ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

10 ข่าวเด่น หลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทย ปี 61 : งบกองทุนปี 62 เพิ่มขึ้น กำหนดอัตราจ่ายขั้นต่ำผู้ป่วยใน 8,050 บาทต่อ AdjRW ปรับหลักเกณฑ์รองรับผ่าตัดวันเดียวกลับ, เพิ่มสิทธิประโยชน์, รุกดูแล “กลุ่มเปราะบาง” เข้าถึงบริการสุขภาพ, WHO ชื่นชมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย, ส่งยาต้านพิษช่วยผู้ป่วยในประเทศไนจีเรีย, รับรางวัลกองทุนหมุนเวียน, IMF หารือ สปสช.เล็งดึงข้อมูลหลักประกันสุขภาพไทยประเมินเศรษฐศาสตร์ภูมิภาค, ความสำเร็จ 10 ปี ล้างไตผ่านช่องท้อง, UHC Day 2018 การลงทุนด้านสุขภาพ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และดึง รพ.เอกชน รุกส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคปี 62

จากการบริหาร “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สรุป 10 ประเด็นเด่น จากผลดำเนินงานที่ถูกนำเสนอเป็นข่าว เพื่อเป็นการย้อนทบทวนความเคลื่อนไหวในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ดังนี้

1.งบกองทุนปี 62 เพิ่มขึ้น กำหนดอัตราจ่ายขั้นต่ำผู้ป่วยใน 8,050 บาทต่อ AdjRW ปรับหลักเกณฑ์รองรับผ่าตัดวันเดียวกลับ

การพิจารณางบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกองทุนบัตรทอง รัฐบาลได้อนุมัติเพิ่มเติมงบประมาณสู่กองทุนทุกปี ตามการปรับขึ้นเงินเดือนและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม โดยปี 2562 ครม.ได้อนุมติงบตามที่ สปสช.นำเสนอ 181,584,093,700 บาท เพิ่มจากปี 2561 ที่รวมกับงบกลางที่เพิ่มเติมสภาพคล่องให้ รพ. 175,559 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6,024 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 166,445.22 ล้านบาท คิดเป็น 3,426.56 บาท/ประชากร เพิ่มจากปี 2561 จำนวน 143.45 บาท/ประชากร

การบริหารงบบัตรทองปีนี้ สปสช.ได้สร้างความมั่นใจให้กับหน่วยบริการเพิ่มขึ้น ปรับแนวทางการจ่ายบริการผู้ป่วยในโดยกันเงินงบระดับประเทศ 100 ล้านบาทจากงบผู้ป่วยใน เพื่อเกลี่ยค่าน้ำหนักสัมพันธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (AdjRW) พร้อมกำหนดอัตราจ่ายขั้นต่ำคงตลอดทั้งปีจำนวน 8,050 บาทต่อ AdjRW

นอกจากนี้เพื่อสนับสนุนการลดความแออัดของผู้ป่วยใน ยังได้ปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายชดเชยค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขรักษาพยาบาลเพื่อรองรับและได้ออกเป็นประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ พ.ศ. 2561 ผลจากการเบิกจ่าย 11 กลุ่มโรค (ม.ค.-20 ก.ย. 61) มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 2,176 ครั้ง ลดวันนอนของผู้ป่วยใน รพ.ถึง 3,826 วัน

2.เพิ่มสิทธิประโยชน์ยาและถุงทวารเทียม

ปี 2561 บอร์ด สปสช.ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น โดยมีรายการยาบัญชี จ.(2) ที่เพิ่มเติมปีนี้ ได้แก่ ยาราลทิกราเวียร์ เพื่อขยายการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก, ยาบีวาซิซูแมบ รักษาโรคหลอดเลือดตาในจอตาอุดตัน, ยากดฮอร์โมน 2 รายการคือ ยาลูโปรเรลิน 11.25 mg inj. และยาทริปโทเรลิน 11.25 mg inj. ใช้รักษาภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย ร่างกายหยุดเติบโตก่อนวัย ทำให้ความสูงสุดท้ายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น 5-10 ซม. การเพิ่มสิทธิประโยชน์ตรวจยีน HLA ในผู้ป่วยโรคลมชักก่อนเริ่มยาคาร์บามาซีปีน ป้องกันผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง ลดความเสี่ยงแพ้ยาไม่พึงประสงค์กลุ่มสตีเวนส์จอห์นสัน ซินโดรม

