ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมายเหตุ - นพ.ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) เขต 4 สระบุรี และอดีตหัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึง "หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ในภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง สถานการณ์สงบ ความขัดแย้งลดลง ประชาชนเข้าถึงบริการมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยใดนั้น นับจากบรรทัดนี้มีคำตอบ

นพ.ชูวิทย์อธิบายว่า ระบบสุขภาพของไทยได้ใช้เป้าหมาย "Health for all ปี 2543" ขององค์การอนามัยโลกดำเนินระบบสุขภาพประเทศมาตั้งแต่ปี 2522 ผลดำเนินการถึงปี 2543 รวม 21 ปีแล้วก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ส่วนหนึ่งอาจมาจากคำแปลภาษาไทย "สุขภาพดีถ้วนหน้า 2543" ที่ไม่ตรงความหมายแท้จริง และไม่ตรงกับความเป็นจริงของธรรมชาติ เพราะการทำให้ทุกคนสุขภาพดีตลอดเวลา ทุกช่วง ทุกวัย เป็นไปไม่ได้ ขัดกับความจริงของธรรมชาติที่มนุษย์ต้องมี การเกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นปกติวิสัย ความหมายถูกต้องควรจะเป็น "บริการสุขภาพดีถ้วนหน้า 2543"

นพ.ชูวิทย์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ปี 2543 ไทยยังไม่มี "บริการสุขภาพดีถ้วนหน้า" กระทั่งปี 2545 จึงเกิด "บริการสุขภาพดีถ้วนหน้า" ขึ้น เมื่อมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ก่อนหน้านี้มีเพียงหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมเฉพาะข้าราชการและครอบครัวราว 5 ล้านคน กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมราว 15 ล้านคน ส่วนประชาชนกว่า 45 ล้านคนเพิ่งได้สิทธิตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้ว่างบประมาณได้เพิ่มเติมสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท/ปี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศแล้ว พบว่าสัดส่วนงบประมาณสุขภาพต่องบประมาณทั้งหมดของประเทศ รวมกับงบที่ได้รับอุดหนุนเพิ่มแล้ว ไทยยังเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าหลายประเทศมาก

"ก่อนมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประชาชนต้องใช้เงินส่วนตัวจ่ายค่ารักษาเองส่วนใหญ่ หลายครอบครัวหมดเนื้อหมดตัว ขายที่ขายนานำเงินมาจ่ายเป็นค่าดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว ทั้งนี้หลังปี 2545 หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ และยังต้องพัฒนาต่อ6.54x4.87 ไปไม่สิ้นสุด รองรับความเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อม งบประมาณ และตัวบุคคล" นพ.ชูวิทย์ กล่าว และว่า ทั้งนี้หลักการบริการสุขภาพดีถ้วนหน้ามี 2 ส่วนสำคัญ คือ ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพทั่วถึง ทัดเทียม ครอบคลุมชุดสิทธิประโยชน์และบริการสุขภาพมีคุณภาพ ได้มาตรฐานและปลอดภัย จำเป็นที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งประชาชนต้องร่วมกันดูแลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ "บริการสุขภาพดีถ้วนหน้า" คงอยู่อย่างมีคุณภาพที่ดีขึ้นและเหมาะสมยิ่งขึ้นต่อเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด

นพ.ชูวิทย์กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลังเกิดปัญหาความไม่เข้าใจที่รุนแรงเมื่อ 4-5 ปีระหว่างผู้บริหารฝั่งผู้ให้บริการ มี สธ.เป็นผู้รับผิดชอบหลัก กับผู้จัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่จากที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ได้รับบริการสุขภาพทั่วถึง มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัย และการพูดคุยกันมากขึ้นระหว่าง 2 ฝ่าย ผ่านกลไกคณะทำงานร่วมทั้งในระดับประเทศ 7X7 และระดับเขต 5X5 การออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่แก้ปัญหากฎระเบียบไม่สอดคล้อง ประกอบกับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมเป็นครั้งคราวจากรัฐบาล ทำให้สถานการณ์ภาพรวมราบรื่นขึ้น ขณะที่ประชาชนมีความเข้าใจต่อหลักประกันสุขภาพดีขึ้น รับรู้ภาระหนักของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและงบประมาณที่ขาดแคลน

นพ.ชูวิทย์กล่าวว่า ด้านระบบบริการได้มีการขยายบริการปฐมภูมิเพิ่มขึ้นเพื่อลดความแออัดผู้ป่วยใน รพ.ใหญ่ โดย สธ.จับมือ "ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว" อบรมหลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวระยะสั้น รุ่นละประมาณ 100 คน เพื่อให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวปฏิบัติงานที่หน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าหมายครอบคลุมหน่วยบริการปฐมภูมิ 6,000 แห่ง ในเวลา 10 ปี ขณะนี้อบรมถึงรุ่นที่ 9 แล้ว

