ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผ่านไปอีกครั้งสำหรับ "วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล" ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ธันวาคมของทุกปี ตามมติ สมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งสำหรับ ประเทศ ไทย เรานั้น...ได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่า...มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ก้าวหน้าระดับโลก แต่กระนั้น...ในไทยก็ยังต้องเดินหน้าพัฒนาและขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป เพื่อให้ประชากรไทยทุกกลุ่ม...
          
'เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ" ได้อย่าง 'ทั่วถึง"
          
รวมถึงได้รับ 'บริการที่ดี และมีประสิทธิภาพ"
          
ทั้งนี้ เกี่ยวกับ 'การยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" นั้น เมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องในวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล หรือ Universal Health Coverage Day : UHC Day ประจำปี พ.ศ.2562 ทาง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. ก็ได้เผยความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า...จากการที่สมัชชาสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 12 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล เพื่อผลักดันให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตระหนักถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า...
          สำหรับปี 2562 องค์การอนามัยโลก ได้ชูประเด็นเกี่ยวกับ  การรักษาสัญญา (Keep the Promise) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ทั่ว โลกตระหนักถึงการเร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้บรรลุภายในปี 2573 ด้วยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนของแต่ละประเทศมีสุขภาพที่ดี ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของ องค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยเอง ในฐานะประเทศสมาชิก ก็จะต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปเช่นกัน
          นอกจากนั้น ในอีกเวทีหนึ่ง กับการประชุมเต็มคณะระดับสูง ว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage) ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่ผ่านมา ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้กล่าวถ้อยแถลงถึง ความมุ่งมั่นของไทย ในเรื่องนี้ นั่นคือ...1.การสร้างความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการสุขภาพ 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณกองทุน และ 3.การสร้างการมีส่วนร่วม ที่เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้หลักประกันสุขภาพมีความยั่งยืน พร้อมกับยืนยันว่า...แม้เป็นประเทศไม่ร่ำรวยก็ดำเนินนโยบายนี้ได้.
          
...พิสูจน์ได้จากการที่ไทยทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ
          
ขณะที่ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ก็ระบุไว้ว่า.. ในเวทีประชุมระดับสูงของสหประชาชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ผ่านมา ได้มีมติสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพถ้วนหน้า  ผ่าน "บันได 6 ขั้น" ได้แก่...1.ความมุ่งมั่นของผู้นำทางการเมือง 2.การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 3.การสร้างกฎหมาย-ระเบียบข้อบังคับ 4.การรักษามีคุณภาพบริการ 5.การลงทุนเพิ่มและลงทุนที่ดีขึ้น และ 6.การขับเคลื่อนไปด้วยกัน ...เป็นแนวทางตามมติสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องนี้
          
'บันได 6 ขั้นนี้ จะเป็นเหมือนเข็มทิศที่นำพาประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ไปสู่ความสำเร็จได้ภายใน 11 ปี ตามเป้าหมายที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ร่วมกันลงปฏิญญาไว้" ...เลขาธิการ สปสช. ระบุ
          
อนึ่ง กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น สำหรับประเทศไทย ถือว่าประสบความสำเร็จในด้านนี้อย่างสูงในระดับหนึ่ง นับตั้งแต่เริ่มต้นตั้ง กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขึ้นในปี 2545 ที่ต่อมาก็ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประชาชนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น จนทำให้ ประเทศไทยถูกยกย่องให้เป็นต้นแบบ ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเป็นตัวอย่างให้กับประเทศที่ไม่ร่ำรวย กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก...
          
สามารถนำ 'กรณีศึกษาไทย" ไปใช้ 'เป็นต้นแบบ"
          
อย่างล่าสุดนี้ ประเทศโมร็อกโก ในทวีปแอฟริกาเหนือ ก็ได้ เดินทางเข้ามาเพื่อศึกษาดูงานการดำเนินงานของไทยในด้านนี้ โดยมี โรงพยาบาลสามพราน เป็นพื้นที่ศึกษาดูงาน ซึ่งปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของโมร็อกโกมีอยู่ 2 ระบบ ได้แก่...ระบบประกันสุขภาพโดยรัฐ และระบบสวัสดิการสงเคราะห์ สำหรับผู้ยากไร้ แต่ก็ยังครอบคลุมประชากรได้เพียง 63% ซึ่งอีก 37% นั้นยังเข้าไม่ถึงบริการดังกล่าว จึงสนใจที่จะนำ "กรณีศึกษาไทย" ไปใช้เป็นต้นแบบ...
          
เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของโมร็อกโก
          
และกับการเดินทางมาศึกษาดูงานที่ไทยครั้งนี้ ทาง นพ.อับเดอไลลาห์ บูทาเลบ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขของโมร็อกโก ก็ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยว่า...ไทยเป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จทางด้านการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่ดี ซึ่งโมร็อกโกสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่วิธีการตั้งต้นระบบให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุด รวมถึงวิธีจัดการการเงินการคลังในระบบหลักประกันสุขภาพให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไทยทำสำเร็จมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว นอกจากนั้น การเดินทางมาครั้งนี้ยังได้มีการลงนามในเอ็มโอยูร่วมกัน เพื่อให้ไทยช่วยถ่ายทอดความรู้ด้านนี้ให้กับโมร็อกโกอีกด้วย...
          
"ปี 2573 โมร็อกโกตั้งเป้าว่าระบบหลักประกันสุขภาพจะต้องครอบคลุมประชากรได้กว่า 93% ซึ่งความร่วมมือกับไทยจะทำให้เดินไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น" ...เป็นเนื้อความอีกส่วนจากที่ นพ.อับเดอไลลาห์ ระบุไว้
          
ต่างชาติชื่นชมไทยในฐานะที่เป็นประเทศ 'ต้นแบบ"
          
'หลักประกันสุขภาพ" ไทยมีมุมเจ๋งที่โลกยกย่อง...
          
แต่เหนืออื่นใด.การพัฒนาในไทยยังต้องไปต่อ.

 

ที่มา : สกู๊ปหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 ธันวาคม 2562 'ต้นแบบ'โลกยอมรับ'ประกันสุขภาพ'ไทยเด่น'ก็ต้องไปต่อ'