การเพิ่มสิทธิประโยชน์ถุงทวารเทียม เพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ได้รับการผ่าตัดรักษา เป็นผลความร่วมมือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันพลาสติก ในการวิจัยและพัฒนาเม็ดพลาสติก Compound LLDPE ชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติ เก็บกลิ่น กันการรั่วซึม สามารถนำมาผลิตถุงทวารเทียมได้ ลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศ ถือเป็นนวัตกรรมฝีมือคนไทยสู่คนไทย ซึ่งประโยชน์ที่เกิดนี้ สปสช.ได้ขยายเป็นสิทธิประโยชน์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย

3.รุกดูแล “กลุ่มเปราะบาง” เข้าถึงบริการสุขภาพ

จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) มุ่งเน้นให้ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ปี 2561 สปสช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายความครอบคลุม ดูแลคนไทยให้เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ดังนี้

กลุ่มชาวมานิ ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของไทย มีถิ่นอาศัยอยู่ภาคใต้ โดยกรมการปกครองและ สปสช.เขต 12 สงขลา ได้ร่วมมือเพื่อให้เกิดการรองรับสถานะคนไทย โดยมีชาวมานิได้รับบัตรประชาชนและสิทธิบัตรทองแล้ว 313 คน จาก 500 คน และด้วยที่ชาวมานิมีวิถีชีวิตย้ายถิ่นตามห่วงโซ่อาหาร จึงอนุมัติให้สามารถเข้าบริการที่หน่วยบริการสาธารณสุขระบบบัตรทองที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง

กลุ่มผู้ต้องขัง สปสช.ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพผู้ต้องขังให้เข้าถึงสิทธิบัตรทอง โดยร่วมกันจัดระบบตั้งแต่การสำรวจสิทธิผู้ต้องขังที่มีสิทธิ การจดทะเบียน การตรวจคัดกรอง การรักษาและฟื้นฟู ทำให้ผู้ต้องขังทั่วประเทศเข้าถึงบริการสุขภาพ พร้อมยกสถานพยาบาลในเรือนจำเป็นหน่วยบริการระบบบัตรทองและส่งต่อ ทำให้ได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพื่อดูแลผู้ต้องขัง โดยปี 2561 นี้ สปสช.และกรมราชทัณฑ์ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงสถานพยาบาลเรือนจำกลางบางขวาง เป็นหน่วยบริการระบบบัตรทอง

กลุ่มพระสงฆ์ จากที่ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติประกาศเมื่อปี 2560 ในปี 2561 สปสช.มีนโยบายสนับสนุนการขับเคลื่อนให้พระสงฆ์เข้าถึงบริการสุขภาพจำเป็น โดยตั้งคณะทำงานดำเนินการและให้ สปสช.เขตพื้นที่เร่งสำรวจเลข 13 หลัก พร้อมลงทะเบียนสิทธิบัตรทองให้พระภิกษุสงฆ์ในพื้นที่ พร้อมประสานกับกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นดำเนินงานตามบริบทที่เหมาะสมของพื้นที่

4.WHO ชื่นชมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย

17 ปีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ปรากฎหลักฐานเชิงประจักษ์ ทั้งการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน การลดความยากจนจากค่าใช้จ่ายสุขภาพ ส่งผลให้ไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ จากความสำเร็จนี้ ในปีที่ผ่านมา นายทีโดรส อัดฮานอม ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและลงพื้นที่ ซ.พระเจน ชุมชนบ่อนไก่ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. เยี่ยมบ้านผู้ป่วยล้างไตช่องท้อง โดย WHO มีนโยบายขับเคลื่อนให้แต่ละประเทศสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศตนเอง โดยสำเร็จเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2573 ทั้งนี้ยังชื่นชมไทยที่กล้าหาญสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนขณะที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา สิ่งนี้ยืนยันว่าไม่ต้องเป็นประเทศร่ำรวยก็สามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้

