ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดปาฐกถา ผอ.องค์การอนามัยโลก 2 ก.พ.2561 ณ กระทรวงการต่างประเทศ ยกไทยเป็นบทพิสูจน์ว่า ทุกประเทศ ณ ทุกระดับรายได้ สามารถประสบความสำเร็จหลักประกันสุขภาพได้ ชี้เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าที่ไทยส่งออกให้ประเทศอื่นได้

“ความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: จากอดีตสู่อนาคต”

เรียน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คุณวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สุภาพบุรุษ และสุภาพสตรีทุกท่าน

ขอบคุณสำหรับโอกาสเข้าร่วมการประชุมสำคัญกับทุกท่านในเมืองไทย ครั้งนี้

ดังที่ทุกท่านทราบแล้วว่าปี ค.ศ.2018 เป็นปีสำคัญสำหรับองค์การอนามัยโลก คือ ครบรอบ 70 ปีขององค์การอนามัยโลก เป็นการเตือนความจำถึงเป้าหมายในการก่อตั้งองค์การอนามัยโลกที่ทุกวันนี้ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ คือหลักการของการที่ทุกคนตระหนักรู้ถึงสิทธิของพวกเขาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ณ ระดับสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้

คำว่าสุขภาพดีสำหรับทุกคน “Health for all”  จึงเป็นวิสัยทัศน์สำคัญของเราเสมอมา และเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่เร่งให้ทุกประเทศมุ่งสู่เป้าหมาย “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” สำหรับทุกคน  

แต่เราจำเป็นต้องรับรู้ด้วยว่า ความฝันด้านสุขภาพของเรายังไม่สำเร็จ แม้ว่าจะมีการก่อตั้งองค์การอนามัยโลกมาแล้ว 70 ปี และมีคำประกาศอัลมา อตา (Alma Ata Declaration) มา 40 ปี ก็ตาม

จากรายงานการติดตามความก้าวหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (The Global Monitoring Report) ที่เผยแพร่ในการประชุม the Universal Health Coverage Forum ที่โตเกียว เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2017 ที่ผ่านมา ทำให้เรารู้ว่าเราเดินมาไกลแค่ไหนแล้ว

แต่อย่างไรก็ตามยังประชากรอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในโลกนี้ ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้ ยังมีประชากรมากกว่าหนึ่งพันล้านคน ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ ยังมีผู้หญิงมากกว่า 200 ล้านคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัว ยังมีทารกเกือบ 20 ล้านคนที่ไม่ได้รับวัคซีนที่จำเป็น   

และในทุกๆ ปีมีประชากรจำนวนมากเกือบ 100 ล้านคน ที่ต้องกลายเป็นคนจน เพราะต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเอง  

เหล่านี้เป็นปัญหาของโลก ในประเทศที่ร่ำรวยในทวีปยุโรป ละตินอเมริกา และส่วนหนึ่งในอเชีย ที่ซึ่งประสบความสำเร็จในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ก็ยังพบว่ามีประชากรจำนวนมากขึ้นที่ใช้จ่ายงบประมาณของครอบครัวอย่างน้อย 10% ในด้านสุขภาพ

เราจำเป็นต้องเผชิญกับความจริงเหล่านี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะสำเร็จไม่ได้เลย ถ้ายังมีปัญหาเหล่านี้อยู่

การบรรลุเป้าหมายด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืน ในทุกๆ 5 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 2016 ถึง 2030 เราจะต้องทำให้ประชากรกว่าพันล้านคน เข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น

นี่คือยุทธศาสตร์ ระยะ 5 ปี ที่มีเป้าหมายชัดเจนขององค์การอนามัยโลก

ขณะนี้จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกประเทศต้องตัดสินใจทำให้แผนยุทธศาสตร์นี้เป็นจริง

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมประจำปีของคณะกรรมการบริหารขององค์กรอนามัยโลก ผมได้ประกาศว่าจะรับรองให้ทุกประเทศขับเคลื่อนกลไกสำคัญ 3 ขั้นตอนเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ผมจะเสนอในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพโลก (WHA) ซึ่งจะมีขึ้นเดือนพฤษภาคม 2018 ที่ประเทศจำนวนมากพร้อมที่จะมุ่งมั่นสู่เป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายใน 12 เดือนข้างหน้า เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ และลดการจ่ายค่ารักษาของประชาชน

