ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากการฉันอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ และการขาดการมีกิจกรรมทางกายของ “พระสงฆ์” ส่งให้แนวโน้มการอาพาธของพระสงฆ์สูงขึ้น โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรคที่พระสงฆ์และสามเณรอาพาธมาเข้ารับการรักษามากที่สุด คือ โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง และข้อเข่าเสื่อม ตามลำดับ

การดูแลสุขภาวะของพระสงฆ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2560 พระพรหมวชิรญาณ ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม (มส.) จึงได้ประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 ซึ่งกำหนดให้เรื่อง “สุขภาวะพระสงฆ์” เป็นนโยบายสำคัญของประเทศที่ทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน ชุมชน และสังคม จะมาร่วมผลักดันและขับเคลื่อน

ภายในงานประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ดังกล่าว มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ลงนามประกาศเจตนารมณ์ ร่วมกับคณะสงฆ์ หน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นับเป็น “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์” ฉบับแรกของประเทศไทย ที่จะมาช่วยกำหนดแนวทางการทำงานสุขภาวะพระสงฆ์อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มีหลักปฏิบัติประกอบด้วย 5 หมวด 37 ข้อ คือ

หมวดที่ 1 ปรัชญาและแนวคิดหลักของธรรมนูญสุขภาพของพระสงฆ์แห่งชาติ 

หมวดที่ 2 พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพของตนเองตามหลักพระธรรมวินัย 

หมวดที่ 3 ชุมชนและสังคมกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย  

หมวดที่ 4 บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม 

และหมวดที่ 5 การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ

สำหรับที่มาที่ไปของ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” นี้ เริ่มจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 มีฉันทามติเรื่อง พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนวัดส่งเสริมสุขภาพ ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์และชุมชน พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับพระสงฆ์ให้ทั่วถึง ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงการถวายอาหารที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพพระสงฆ์ สนับสนุนให้พระสงฆ์เป็นแกนนำในการดูแลสุขภาพตนเอง พระสงฆ์ในพื้นที่ และสุขภาวะชุมชน โดยมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัยและสถานการณ์ด้านสุขภาพ และให้บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะไว้ในหลักสูตรต่างๆ ของพระสงฆ์

ต่อมาจึงมีการตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ขึ้น โดยมี พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรรมการ มส. และนายฐากูร  ดิษฐอำนาจ เป็นที่ปรึกษา นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งวันที่ 1 มิ.ย. 2559 คณะทำงานฯ มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความรู้ 2.ด้านการบริหารข้อมูล 3.ด้านการพัฒนา 4.ด้านการบริการสุขภาพและสวัสดิการ และ 5.ด้านการวิจัยและพัฒนาชุดความรู้รูปแบบต่างๆ ซึ่งในด้านการพัฒนา ระบุว่า ให้มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ที่สามารถใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ โดยใช้หลักการสำคัญ คือ “ทางธรรมนำทางโลก”

จากนั้นจึงเกิดการยกร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. ...  ขึ้น โดยมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เป็นองค์กรประสานหลัก พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่าง ได้แก่ กรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของ มส. มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) สธ. พศ. สปสช. สสส. และ สช. โดยมีนักวิชาการร่วมทำงาน ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น 5 เวที จากเวที 4 ภาค และคณะสงฆ์ธรรมยุต จากนั้นจึงเสนอต่อคณะกรรมการด้านสาธารณสงเคราะห์ของ มส. ซึ่งมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2560 รับเข้าเป็นแผนงานด้านสาธารณสงเคราะห์ของ มส. และนำไปประกาศใช้ในวันที่ 20 ธ.ค. 2560 ในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 และนำเสนอธรรมนูญฯ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ มส.เพื่อทราบ

ทั้งนี้ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2560 หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงเร่งดำเนินการทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนมีอยู่ 5 ประเด็นหลัก คือ

1.การจัดทำระบบฐานข้อมูลพระสงฆ์ เพื่อให้ทราบข้อมูลวัดและพระสงฆ์ทั่วประเทศ และเชื่อมโยงข้อมูลพระสงฆ์เข้ากับสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพ โดยมีการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดสำหรับพระสฆ์ 

2.การจัดให้มีพระคิลานุปัฏฐากประจำวัด หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) คอยช่วยเหลือดูแลพระสงฆ์อาพาธ สร้างเสริมสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงคุกคามสุขภาพพระสงฆ์ โดยมีการอบรมทักษะการดูแลสุขภาพให้แก่พระสงฆ์ ซึ่งจะขยายให้มีครอบคลุมทั่วประเทศ

3.การดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเน้นสร้างเสริมสุขภาพพระสงฆ์และสร้างอนามัยสิ่งแวดล้อมของวัดที่เอื้อต่อสุขภาพ เช่น มีกุฏิสงฆ์อาพาธ การดูแลพระสงฆ์ที่อยู่ภาวะติดเตียง 