นอกจากนี้ในช่วงปลายปี พญ.ซอมญ่า สะวามินาทาน รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้มาประเทศไทยเช่นกัน โดยหารือกับไทยถึงความร่วมมือในการถ่ายทอดผลสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยให้โลกเรียนรู้

5.ไทยส่งยาต้านพิษช่วยผู้ป่วยในประเทศไนจีเรีย 

การดูแลประชาชนให้เข้าถึงยาจำเป็นภายใต้กองทุนบัตรทอง ในกลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษ สปสช.ได้ร่วมกับศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี พัฒนาระบบการเข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษ ไม่เพียงช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศ แต่ในปี 2561 ยังได้รับการประสานจากองค์การอนามัยโลก ขอให้ไทยช่วยเหลือผู้ป่วยชาวไนจีเรีย 2 ราย ที่ได้รับพิษโบทูลินัมท็อกซิน

ทั้งนี้ สปสช.ได้ประสานองค์การเภสัชกรรมและผู้เกี่ยวข้อง จัดส่งยาโบทูลินัมแอนตีท็อกซิน 4 หลอดไปประเทศไนจีเรีย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 และผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไนจีเรียได้รับยาในวันถัดมา เป็นการประสานจัดส่งยาภายใน 3 วัน ทำให้ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันเวลา

6.สปสช.รับรางวัลกองทุนหมุนเวียน

จากการบริหารจัดการกองทุนบัตรทองอย่างมีประสิทธิภาพ ปี 2561 สปสช.ได้รับคัดเลือกจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง รับมอบรางวัลกองทุนหมุนเวียนถึง 2 รางวัล จาก 6 ประเภทรางวัล คือ “รางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น” และ “รางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น” โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. เข้ารับรางวัลจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นับเป็นอีกหนึ่งรางวัลที่สะท้อนความสำเร็จของ สปสช.

ทั้งนี้ สปสช.เป็นหน่วยงานที่ได้รับรางวัลกองทุนหมุนเวียนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 ยกเว้นในปี 2560 เท่านั้น เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบที่ผลปรากฎความโปร่งใส และยังได้รับรางวัลกองทุนหมุนเวียนเกียรติยศ 2 ครั้ง เป็นรางวัลมอบให้องค์กรที่ได้รับรางวัลกองทุนหมุนเวียนดีเด่นต่อเนื่อง 5 ปี

7.IMF หารือ สปสช.เล็งดึงข้อมูลหลักประกันสุขภาพไทยประเมินเศรษฐศาสตร์ภูมิภาค

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่เพียงแต่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจครัวเรือนและประเทศ ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ครัวเรือนมีเม็ดเงินเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต รวมถึงสร้างรายได้ จากผลสำเร็จที่เกิดขึ้น ปีที่ผ่านมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) โดย Mr.Manrique Saenz นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส (Senior Economist), ADP (Asia and Pacific Department), Mr.Yiqun Wu นักเศรษฐศาสตร์ (Economist), ADP และ Mr.Kaweevudh Sumawong ที่ปรึกษาอาวุโส (Senior Advisor) Southeast Asia Voting Group Office of the Executive Director มายัง สปสช.ขอข้อมูลการดำเนินหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อนำไปประกอบการประเมินทางเศรษฐศาสตร์ประจำปีของกองทุน IMF ในภูมิภาค

ทั้งนี้ IMF ได้ให้ความสนใจต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดยเฉพาะผลลัพธ์ที่มีต่อเศรษฐศาสตร์มหภาค เช่น พฤติกรรมใช้จ่าย พฤติกรรมบริโภค พฤติกรรมการออม ทั้งช่วงก่อนและหลังที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