เราได้พัฒนาทางเลือกจากประสบการณ์ที่ดีสำหรับให้ประเทศเลือกแนวทางที่เหมาะสมไปดำเนินการต่อในประเทศ

และเราจะมีส่วนร่วมกับทุกประเทศในการหารือเชิงนโยบายในการระบุอุปสรรคและทางเลือกที่เหมาะสม ซึ่งผมเห็นสัญญาณที่ช่วยสนับสนุนอยู่มากมาย

เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมอยู่ที่ประเทศเคนย่า ซึ่งประธานาธิบดีเพิ่งประกาศนโยบายบริการสุขภาพที่เข้าถึงได้ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 นโยบายสำคัญในช่วงสมัยที่ 2 ของเขา

ประเทศมาดากัสการ์ก็เพิ่งเริ่มต้นนโยบายกองทุนประกันสุขภาพระดับชาติเพื่อปกป้องทางการเงินให้กับประชาชนจากโรคค่าใช้จ่ายสูง

และเมื่อวานนี้ ประเทศอินเดียก็เพิ่งประกาศเพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพร้อยละ 12 ซึ่งจะช่วยเหลือประชาชนถึง 500 ล้านคน และสร้างศูนย์บริการสุขภาพและส่งเสริมสุขภาพ ถึง 150,000 แห่ง

ในขณะที่มีจำนวนประเทศที่มีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากขึ้น เราก็ยังติดตามประเทศที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันด้วย

ประเทศไทย เป็น 1 ในประเทศเหล่านี้ ที่ได้พิสูจน์แล้วว่า ทุกประเทศ ณ ทุกระดับรายได้ สามารถประสบความสำเร็จได้  

ด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้เรามีการประชุมในวันนี้ ณ กระทรวงต่างประเทศ แทนที่จะจัดที่กระทรวงสาธารณสุข

ประสบการณ์ของประเทศไทยเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่ามาก และจะกลายเป็นสิ่งส่งออกที่มีคุณค่ามาก ซึ่งทำให้ท่าน รมว.สธ. กล่าวว่ารัฐบาลทั้งชุดต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  

เมื่อวานนี้ ผมได้มีโอกาสลงพื้นที่เรียนรู้ระบบบริการสุขภาพของไทยอย่างใกล้ชิด โดยได้ลงเยี่ยมศูนย์บริการสาธารณสุขลุมพินี และได้พบกับ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) นักการสาธารณสุขในชุมชน ผู้ให้บริการปฐมภูมิ และครอบครัวผู้ป่วย

ผมควรต้องเล่าเกี่ยวกับครอบครัวที่ผมไปเยี่ยมมา ผู้เป็นพ่อมีปัญหาโรคไต และเคยเป็นผู้ป่วยติดเตียงด้วย แต่ตอนนี้เขาทำงานได้ และได้รับการล้างไตด้วย

พวกเราได้พบเขาและลูกสาวที่ช่วยดูแลเขา ผมได้ถามเขาว่า ใครรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา เขาตอบว่า “ระบบหลักประกันสุขภาพ” และถ้ารัฐบาลไม่มีสิทธิประโยชน์นี้ จะเกิดอะไรขึ้น? ลูกสาวตอบว่า “ฉันคงต้องรอวันตายของพ่อ เพราะพวกเราไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย”

นี่เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ที่แสดงให้เห็นสิ่งที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถทำได้ ครอบครัวที่เราไปเยี่ยมเป็นครอบครัวที่ยากจน พวกเขาไม่สามารถจ่ายค่ารักษาสำหรับการล้างไตได้  แต่วันนี้ พ่อผู้ที่เคยเป็นผู้ป่วยติดเตียงมา สามารถทำงานได้ นี่คือผลงานของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ผมขออนุญาตอ้างอิงอีกครั้งว่า ชุมชนมีส่วนร่วมผ่าน อสม. โดยมีลูกสาวของผู้ป่วยเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ซึ่งหมายความว่า นี่คือความหมายของบริการสุขภาพชุมชน ที่ชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ และเป็นปัจจัยสำคัญมากต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืน

ปัจจุบันมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนมากจากฝ่ายรัฐบาล ที่ยอมรับในการสนับสนุนทรัพยากร รวมทั้งการแบ่งปันประสบการณ์ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ได้บทบาทเสริมจากชุมชน ดังเช่นลูกสาวของผู้ป่วยรายนี้ด้วยการช่วยดูแลผู้ป่วย ทำให้ชุมชนมีความรับผิดชอบ และรู้สึกมีความเป็นเจ้าของ และผมขอย้ำอีกครั้งว่า นี่คือองค์ประกอบสำคัญในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ผมรู้สึกมีกำลังใจมาก ที่ได้เห็นความมุ่งมั่นทางการเมืองของรัฐบาล แนวคิดบริการสุขภาพชุมชน การมีส่วนร่วม และความเป็นเจ้าของของชุมชน

ประสบการณ์ของประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นไม่ง่ายและต้องใช้เวลาในการพัฒนา ต้องอาศัยความมุ่งมั่นที่ยั่งยืนทางการเมือง การมีส่วนร่วม และความเป็นเจ้าของของชุมชน

แต่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ไม่ใช่สิ่งที่พอทำสำเร็จแล้วจบ แต่ต้องทำต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน คุณต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องไม่สามารถหยุดได้ เพราะจะมีช่องว่างเพื่อการพัฒนาเสมอ มีช่องว่างเพื่อขยายสิทธิประโยชน์ด้านบริการสุขภาพ มีประชาชนที่ยังถูกทิ้งไว้ข้างหลังที่ต้องการเข้าถึงบริการสุขภาพเสมอ

ตัวอย่างเช่น มีผู้อพยพผิดกฎหมายกว่า 3 ล้านคนในประเทศไทย ที่ยังไม่มีประกันสุขภาพ การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้น หมายถึง กลุ่มผู้อพยพที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเปราะบางที่มีความจำเป็นด้านสุขภาพที่เฉพาะด้วย

ดังที่ท่านเน้นไว้ในกระบวนการปฏิรูปว่า หลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือ ต้องมีบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ทุกคนเข้าถึงได้

องค์การอนามัยโลก พร้อมที่จะร่วมงานกับประเทศไทย เพื่อค้นหาทางเลือกที่สร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับกลุ่มผู้อพยพเหล่านี้

ท่านสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน  เราทุกคนต่างก็มีบทบาทร่วมในการทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้จริง

รัฐบาลมีหน้าที่ต้องปรับนโยบายเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน และกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ดังเช่นที่ประเทศไทยกำลังทำอยู่

ฝ่ายองค์กรวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็จำเป็นต้องปกป้องสวัสดิการของบุคลากรด้านสุขภาพ

ฝ่ายเครือข่ายองค์กรประชาสังคม ก็จำเป็นต้องสนับสนุนการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ และนำเสนอประเด็นเฉพาะสำหรับประชากรแต่ละกลุ่มต่างหาก

ประชาชนแต่ละคนก็ต้องใช้สิทธิใช้เสียงในการเรียกร้องบริการสุขภาพที่ดีสำหรับตนเอง

ส่วนสื่อมวลชน ก็สามารถช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และตรวจสอบผลักดันความโปร่งใส และธรรมาภิบาลของฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจตัดสินใจในเชิงนโยบาย

บทบาทขององค์การอนามัยโลก คือ การค้นหาต้นแบบที่ดีสำหรับให้ประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้ ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ และการขับเคลื่อนทางการเมืองในระดับนานาชาติ

เรารู้ว่า เราสามารถพึ่งได้ว่าประเทศไทยจะพร้อมเป็นผู้นำ และร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

คำพูดที่มีชื่อเสียง ของ นพ.สุวิทย์ วิบูลผลประเสริฐ นักวิชาการของไทย ที่ว่า “เรา (คนไทย) ไม่ได้พูดเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เราลงมือทำเลย” ซึ่งคือสิ่งที่เราได้เห็นจากการลงพื้นที่ใน กทม.เมื่อวาน คือสิ่งที่คนไทยทำ

ขอแสดงความยินดีกับประเทศไทย ที่ทำให้เราเห็นเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราเฝ้ารอการทำงานร่วมกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประเทศอื่น ๆ และช่วยบอกประเทศอื่นได้ ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่ความฝัน ที่ไม่สามารถบรรลุความจริงได้ แต่เป็นความฝัน เป็นวิสัยทัศน์ที่ทำให้เป็นจริงได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย

คำขวัญที่ว่า “เราไม่พูดเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เราลงมือทำเลย” นี้ต้องกลายเป็นคำขวัญของทุกประเทศ เพราะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

ขอบคุณมากครับ

Thank you very much. Khob khun krab.

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก

2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2018 กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพฯ ประเทศไทย