การให้คำมั่นหรือแม้แต่การ "ลงนาม"ว่าจะทำไม่เพียงพอ เพราะล่าสุด องค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกเพิ่งสะท้อนตัวเลขว่า จำนวนเม็ดเงินที่ประชากรทั่วโลกต้องจ่ายเพื่อรักษาพยาบาลยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ
          
นั่นหมายความว่า จะมีคนจำนวนมากทั่วโลกที่ต้อง "ยากจน" และล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล ซึ่งแปลได้เช่นเดียวกันว่า รัฐบาลหลายประเทศไม่ได้บริหารจัดการเพื่อให้ไปถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างถูกวิธี
          
การ "ไปไม่ถึง" ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังส่งผลกระทบกับ "ความมั่นคง" ด้านสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างที่สำคัญคือ คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงยาจำเป็น เพราะยามีราคาแพงเกินไป และหลายครั้งก็ใช้ยาไม่ต่อเนื่องจนเกิด "เชื้อดื้อยา" ระบาดอย่างแพร่หลายขณะเดียวกัน การเติบโตของ "ภาคเอกชน" ในระบบสุขภาพก็ขัดขวางไม่ให้เป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติในเรื่องการกำจัดความยากจน การต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความเท่าเทียมทางเพศไปต่อได้เช่นกัน
          
"เพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมาย แต่ละประเทศต้องลงทุนจำนวนมากในระบบสุขภาพ และสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระดับนโยบายเพื่อให้คนยากจนและประชากรกลุ่มเปราะบางเข้าถึงการบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ข่าวดีก็คือ มีประเทศที่ประสบความสำเร็จหลายประเทศให้ได้เรียนรู้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย" อดีตเลขาธิการยูเอ็นระบุ
          
บันระบุอีกว่า โกรฮาเล็ม บรันด์ลันด์ อดีตนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เคยพูดกับเขาว่า ในอดีตองค์กรระหว่างประเทศรวมถึงประเทศตะวันตกหลายประเทศ "ขัดขวาง" การลงทุนด้านสาธารณสุข และปล่อยให้ภาคเอกชน ประกันสุขภาพเอกชนเติบโตแทน แต่ขณะนี้กระแสทั่วโลกได้เปลี่ยนไป ทุกองค์กรระหว่างประเทศ ทุกสถาบันทางการเงินระดับโลก ล้วน "ปรับตัว" ไปสู่การสนับสนุนให้รัฐบาลฟังเสียงของประชาชนตัวเองแทน ผ่านการลงทุนในระบบสุขภาพ และสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
          
"นั่นเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประเทศพวกเขาแข็งแรง คนจนและคนรวยได้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" บันกล่าวทั้งนี้ การ "เปลี่ยนผ่าน" ระบบสุขภาพจากระบบที่ประชาชนต้องจ่ายเงินเอง ไปสู่ระบบที่ใช้งบประมาณรัฐบาลเป็น "ตัวนำ" นั้น ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านสำคัญที่จะนำไปสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ในหลายประเทศก็ผ่านจุดนี้มาได้แล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ประเทศของบันเริ่มระบบนี้ในปี 2520 อังกฤษ เริ่มต้นในปี 2491 และญี่ปุ่น เริ่มต้นในปี 2504
          
"แต่ความสำเร็จที่น่าประทับใจที่สุดคงหนีไม่พ้นประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นระบบนี้ขึ้นเมื่อปี 2545 ไม่นาน หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วทวีปเอเชีย ไทยเริ่มต้นระบบนี้ ทั้งที่ในเวลานั้นธนาคารโลกเคยเตือนไว้ว่า ไทยจะไม่สามารถ 'แบก' งบประมาณด้านสาธารณสุขให้ครอบคลุมประชากรทุกคนได้ แต่ จิม ยอง คิม อดีตประธานธนาคารโลก เคยพูดไว้ว่า รัฐบาลไทยฉลาดกว่า ในการปฏิเสธคำแนะนำของธนาคารโลก และหลังจากนั้นภายใน 1 ปี ก็อัดฉีดเงินมากกว่าครึ่ง % ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ หรือจีดีพีในปีนั้น เข้าไปสู่ระบบสาธารณสุข ผลก็คือคนไทยทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ครอบคลุมคนไทยเกือบทั้งประเทศทันที" บันระบุ
          