8.ความสำเร็จ 10 ปี นโยบายล้างไตผ่านช่องท้อง

จากนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเริ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2551 จนถึงปี 2561 เป็นเวลา 10 ปี 6 องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการล้างไตผ่านช่องท้อง ประกอบด้วย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมพยาบาลโรคไต ชมรมโรคไตเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมจัดประชุมวิชาการ “หนึ่งทศวรรษการพัฒนาคุณภาพบริการล้างไตผ่านช่องท้อง”

จากข้อมูลย้อนหลังปี 2551 ที่เริ่มนโยบายนี้ ขณะนั้นมีผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 1,198 ราย ต่อมามีผู้รับบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 24,244 ราย ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ลดอัตราการนอน รพ.และเสียชีวิตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยอัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องปัจจุบันน้อยกว่าร้อยละ 9.2 ต่อปี นับเป็นการก้าวข้ามอุปสรรค ทั้งการจัดการ ทัศนคติ และงบประมาณ โดยความร่วมมือทุกฝ่ายทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง

9.UHC Day 2018 การลงทุนด้านสุขภาพ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นับเป็นงานใหญ่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากที่สมัชชาสหประชาชาติ มีมติรับรองให้วันที่ 12 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” (International UHC Day) เพื่อให้นานาประเทศร่วมผลักดันสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในปี 2573 ปีนี้องค์การอนามัยโลกได้รณรงค์ชูประเด็น “รวมพลังเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ “UNITE FOR UNIVERSAL HEALTH COVERAGE” กระตุ้นให้ประเทศต่างๆ รวมพลังขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศตนเอง

ในส่วนของประเทศไทย แม้ว่าได้บรรลุการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีผลงานเชิงประจักษ์ แต่การขับเคลื่อนเพื่อให้ยั่งยืนยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นประเทศไทยได้จัดงาน UHC Day ภายใต้ประเด็น “การลงทุนด้านสุขภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการลงทุนด้านสุขภาพที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยการเฉลิมฉลอง UHC Day กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และ สปสช. ได้ร่วมจัดประชุมวิชาการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และด้วยปีนี้ตรงกับงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดพิธีเฉลิมฉลอง “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561 

10.สปสช.จับมือ สปส.ดึง รพ.เอกชน รุกส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคปี 62

ตามที่คณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 คณะที่ 5 องค์ประกอบ 5.2 การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบการบูรณาการเพิ่มการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคคนไทยทุกสิทธิในปี 2562 โดยปรับรูปแบบชดเชยค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามราคากลางที่กำหนด (Fee Schedule) 8 รายการ ได้แก่

1.ฝากครรภ์ 2.ตรวจยืนยันโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์และสามี 3.ตรวจคัดกรองดาว์นซินโดรม (Down syndrome) ในหญิงตั้งครรภ์ 4.ตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในเด็กแรกเกิด 5.คุมกำเนิดกึ่งถาวร (ใส่ห่วง/ยาฝัง) ป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในเด็กวัยรุ่น อายุ 16-20 ปี 6.คุมกำเนิดกึ่งถาวร (ใส่ห่วง/ยาฝัง) ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึ่งประสงค์ในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 20-59 ปี หลังยุติการตั้งครรภ์ 7.ป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 8.ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ในหญิงอายุ 30-59 ปี ค้นหาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้น ลดภาระโรคและค่าใช้จ่ายในการรักษาระยะยาว

ทั้งนี้ประชาชนเข้ารับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อบรรลุเป้าหมาย สปสช.ได้ประสานกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดึง รพ.เอกชน  78 แห่งในระบบ สปส.เข้าร่วม เพิ่มความครอบคลุมการให้บริการ ในจำนวนนี้เป็น รพ.เอกชน นอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 40 แห่ง ซึ่ง สปสช.ร่วมกับ สปส.ได้จัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์ดำเนินการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญของการบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