4.การถวายความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพของพระสงฆ์ การสื่อสารเกี่ยวกับการอุปัฏฐากพระสงฆ์ให้แก่ประชาชน ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่

และ 5.การดำเนินงานในพื้นที่ให้เห็นเป็นรูปธรรม ที่หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้ง มหาเถรสมาคม มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม  สปสช. สสส. มจร. พศ. กรมการแพทย์ กรมอนามัย และ สช. ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการกันอยู่ โดยจะมีกำหนดเป้าหมายร่วมและการบูรการการการทำงานร่วมกัน

นอกจากการขับเคลื่อนดังกล่าวแล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์กลายเป็นเรื่องสำคัญ คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2561 ให้มีการขยายผลขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ในพื้นที่ทั่วประเทศรวมถึงในสามจังหวัดชายแดนใต้ และให้ สช. หารือกับกรมการศาสนา เพื่อหาแนวทางการพัฒนาการสร้างสุขภาวะในศาสนาอื่นๆ ด้วย ซึ่งตัวแทนจากศาสนาต่างๆ เห็นว่า เป็นเรื่องดีที่มีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ขึ้นมา และมีความสนใจที่จะทำงานด้านการสร้างสุขภาวะในศาสนาของตนเอง โดยจะนำเรื่องไปหารือกับผู้นำศาสนา และศาสนิกในแต่ละศาสนา และจะนำมาแจ้งกับกรมการศาสนา เพื่อพัฒนาความร่วมมือกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อเร่งรัดโครงการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงสั่งการให้ใช้ฐานงาน 1 วัด 1 โรงพยาบาล ในการขับเคลื่อน ซึ่ง สธ. ได้กำหนดให้โรงพยาบาลรัฐสังกัด สธ.จับคู่ดูแลสุขภาพกับวัดกำหนดเมนูกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพทั้งการตรวจคัดกรองสุขภาพ การถวายความรู้สงฆ์ การสร้างอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดีภายในวัด รวมถึงการให้ความรู้ประชาชนที่มารักษาที่โรงพยาบาลให้เข้าใจถึงอาหารสุขภาพที่ถวายสงฆ์ ต้องหลีกเลี่ยงหวาน มัน เค็ม เป็นต้น โดย สธ.ยังวางแผนขยายไปสู่ 1 วัด 1 รพ.สต. และนำทีมสหวิชาชีพร่วมกับ อสม. ปั่นจักรยานเยี่ยมวัดในชุมชนต่างๆ เพื่อตรวจสุขภาพพระสงฆ์และถวายความรู้ เช่น การคัดแยกขยะภายในวัด เป็นต้น

นอกจากนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนเกิดผลครบวงจร ที่ประชุมเห็นควรเชื่อมโยงโครงการ 1 วัด 1 โรงพยาบาล ร่วมกับ “การขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมโดยพลัง บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) สู่สังคมคุณธรรมที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ซึ่งสนับสนุนบทบาทพระสงฆ์ในการพัฒนาชุมชน โดยให้ “ศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์” (ศอพ.) ที่มีอยู่ 4,000 แห่งทั่วประเทศ ขยายหน้าที่ไปสู่การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม รักษามรดกภูมิปัญญาไทย และฝึกอาชีพ ช่วยให้วัดกลับมาเป็นเสาหลักของชุมชนและสังคมต่อไปเป็นการเร่งขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์สู่การปฏิบัติในพื้นที่

ปัจจุบัน จากข้อมูลวันที่ 13 ก.ค. 2561 มีวัดในพื้นที่เป้าหมาย 894 แห่ง จับคู่กับโรงพยาบาล 683  แห่ง และในระยะที่ 2 มีเป้าหมายขยายการดำเนินการไปยัง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) หรือ จับคู่ 1 วัด 1 รพ.สต. ขณะนี้มีวัด 9,753 แห่ง จับคู่กับ รพ.สต.แล้ว 6,322 แห่ง

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยังเห็นควรให้มีกิจกรรมการลงพื้นที่เพื่อ “คิกออฟ” การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ทั่วประเทศ ตามรูปแบบ 1 วัด 1 โรงพยาบาล/รพ.สต. ประสานโครงการพลัง บวร ในวันที่ 22 ส.ค. 2561 ที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อสร้างความเข้าใจและสื่อสารการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ให้แก่พระสงฆ์ หน่วยงาน และประชาชนระดับพื้นที่ โดยมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกับขับเคลื่อนระดับพื้นที่ที่บูรณาการระหว่างงาน 1 วัด 1 รพ./รพ.สต. วัดส่งเสริมสุขภาพ โครงการพลังบวร การจัดทำฐานข้อมูลพระสงฆ์ และ การพัฒนาพระคิลานุปัฏฐาก ที่ตั้งเป้าหมายขยายผลไม่น้อยกว่า 5,000 วัดเมื่อสิ้นปี 2562

ขอบคุณที่มา สำนักข่าวสร้างสุข สสส.