ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์การระบาด "ไวรัส โคโรนา 2019" ยังแพร่ระบาดสร้างความประหวั่นในหลายประเทศต่อเนื่อง ในมุมเศรษฐกิจประเมินกันว่าผลกระทบทางลบครั้งนี้มีมากกว่าเมื่อครั้งเกิดการแพร่ระบาดโรค "ซาร์ส" ในปี 2003 อย่างน้อย 3 เท่าตัว
          
17 ปีก่อน "ซาร์ส" สร้างความเสียหายกับระบบเศรษฐกิจโลกสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ฯ ผลจากโคโรนาไวรัส 2019 ครานี้อาจสูงถึง 160,000 ล้านดอลลาร์ฯทีเดียว

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เริ่มติดต่อสู่มนุษย์และระบาดที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้
          
"รัฐบาลได้เร่งดำเนินมาตรการต่างๆอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ไขปัญหาแล้ว โดยหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจีนจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ได้อย่างแน่นอน"
          
ในส่วนของประเทศไทยยังมีรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลวันที่ 6 ก.พ.2563 พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนายืนยันสะสม 25 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน ในจำนวนนี้หายป่วยและแพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว 9 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เหลืออาการดีขึ้นและยังไม่พบผู้เสียชีวิต
          
"เรานับว่ายังอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงที่ได้ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินเป็นระดับ 3 แล้ว รวมถึง...บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ทุ่มเทในการทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการคัดกรองและเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง"
          
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะหนึ่งในหน่วยงานด้านสาธารณสุข ขอร่วมส่งกำลังใจไปยังชาวจีนในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ของไทยในการยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรนา รวมถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ...
          
"ชาวจีน...สู้ๆ บุคลากรสาธารณสุขไทย...สู้ๆ"
          
เวทีย่อยในงานประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563 เรื่อง ด้วยความรำลึกถึง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ "แนวปฏิบัติเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : การเร่งรัดความก้าวหน้าเพื่อมุ่งสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ดร.ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยพายัพ ระบุว่าภาคประชาชนของไทยมีบทบาทค่อนข้างสูงในการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
          
...มีประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวยาวนาน มีความเข้มแข็ง และมีพลังต่อรองมาก
          
"ไม่มีก้าวเดินใดในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่มีภาคประชาชนเกี่ยวข้อง การมีส่วนร่วมอยู่ในทุกขั้นตอนของการพัฒนาระบบมีส่วนร่วมตั้งแต่การร่างกฎหมาย และยังมีตัวแทนนั่งอยู่ในบอร์ด"
          
การมีส่วนร่วมพัฒนาถึงระดับที่ภาคประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของระบบ...ก่อนที่จะเกิดพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 ภาคประชาชนได้รณรงค์ให้เกิดการเข้าถึงการรักษาในโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคเอดส์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในช่วงทศวรรษที่ 2520-2530
          
เมื่อประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญปี 2450 ซึ่งการันตีสิทธิด้านสุขภาพแก่ประชาชนไทย และยังเปิดช่องให้ประชาชนเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่รัฐสภา จึงเปรียบเสมือน "หน้าต่างที่เปิดออก" ให้ภาคประชาชนสามารถเสนอร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่งให้การสนับสนุน
          
...นำไปสู่การคลอด "พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ" ในที่สุด
          
ปัจจุบัน "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ครอบคลุมประชาชนมากกว่า 48 ล้านคน เมื่อรวมกับผู้มีสิทธิภายใต้กองทุนประกันสังคมและกองทุนสวัสดิการข้าราชการแล้ว...
          
