ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 หมายเหตุ : การกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ (Benefit packages) เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และไม่เกิดภาวะล้มละลายจากการจ่ายค่าบริการ เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มุ่งมั่นจะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการด้านสุขภาพ หนึ่งในบุคลากรคนสำคัญที่ทำงานด้านนี้ อธิบายว่า คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการด้านสุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นคณะอนุกรรมการที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการพิจารณาชุดสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นและ เหมาะสม เพื่อบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

รศ.พญ.ประสบศรีอธิบายเพิ่มเติมว่า ในการทำงานนั้นได้ยึดหลักการความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ ทั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งหน่วยงาน กลุ่มต่างๆ รวมทั้งประชาชน ได้แก่ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ นักวิชาการด้านสาธารณสุข ภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาสังคม ประชาชนทั่วไป คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเสนอหัวข้อในการเพิ่มหรือปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์ โดยใช้เกณฑ์การคัดเลือกหัวข้อเข้าสู่การประเมินเพื่อพัฒนาเป็นสิทธิประโยชน์ และนำไปประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจของคณะอนุกรรมการฯ และบอร์ด สปสช. จนออกมาเป็นชุดสิทธิประโยชน์ต่างๆ

รศ.พญ.ประสบศรีกล่าวว่า ในกระบวนการพิจารณานั้น จำเป็นต้องจัดระบบบริการสุขภาพและบริหารจัดการการเข้าถึงบริการตามลำดับความสำคัญ โดยใช้เกณฑ์การคัดเลือกหัวข้อเข้าสู่การประเมินเพื่อพัฒนาเป็นชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ ได้แก่ 1.จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบ 2.ความรุนแรงจากโรคหรือปัญหาสุขภาพ 3.ประสิทธิผลของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ 4.ความแตกต่างระหว่างชุดสิทธิประโยชน์และการกระจายเทคโนโลยี 5.ผลกระทบทางเศรษฐกิจของ 6.54x10 ครัวเรือน และ 6.ความเป็นธรรมและประเด็นทางสังคมและจริยธรรม โดยนำไปประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ประสิทธิผล คุณภาพ ความปลอดภัย และผลกระทบด้านสังคมจริยธรรม

"สปสช.ดูแลคนไทยประมาณ 47.7 ล้านคน มีอายุ และโรคหลากหลาย และมีปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมหลากหลาย เรามีเป้าหมายที่จะให้ การดูแลคนกลุ่มนี้ไม่ให้ล้มละลายทางเศรษฐกิจ ต้องทำให้เขามีความมั่นใจว่าเราดูแลเขาได้ตลอดทางตั้งแต่เกิดจนตาย ในการดูแลนั้นจะทำตั้งแต่ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล รวมถึงฟื้นฟูสภาพครบวงจร และ รวมไปถึงสิทธิในการใช้ยาสมุนไพรต่างๆ เป้าหมายคือ ทำให้คนไทยได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ" รศ.พญ.ประสบศรีกล่าว และว่า ในการกำหนดงบประมาณนั้น จะไปด้วยกันกับสิทธิประโยชน์ ซึ่งแบ่งเป็น 1.สิทธิประโยชน์หลัก ดูแลในภาพรวม และ 2.สิทธิประโยชน์เสริม หรือการดูแลเฉพาะโรค