"แต่ปัญหาหลักของระบบขณะนี้คือ กำลังคนและกำลังเงินมีน้อย ขณะที่ชุดสิทธิประโยชน์เองจำต้องปรับเพิ่มคุณภาพ แต่จะใช้วิธีใดจัดสิทธิประโยชน์ที่สนองความต้องการ สอดคล้องกับกำลังคนและงบประมาณอย่างสมดุลได้ ทำให้ระบบพัฒนาไปอย่างเหมาะสม เป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิด" ประธาน อปสข.เขต 4 กล่าว และว่า ภาพรวมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเวลานี้เดินไปอย่างต่อเนื่อง สงบเรียบร้อยกว่าแต่ก่อน การเข้าถึงบริการของประชาชนและการให้บริการมีคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยเพิ่มขึ้น แต่ทุกภาคส่วนยังต้องประคองให้การทำงานทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นปกติวิสัยของธรรมชาติ

นพ.ชูวิทย์กล่าวว่า ด้วยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นพลังด้านกำลังเงินที่สามารถเข้าถึงหน่วยงานด้านสุขภาพทุกหน่วย ทำให้สามารถบูรณาการทุกภาคส่วนให้มุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้ โดยมี สปสช.เป็นหน่วยปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้กองทุนดำเนินไปตามเจตนารมณ์และวิธีการที่บัญญัติในกฎหมาย สปสช.ปฏิบัติงานคล้ายกับหน่วยงานภาคเอกชน และจากการที่ได้ทำงานร่วมกับ สปสช.ในฐานะประธาน อปสข.ต่อเนื่อง 2 วาระ (8 ปี) มองว่า สปสช.ทำงานขยันขันแข็ง ไม่เกี่ยงงาน รวมทั้งมีความอดทนต่อการถูกว่ากล่าวหรือถูกให้ร้ายจากบุคคลภายนอกได้ดีพอควร

นพ.ชูวิทย์ขยายความว่า การจัดทำระบบข้อมูลของ สปสช.ค่อนข้างดี ใช้ประกอบการตัดสินใจ ประเมินสถานการณ์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ สปสช.ทำหน้าที่ประสานงานได้คล่องตัวพอควร เวลาเกิดปัญหากระทบกระทั่งกัน ฝ่าย สปสช.จะค่อนข้างไปในทางไม่ก้าวร้าว ประนีประนอม ผ่อนหนักให้เป็นเบา ไม่แสดงอำนาจของคนที่ถือเงินอยู่ในมือ โดยรวมการทำงาน สปสช.ยุคปัจจุบันเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี การขึ้นป้ายเป็นเจ้าของผลงานน้อยลง เพราะงานทุกอย่างต้อง บูรณาการทำไปด้วยกัน การชิงออกข่าวทำนองว่าเป็นผู้ริเริ่มและเป็นเจ้าของงานลดลง ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ทำงานด้วยกันอย่างราบรื่นขึ้นมาก

ส่วนความโปร่งใสการบริหารของ สปสช. นพ.ชูวิทย์กล่าวว่า ระบบเบิกจ่ายเงินของ สปสช.รัดกุมพอควร แบ่งงบประมาณเป็น 2 ส่วน คือ งบบริหารภายในหน่วยงาน สปสช.และงบกองทุนหลักประกันสุขภาพที่ สปสช.ไม่สามารถใช้เงินนี้ได้แม้แต่บาทเดียว รวมถึงไม่สามารถยักย้ายถ่ายเทเงินกองทุนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ ทั้งการเบิกจ่ายยังต้องเป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จัดสรรไปตามเกณฑ์ที่บอร์ดมีมติออกมา และส่งเงินไปยังหน่วยบริการคู่สัญญาด้วยวิธีการแจ้งตัวเลขไปที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้โอนเงินไปยังหน่วยบริการโดยตรง ไม่ต้องผ่าน สปสช. ซึ่งการดำเนินการที่อาจไม่สอดคล้องกับระเบียบราชการน่าจะอยู่ที่ต้นทาง คือมติบอร์ด สปสช.ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ชอบด้วยระเบียบหรือไม่ ทั้งกรอบระเบียบใช้จ่ายเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังกว้างกว่าการใช้จ่ายเงินตามระเบียบราชการ หากใช้กรอบระเบียบราชการเป็นเครื่องวัดผิดถูกแล้ว จะทำให้เกิดการเข้าใจผิดกันได้ง่าย