ทำให้ประชากรชาวไทยมากกว่าร้อยละ 99 มีหลักประกันสุขภาพ
          
"อย่างไรก็ดี เราก็ยังมีความท้าทายจำนวนมาก" ดร.ภญ.อุษาวดี ว่า "เราจะทำอย่างไรที่จะสำเร็จและบรรลุเป้าหมายที่จะสร้างระบบสุขภาพที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว"
          
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) เสริมว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้ยึดหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มประชากรเปราะบาง เช่น ผู้ต้องขัง พระภิกษุสงฆ์ คนไร้รัฐ และกลุ่มชนเผ่า
          
"เรายังเหลือคนไม่มากที่เข้าไม่ถึงสิทธิ ทำอย่างไรจะเอาเขาเข้ามาในระบบ นี่เป็นความท้าทายอย่างมาก เช่น ในกลุ่มมานิ...ชนเผ่าทางตอนใต้ของประเทศไทย เราพยายามจัดทำฐานทะเบียน และจัดงบประมาณให้ดูแลสุขภาพของเขาในพื้นที่"
          
รัตนา เทวี (Ratna Devi) สมาชิกบอร์ดองค์กรพันธมิตรผู้ป่วยนานาชาติ (International Alliance of Patients' Organization) บอกว่า คนส่วนมากจะพูดถึงระบบสุขภาพ เช่น ความต้องการโรงพยาบาล หรือบริการสุขภาพจากภาครัฐในพื้นที่หนึ่งๆ แต่ฉันคิดว่าเราต้องพูดถึงระบบสุขภาพจากฝั่ง "ผู้ป่วย"
          
เพราะพวกเราต่างต้องเป็น "ผู้ป่วย" ในวันใดวันหนึ่ง
          
และ... "สุขภาพ" คือการตัดสินใจทาง "การเมือง" ดังนั้น...เสียงของผู้ป่วยจึงมีความสำคัญในการตัดสินใจทางการเมืองที่มีผลต่อระบบสุขภาพผู้ป่วยมีคุณค่าเพราะมีทัศนคติ ความถนัด และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ พวกเขาสามารถบอกได้ว่า..."ระบบสุขภาพที่ดี" เป็นเช่นไร
          
มลพิษจาก "ฝุ่นจิ๋วพิษ PM 2.5" เป็นอีกเรื่องร้อนสำคัญใหญ่ยิ่งที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก นับตั้งแต่ความเสียหายทางสังคมจากการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือแม้แต่การเสียชีวิตของประชากรก่อนวัยอันควร
          
นพ.ศักดิ์ชัย เลขาฯสปสช.บอกอีกว่า จากที่ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันที่ยังคงวิกฤติอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสภาวะแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยตรง
          
โดยเฉพาะต่อ "ระบบทางเดินหายใจ" ที่เป็นผลกระทบระยะสั้น... ฝุ่นควันดังกล่าวมีฝุ่นละอองขนาดเล็กมากที่สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านระบบทางเดินหายใจและส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคตาอักเสบ โรคผิวหนังอักเสบ
          
โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง อาทิ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด และโรคภูมิแพ้ รวมถึงผู้ต้องทำงานกลางแจ้ง
          
ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ต่างต้องร่วมเร่งแก้ไขปัญหานี้ ซึ่ง "กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" มีกลไกสำคัญเพื่อร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นควันนี้ได้ คือ...
          
"กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่" หรือที่เรียกว่า "กองทุนสุขภาพตำบล"
          
วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในด้านสุขภาพให้กับประชาชน นอกจากการสนับสนุน...ส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขยังร่วมแก้ไขกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ตลอดจนปัญหาสาธารณสุขตามความจำเป็นเหมาะสม ทันต่อสถานการณ์
          
"พลังกองทุนสุขภาพท้องถิ่น" จาก อปท.7,738 แห่งทั่วประเทศ ผ่านงบฯกว่า 4,000 ล้านบาท จึงเป็นอีกความหวัง...สู้! วิกฤติฝุ่นพิษ PM 2.5 สาธารณภัยร้ายแรงให้ทุเลาเบาบางลงได้.
          
ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐเอกชน ประชาชนต่างต้องร่วมเร่งแก้ไขปัญหานี้ซึ่ง "กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" มีกลไกสำคัญเพื่อร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นควันนี้ได้ คือ..."กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่" หรือที่เรียกว่า "กองทุนสุขภาพตำบล"

ที่มา : สกู๊ปหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 สปสช.เกราะคุ้มภัย ไวรัสอู่ฮั่น-ฝุ่น PM 2.5