เขาบอกอีกว่า ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็น มีหลายคนเล่าเรื่องความสำเร็จของไทย เพื่อเป็นตัวอย่างว่า การจะปฏิรูประบบสุขภาพนั้น ไม่สำคัญว่าคุณมีจีดีพีมากขนาดไหน
          
"สิ่งที่ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอังกฤษ ทำได้สำเร็จตรงกันก็คือ หากสามารถปฏิรูปเพื่อสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ถูกทาง สิ่งนี้จะกลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญของประเทศ และไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่รัฐบาล ความสำเร็จนี้ก็ยังคงอยู่" อดีตเลขาธิการยูเอ็นกล่าวนอกจากนี้ บันยังชวนให้ประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้วช่วยประเทศที่กำลังเดินหน้าสู่ช่วง "เปลี่ยนผ่าน" สร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของตัวเอง โดยเฉพาะประเทศที่ยังอัดงบประมาณลงไปยังระบบสุขภาพไม่ถึง 1% ของจีดีพี
          
เขาให้ความเห็นว่า ประเทศเหล่านี้ควรจะเพิ่มการลงทุนด้านสาธารณสุขอย่างน้อย 2-3% ในทศวรรษหน้า รวมถึงสร้างชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยให้ความสำคัญกับระบบสุขภาพปฐมภูมิ และที่สำคัญคือไม่ควรมีการเรียกเก็บเงิน ณ จุดบริการ เพื่อเพิ่มการเข้าถึง
          
"ส่วนใหญ่ประเทศที่ใช้จ่ายด้านระบบสุขภาพไม่เพียงพอจะอยู่ในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาเหนือ และประเทศแถบเอเชียใต้ อย่างไรก็ตาม บางประเทศในกลุ่มนี้ก็มีพัฒนาการในการเพิ่มงบลงไปในระบบที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นศรีลังกา หรือรวันดา" บันระบุขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ ต้องทำหลักประกันสุขภาพให้เป็นเรื่อง "เจตจำนงทางการเมือง" ซึ่งทุกภาคส่วนเห็นพ้องกัน แบบที่ไทย กับจีนทำมาก่อนหน้านี้ โดยหลักการที่จำเป็นก็คือ ต้อง "กระตุ้น" ให้บรรดาผู้นำทั่วโลกทั้งหลายเห็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลบวกไปทั้งด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ
          
"เรื่องที่น่ายินดีก็คือ ผู้นำประเทศอย่างอินโดนีเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย หรือสหรัฐอเมริกา ต่างก็เห็นตรงกันว่าจะต้องส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จ" อดีตเลขาธิการยูเอ็นกล่าว และว่า ทุกครั้งที่มีโอกาส จะบอกกับผู้นำทั่วโลกรุ่นใหม่ๆ เสมอว่า คุณต้องทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จให้ได้ และเมื่อใดก็ตามที่คุณต้องการความช่วยเหลือ พวกเราพร้อมจะสนับสนุนในทุกเรื่อง เพื่อทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นจริง
          
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถพัฒนาประเทศได้ในหลายทิศทาง อย่างที่ เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ และผู้ก่อตั้งองค์กร The Elders เคยพูดไว้ว่า "เรื่องสุขภาพ ไม่ควรถูกตั้งคำถามเรื่องเงิน เพราะแท้จริงแล้วคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน"
          
ฉะนั้น ในปีนี้ ปีที่เริ่มต้นทศวรรษใหม่ จึงเป็นโอกาสอันดีในการทำวิสัยทัศน์เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เป็นจริง
          
"ขอเพียงแค่จับมือกันทำให้โลกนี้มีสุขภาพที่ดีขึ้น และแข็งแรงมากยิ่งขึ้น" อดีตเลขาธิการยูเอ็นกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : น.7 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 'หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า'แบบไทย คำชมจาก'บัน คี มุน' ความสำเร็จที่ทั่วโลกถือเป็นตัวอย่าง