ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลุกเครือข่ายประชาชน9ด้าน เป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพ

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้รับบริการ ปี 2561 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายภาคประชาชน 9 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเด็กหรือเยาวชน ด้านสตรี ด้านผู้สูงอายุ ด้านคนพิการหรือผู้ป่วยจิตเวช ด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรังอื่น ด้านผู้ใช้แรงงาน ด้านชุมชนแออัด ด้านเกษตรกร และด้านชนกลุ่มน้อย เพื่อจัดทำข้อเสนอและทบทวนบทบาทของเครือข่าย ในระบบหลักประกันสุขภาพ พร้อมกันนี้ยังได้มีการเสวนาในหัวข้อ "ทำไมถึงกำหนดให้มีเครือข่ายประชาชน 9 ด้านใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545" ด้วยทั้งนี้ มีทั้งกรรมการและอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภาคประชาชน ร่วมแสดงความคิดเห็น

นิมิตร์ เทียนอุดม อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Coverage: UC) มาจากการที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ พยายามผลักดันให้เกิดระบบนี้ โดยเดินสายพูดคุย ประชุมหารือกับเครือข่าย ภาคประชาชน ถือเป็นจุดเริ่มของการทำให้เกิดการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบ "จุดเริ่มต้นคือ เราสู้เพื่อให้มีกฎหมาย แล้วสู้ว่าในกฎหมายนั้นต้องมีที่ยืนของภาคประชาชนทั้ง 9 ด้าน วิธีคิดคือ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบ มีกลไกการได้มาของแต่ละด้านด้วยการออกกติกา และขึ้นทะเบียนไว้ แต่การมีตัวแทนภาคประชาชน 9 ด้าน ในระบบ UC ถือเป็นจุดแรกของการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันระบบสุขภาพเท่านั้น จากจุดนั้น ประชาชนค่อยๆ เรียนรู้ว่าสิทธิประโยชน์คืออะไร ถ้าประชาชนมีทุกข์ในเรื่องต่างๆ จะมีส่วนร่วมในการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ได้อย่างไร เช่น ผู้พิการควรมีสิทธิประโยชน์แบบนี้ ความสามารถในการร่วมจ่ายหรือเข้าถึงบริการของผู้พิการควรเป็นแบบไหน จะเห็นว่าระบบนี้ต้องมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่เฉพาะ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หมอ พยาบาล หรือปลัดกระทรวงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน" นิมิตร์กล่าวนิมิตร์กล่าวต่อไปว่า ระบบ UC ถ้าจะได้รับสิทธิประโยชน์ต้องไปเริ่มที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ดังนั้น จังหวะในการปฏิรูประบบสุขภาพก็ต้องไปในทิศทางของการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน แต่จะไปในทิศทางนี้ได้ เครือข่าย 9 ด้าน ต้องขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งด้วย เช่น กรณีเครือข่าย ผู้ป่วยเอชไอวี ทำเรื่องศูนย์องค์รวม ฯลฯ

"นี่เป็นทิศทางที่ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วม รวมถึงมาตรา 47 ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ภาคประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของสุขภาพได้ อย่างไรก็ดี น่าเสียดายที่ผู้บริหาร สปสช.ยุคปัจจุบันอาจไม่ได้ส่งทอดอุดมการณ์หรือเจตนารมณ์ช่วงผลักดันกฎหมาย ดังนั้น ต้องกลับไปดูเจตนารมณ์ว่าแต่ละมาตราที่เกิดขึ้นตั้งใจให้ระบบ UC เป็นอะไร จะปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไปในแบบไหน และจำเป็นต้องศึกษาเรื่องนี้ เพราะหากพูดเรื่องร่วมจ่ายหรือการแก้สัดส่วนของบอร์ด จะไม่มีหลักคิดเพื่อสู้หรือยืนยันเพื่อปกป้องระบบนี้คงอยู่ต่อไป" นิมิตร์กล่าว