นอกจากนี้ นพ.ชูวิทย์กล่าวว่า การใช้เงินกองทุนของหน่วยบริการยังต้องดำเนินการให้เข้ารับระเบียบตนเองและที่บอร์ด สปสช.กำหนด จนเกิดปัญหาอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่ สปสช.เองมีระบบเฝ้าระวังคอยตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของหน่วยบริการ หากมีเรื่องร้องเรียนและสอบสวนพบว่า หน่วยบริการใดดำเนินการผิดปกติ จะนำเรื่องเสนอต่อบอร์ด สปสช.พิจารณา หรือใช้แนวทางที่เคยมีมติไปแล้วดำเนินการ ทั้งการลงโทษว่ากล่าวตักเตือน หรือยกเลิกสัญญาซึ่งเคยทำมาแล้วกับคู่สัญญาที่เป็นเอกชน ส่วนงบประมาณบริหารในหน่วยงาน สปสช. มีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นเดิน (สตง.) ตรวจสอบกำกับดูแล โดย สตง.ไปตั้งหน่วยตรวจสอบย่อยอยู่ภายในสำนักงาน สปสช.ด้วย

"ในยุคปัจจุบันที่เป็นสังคมโซเชียลมีเดีย ทุกคนสามารถตรวจสอบและเสนอสิ่งที่ตรวจพบให้สังคมได้รับทราบ นับเป็นสิ่งที่ดีมาก ทำให้หน่วยงานต่างๆ ต้องระมัดระวังทำงานให้ถูกต้อง แต่การเสนอข้อมูลที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายควรเป็น6.7x4.8 ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน จึงจะเกิดประโยชน์ที่นำไปสู่การปรับปรุงและนำคนทำผิดมาลงโทษเพื่อเป็นตัวอย่าง แต่หากใช้ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด หน่วยงานเสียหาย และเกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีพิสูจน์ความจริงกันที่ศาลก็มีตัวอย่างให้เห็นบ่อยๆ" นพ.ชูวิทย์กล่าว

ส่วนความเห็นต่อการปรับปรุงการทำงานของ สปสช.นั้น นพ.ชูวิทย์กล่าวว่า สปสช.เน้นเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านระบบข้อมูล เพิ่มทักษะสื่อสารประสานงานกับทุกภาคส่วน ลดประชาสัมพันธ์ผลงานที่ทุกภาคส่วนร่วมทำให้ดูเป็นผลงานตนเอง ปรับแนวคิดและวิธีการเหมาะสมกับสถานการณ์ เน้นการทำงานร่วมกัน ไม่ยึดติดความคิดตนเองที่ทำให้ขัดแย้ง ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการทำงานและประมวลข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น และใช้จ่ายเงินบริหาร สปสช.ที่เป็นเงินราชการตามระเบียบ

แต่เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติที่อยู่ระหว่างผลักดัน จะส่งผลต่อ สปสช.อย่างไร นพ.ชูวิทย์กล่าวว่า จะมีผลกระทบต่อทุกบอร์ดและทุกหน่วยงานด้านสุขภาพ รวมถึง สปสช. เพราะเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจสูงสุดด้านสุขภาพของประเทศ หากมีมติอะไรออกไป ทุกภาคส่วนด้านสุขภาพต้องปฏิบัติตาม ไม่สามารถใช้มติของตนเองเป็นคำตอบสุดท้ายให้มีการปฏิบัติได้เหมือนก่อน แต่ด้วยสถานการณ์ระบบสุขภาพของประเทศที่วุ่นวายและสับสนอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการแยกส่วนมากมาย หากมีองค์กรสูงสุดด้านสุขภาพรวมทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน กำหนดนโยบายหลักสู่เป้าหมาย "ประชาชนมีบริการสุขภาพดีถ้วนหน้า" จะส่งผลให้ระบบสุขภาพประเทศขับเคลื่อนไปได้อย่างสมดุล สอดคล้องสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน ลดข้อขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นระหว่างองค์กรในระบบสุขภาพได้มากขึ้น

นพ.ชูวิทย์ฝากทิ้งท้ายว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประเทศไทยได้พัฒนาต่อเนื่องมายาวนาน เป็นรูปธรรมชัดเจนตั้งแต่ยุค "บัตรสุขภาพครอบครัว" จนถึงยุค "บัตรทอง" ในปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนวิธีการให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคภัยไข้เจ็บและบริบทของการเมืองการปกครองตลอดเวลา ทุกภาคส่วนทั้งผู้บริหารจัดการงบประมาณ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องทั้งหมด ควรช่วยกันดูแลให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก โดยปฏิบัติหน้าที่ซึ่งตนเองรับผิดชอบให้ดีที่สุด เพื่อทำให้ประชาชนคนไทยมี "บริการสุขภาพดีถ้วนหน้า" ทุกช่วงวัย ตั้งแต่เกิดจนสิ้นอายุขัยได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 6 ก.ค. 2561