"สิทธิประโยชน์ในภาพรวม คือ จะได้รับบริการทั่วไปตั้งแต่เกิดจนตายตามช่วงอายุ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีสิทธิประโยชน์เสริม เพราะบางโรคอาจมีค่ารักษาแพง ก็ต้องดูแลโดยเติมเงินให้เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา และผู้ให้บริการจะได้มีกำลังใจในการได้ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สถานพยาบาลไม่ขาดทุนด้วย พอถึงการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยจะได้ค่ารักษาพยาบาลเป็นรายหัว เวลาเข้าไปรักษาจะมีการจ่ายตามราคากลางเท่ากันทุกกองทุน ซึ่งพบว่าในบางโรคที่ต้องการรักษา เช่น มะเร็ง เอดส์ ฯลฯ มักต้องใช้ยาราคาแพง และคนไข้ต้องใช้ต่อเนื่อง ดังนั้นตรงนี้ สปสช.จะทำให้เข้าถึงมากขึ้นและง่ายขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์เข้าถึงยา วัคซีนที่มีราคาแพง ตรงนี้จะมีวิธีการวางแผนเพื่อให้ค่าใช้จ่ายไม่เกินผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ สปสช.มีประสบการณ์ในเรื่องการจัดสรรเงินไปตามรายการที่มีความจำเป็น จะรู้จำนวนของคนไข้ที่เบิกจ่าย เช่น คนไข้เป็นโรคไตวาย ต้องมีการล้างฟอกไต จะมีระบบการลงทะเบียนคนไข้ และลงทะเบียนสถานบริการที่จะให้บริการ จากนั้นมีค่าใช้จ่ายเสริมให้ตามสิทธิที่ควรจะได้ ก็เป็นการเอาสิทธิประโยชน์ไปรวมกับค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจจะเป็นรายหัวหรือรายการก็ได้ เพื่อจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด" รศ.พญ.ประสบศรีกล่าว

รศ.พญ.ประสบศรีบอกว่า อีกความสำเร็จของ สปสช. คือการทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเข้าถึงยาราคาแพง โดยกระจายยาราคาแพงไปตามโรงพยาบาล เมื่อผู้ป่วยมีอาการและไปที่โรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องรับยาตัวนี้ ก็สามารถเบิกยาเพื่อรักษาคนไข้ได้ เพราะหากให้ยาได้ทันท่วงที ผู้ป่วยอาจหายเป็นปกติหรืออาการดีขึ้นได้ แต่หากชักช้าไป ก็อาจจะไม่ทันช่วยชีวิต ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะในสมัยก่อนต้องการส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง แต่วันนี้ยาออกไปถึงที่ และอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์แล้ว ถือว่าดีที่สุดในขณะนี้ เพราะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยที่ป่วยด้วยโรคนี้ดีขึ้นมาก นอกจากนี้ ยังปรับการรักษาบางอย่างไปอยู่ในแผนก ผู้ป่วยนอก เพื่อให้ได้เงินไปอยู่ในกองนั้น โดยการเพิ่มการรักษาแบบที่เรียกว่า การผ่าตัดแล้ว กลับบ้านภายใน 24 ชั่วโมง (Oneday surgery) เช่น โรคไส้เลื่อน ฯลฯ ซึ่งนอกเหนือจากเพิ่มการเข้าถึงแล้ว ทำให้การครองเตียงในโรงพยาบาลลดลง มีเตียงเหลือให้บริการผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เตียงมากกว่า ที่สำคัญโรงพยาบาลจะได้รับค่าใช้จ่ายคุ้มกับรายจ่ายที่ได้จ่ายออกไป ไม่ต้องขาดทุนอีก เหล่านี้คือ วิวัฒนาการของการเพิ่มสิทธิเพื่อให้ได้รับบริการที่ดีขึ้น มีคุณภาพ พร้อมกับโรงพยาบาลซึ่งเป็นหน่วยงานบริการด้านนี้ไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น นี่คือสิ่งที่ สปสช.ทำมาตลอดในช่วง 10 กว่าปี ที่ผ่านมา" รศ.พญ.ประสบศรีกล่าว

รศ.พญ.ประสบศรีกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศ ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาจจะมีบางโรคที่ต้องดูแล และให้สิทธิประโยชน์คนไทยเพิ่ม เช่น โรคความดัน เบาหวาน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาแพ้ยาที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต แต่ล่าสุด พบว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ และประเทศไทยก็สามารถพัฒนาชุดตรวจนี้ได้เอง เรียกว่า การตรวจระดับยีน สปสช.จึงพัฒนาเพิ่มสิทธิเหล่านี้ ซึ่งก็ต้องวางแผนและต้องแน่ใจว่า เมื่อให้สิทธิไปแล้วจะมีผู้ให้บริการกระจายอยู่ทั่วประเทศ หรือสามารถจะส่งต่อไปรับบริการเป็นทอดๆ ได้ทั่วทั้ง 12 เขตสุขภาพ