ด้าน ดร.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพฯ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มีคนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนยกร่างกฎหมาย วันนี้เป็นกฎหมายที่ค่อนข้างก้าวหน้ามากที่สุด มีมาตรา 41 ชดเชยผู้เสียหาย มาตรา 47 กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล มีสัดส่วนตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าไปนั่งในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ แม้ว่าจำนวนตัวแทนจะมีเพียง 5 คน จาก 35 คน "รูปธรรมอย่างหนึ่งคือ ตอนขับเคลื่อนให้เกิดสิทธิในการล้างไต ตอนนั้นมีงานข้อมูลวิชาการของ IHPP บอกว่าการให้ล้างไตไม่คุ้มค่า กรรมการหลักประกันสุขภาพเห็นด้วยทั้งหมด ขณะที่ผู้แทนภาคประชาชนบอกว่า ไหนว่าระบบหลักประกันจะเป็นหลังพิงให้ภาคประชาชน ไม่ให้คนต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย ตอนนั้นก็สู้กันจนหยดสุดท้าย จนนำเข้าคณะรัฐมนตรี แล้วบังเอิญว่าเงินจากยาต้านไวรัสเอชไอวีเหลือ ก็เลยเอาไปใช้กรณีล้างไต วันนี้ทุกอย่างขับเคลื่อน เป็นตัวอย่างสะท้อนว่าต้องสู้" ดร.ยุพดีกล่าว

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ กล่าวว่า ในอนาคตต้องมีคนรุ่นใหม่จากเครือข่ายด้านต่างๆ เข้าไปนั่งเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพ แม้จะมี 5 คน ก็ต้องรู้ว่าตัวเองเข้าไปทำอะไร และจะต้องยืนยันเจตนารมณ์หลักการของกฎหมายว่า ทำไมต้องมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพ ตลอดจนมีความชัดเจนว่ากฎหมายนี้ไม่ได้มีสำหรับคนจน แต่มีสำหรับทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย "ต้องหวงแหนเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ และคิดว่ากฎหมายนี้จะช่วยเฉพาะคนจนไม่ได้เลย เพราะจะกลายเป็นการสงเคราะห์ เพราะเรื่องสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน" สารีกล่าวสำหรับประเด็นเรื่องทิศทางหรือความท้าทายของภาคประชาชนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบ UC นั้น

นิมิตร์ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันระบบ UC ยังเผชิญกับการแก้กฎหมายในลักษณะที่ไม่เป็นประโยชน์กับหลักการเป็นเจ้าของหลักประกันสุขภาพของประชาชน โดยจะกลายเป็นหลักประกันสุขภาพของผู้ให้บริการไป ดังนั้น ต้องเฝ้าติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งพยายามผลักดันให้สิทธิ UC ครอบคลุมคนทุกคนจริง ไม่ใช่ให้กับเฉพาะคนที่มีบัตรประชาชน และเครือข่าย 9 ด้าน ต้องพัฒนาตัวเอง ศึกษาข้อมูลว่าด้วยระบบการเงินของหลักประกันสุขภาพมากขึ้น ตั้งแต่วิธีจัดงบประมาณ ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน โรคเฉพาะ ฯลฯ คนที่จะเข้ามาอยู่กับเรื่องนี้ต้องเกาะติด คิดตามให้ทัน และพัฒนาระบบได้

"ทำอย่างไรให้ UC ไม่ต้องไปขอเงินรัฐบาลทุกปี ทำอย่างไรจะสู้กับระบบงบประมาณเพื่อให้มีการจัดสรรอย่างที่ไม่ต้องต่อรองเป็นปีๆ เช่น กำหนดสัดส่วน เปอร์เซ็นต์การใช้จ่ายงบประมาณที่ชัดเจนว่าจะต้องให้ UC เท่าไร"นิมิตร์กล่าว และว่า เครือข่ายแต่ละด้านต้องช่วยกันขยายการสร้างความเข้าใจ และพยายามใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วในกฎหมายมาขยายผลในเครือข่าย เช่น ทำอย่างไรถึงจะดึงความทุกข์ของแต่ละเครือข่ายมาพัฒนาเป็นสิทธิประโยชน์ ทำอย่างไรจะขยายการรับรู้ไปสู่ผู้พิการ เกษตรกร ชุมชนคนแออัดในเมืองมากขึ้น และจะลดความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพระบบเดียวได้อย่างไร ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ของภาคประชาชนทุกคน

ขณะที่ ดร.ยุพดีให้ความเห็นว่า หากดูจากการเข้าไปส่วนร่วมของภาคประชาชนในกรรมการระดับต่างๆ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ความท้าทายคือ ตัวแทนเหล่านี้จะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งได้หรือไม่ สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมตัวคือ ต้องเข้มแข็งทั้งในมุมของข้อมูล ความมั่นคงในการต่อสู้ ประเด็นท้าทายระบบสุขภาพในอนาคตยังมีเรื่องการทำให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของคนที่เป็น กลุ่มเปราะบางที่ต้องเข้าถึงบริการ ไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่ไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิ แต่ยังรวมถึงคนกลุ่มอื่นๆ ว่าจะมีระบบที่เข้ามาคุ้มครองอย่างไร

"วันนี้ทั้ง 9 เครือข่ายยังมีความเข้มแข็งไม่เท่ากัน ต้องมาช่วยกันว่าทำอย่างไรให้เข้มแข็งพอกัน เดินพร้อมกัน ถือเป็นความท้าทายใหม่ ในการประชุม Healthy forum เครือหนังสือพิมพ์มติชนรายวันข่ายผู้ให้บริการพูดชัดว่าอยากทำแบบศูนย์องค์รวมของเครือข่ายผู้ติดเชื้อ เครือข่ายมะเร็งอยากจะทำบริการให้เครือข่ายของคนไข้ที่บ้าน นี่คือสิ่งที่เรากำลังก้าวข้ามความยาก" ดร.ยุพดีกล่าว

ด้านสารีให้ความเห็นว่า ควรแก้กฎหมายเพิ่มสัดส่วนตัวแทนภาคประชาชนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพจาก 5 คน เป็น 9 คน และไม่ควรแก้กฎหมายลดสัดส่วนตัวแทนภาคประชาชน เพราะปัจจุบันก็น้อยอยู่แล้ว นอกจากนี้ ความท้าทายที่ควรต้องทำควบคู่ไปกับระบบ UC คือ เรื่องค่ารักษาพยาบาลแพง การที่ค่ารักษาแพงจะส่งผลในทางลบต่อระบบ UC อย่างชัดเจน ทั้งเรื่องกำลังคน และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวม เป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิดว่าจะช่วยกันผลักดันได้อย่างไร ขณะเดียวกัน เครือข่ายต่างๆ ก็ควรใช้ช่องทางที่กฎหมายเปิดไว้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในคณะกรรมการชุดต่างๆให้มากขึ้น ประเด็นสำคัญคือ ภาคประชาชนก็ต้องทำงานวิชาการในฝั่งของตัวเองด้วย เช่น เรื่องการหาแหล่งเงินใหม่ ไม่ควรพูดว่าจะต้องร่วมจ่ายหรือไม่ร่วมจ่าย แต่ควรช่วยคิดว่าจะมีกลไกอัตโนมัติใดทำให้ได้แหล่งเงินที่ชัดเจนมากขึ้น หรือมีสัดส่วนการเพิ่มงบประมาณที่เป็นระบบ

ด้าน จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตกรรมการหลักประกัน สุขภาพฯ กล่าวว่า อย่างแรกคือ ต้องรักษาความเข้มแข็งของเครือข่ายไว้ต่อไป ส่วนความท้าทายของระบบ UC ในอนาคต มองว่าต้องพัฒนาบริการให้สามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ เพราะปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนชั้นกลางหรือคนมีเงินบางส่วนไม่มารับบริการเนื่องจากมองว่าใช้สิทธิ UC แล้ว คิวยาว ต้องรอนานกว่าจะรับบริการ รวมทั้งยังมีอคติกับบริการว่าสู้เอกชนไม่ได้ แต่ถ้าดูประเทศที่มีระบบประกันสุขภาพที่เข้มแข็ง ประชาชน 99% ไม่ได้ไปรับบริการเอกชน เพราะราคาแพงมากและบริการก็ไม่ได้ต่างกัน ฉะนั้นประชาชนในประเทศนั้นจึงพอใจที่จะรับบริการกับระบบประกันสุขภาพที่มี นี่คือโจทย์ของประเทศไทย และควรมีกฎหมายบังคับโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งให้เข้า UC เพราะการค้าสุขภาพ หรือให้บริการเฉพาะคนรวย เป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักจริยธรรมทุกประการ อย่างน้อยควรมีกฎหมายบังคับโรงพยาบาลเอกชนต้องมีจำนวนเตียงกี่เปอร์เซ็นต์ ในการให้บริการ หรือต้องมีคนไข้ในระบบ UC กี่เปอร์เซ็นต์ ไปใช้บริการในแต่ละปีด้วย

"ส่วนเรื่องเงิน หากสามารถให้ทุกคนมีส่วนร่วมจ่ายพิเศษนอกเหนือจากการเสียภาษี เช่น คนที่มีกำลังเสียภาษีเงินได้อาจจะเก็บเพิ่มตามรายได้สูงเก็บ 2,000 บาท ปานกลาง 1,000 บาท น้อย 500 บาท ไม่ใช่ไปเก็บหน้าโรงพยาบาล และต้องคุมราคายาด้วย" จอนกล่าว

ที่มา: มติชน