"ทุกครั้งที่ สปสช.จะมีสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ จะมีขั้นตอนของการพิจารณา มีหน่วยวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ หรือสถิติต่างๆ มาประกอบ นอกจากคณะอนุกรรมการแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัย ตั้งแต่ขั้นตอนการทำเรื่องเสนอ ประเมินความคุ้มค่า จะมีนักวิจัยจากสถาบัน มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือไฮแทป (HITAP) จะ
6.71x5 มาช่วยวิเคราะห์ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทุกด้านจากราชวิทยาลัย สมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอบอร์ด สปสช.พิจารณา เช่น วันนี้เรามีปัญหาเด็กไม่สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้ ต้องนอนอยู่โรงพยาบาลเป็นปี สปสช.ก็พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ให้สามารถเบิกเครื่องช่วยหายใจได้ เราเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการนำเสนอ ซึ่งจะมีการทำสำรวจปีละ 4 ครั้งทั่วทุกภาค เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว จะนำมาวิเคราะห์การให้สิทธิประโยชน์ ซึ่งทำปีละ 2 ครั้ง จากนั้นนำมาศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขว่าคุ้มกับการลงทุนหรือไม่" รศ.พญ.ประสบศรีกล่าว

เมื่อพิจารณาจนได้ข้อสรุปแล้ว รศ.พญ.ประสบศรีกล่าวว่า คณะทำงานชุดนี้จะส่งข้อมูลกลับมาให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา ก่อนจะเสนอบอร์ด สปสช. เช่น ในการพิจารณาให้ยาราคาแพงนั้น จะพิจารณาว่าเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มกับชีวิตที่ยืนยาวหลังจากได้ยาแล้ว หรือจะไปช่วยคนที่ยังไม่เป็นนั้น จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เช่น กรณีแพ้ยา เริ่มประเมินจากค่าตรวจรายละ 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นโรคแพ้ยารุนแรงจะตาย หรือหากไม่ตายก็อยู่อย่างทุกข์ทรมานตลอดชีวิต ซึ่งไม่คุ้มค่า ดังนั้น ชุดตรวจการแพ้นี้จะเป็นทางเลือกเพราะคุ้ม แต่ก่อนจะให้สิทธิประโยชน์จะมีการประเมินความสามารถของโรงพยาบาล และทำความเข้าใจกับแพทย์ด้วยว่าขอให้สั่งตรวจ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะแพ้ยาหรือไม่ โดยเริ่มจากดูประวัติสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น และจะมีคู่มือให้แต่ละสถานพยาบาลนำไปปฏิบัติ หากโรงพยาบาลใดตรวจไม่ได้ ให้ประสานส่งเลือดไปตรวจที่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ หรือกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ รศ.พญ.ประสบศรีบอกว่า คือความเหนื่อยยากของ สปสช.เพราะต้องไปอธิบายทำความเข้าใจกับสำนักงบประมาณทุกปีว่า ที่ของบประมาณเพิ่มไปนั้น มีความจำเป็นอย่างไร คุ้มค่ากับชีวิตของประชาชนไทยอย่างไร อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์นั้นจะต้องมาควบคู่กับงบประมาณ ถ้าต้องการการรักษาที่มีคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยก้าวล้ำมาก รัฐบาลต้องใจใหญ่

ในปีงบประมาณ 2562 รศ.พญ.ประสบศรีกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ แต่ที่ได้ประกาศเพิ่มไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คือ มีการประกาศให้สิทธิประโยชน์ด้านยาและวัคซีนราคาแพง ในกลุ่มโรคลมชัก โรคมะเร็ง โรคเอดส์ โรคตา ประมาณ 7 รายการ และในเร็วๆ นี้ ภายในปี 2562 จะมียาอีก 2 ตัว วัคซีนอีก 4 ตัว และการตรวจยีนเพิ่มด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ สปสช.ยืนยันว่าไม่มากเกินความจำเป็น หรือเกินงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

เผยแพร่ นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 8 มิ.ย. พ.ศ. 2561