ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธาน China Medical Board ชี้จุดแข็งระบบ “บัตรทอง” คือสามารถสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนได้ ยกนิ้วฝีมือหมอ - พยาบาล ทำให้ระบบมั่นคงมา 17 ปี

วันที่ 1 ก.พ.2563 ที่โรงแรมเซนทารา แอน เซ็นทรัลเวิลด์ ในการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี พ.ศ.2563 ศ.นพ.ลินคอล์น เชน (Lincoln chen) ประธาน China Medical Board ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระหว่างประเทศ และอดีตศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้สัมภาษณ์ว่า จากการเข้าร่วมประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (Prince Mahidol Award Conference 2020) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ม.ค. – 2 ก.พ. 2563 ทำให้เห็นศักยภาพของไทย ในการดึงผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รัฐบาล เอ็นจีโอ มาร่วมกันสะท้อนมุมมองที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และยกระดับเรื่องนี้ เป็นประเด็นระดับโลก ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ “อำนาจอ่อน” หรือ Soft Power เรียงร้อยองคาพยพทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันวาระนี้ ให้เป็นที่พูดถึงทั่วโลกอย่างน่าสนใจ 

สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทย ประสบความสำเร็จในการผลักดันวาระนี้ ศ.นพ.ลินคอล์น กล่าวว่า หนีไม่พ้นการที่ไทย สามารถเริ่มต้นนโยบาย “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ขึ้นได้เมื่อ 17 ปีก่อน ตั้งแต่ยังเป็นประเทศรายได้ปานกลาง - ต่ำ โดยเป็นตัวอย่างให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ประเทศที่กำลังพัฒนา และไม่ได้ร่ำรวยมาก ก็สามารถเริ่มต้นนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบเดียวกันนี้ได้ โดยใช้งบประมาณไม่มากนัก และไทยยังเป็นตัวอย่างให้เห็นอีกว่า สามารถใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่า มีการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ และไทย ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ให้เริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของตัวเองขึ้น แบบเดียวกับไทย

“ในระดับโลก เมื่อพูดถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประสบความสำเร็จ คนมักจะพูดถึง 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และไทย โดยไทย แม้จะเริ่มต้นช้ากว่าประเทศอื่น ๆ แต่ก็สามารถสร้างระบบได้อย่างยั่งยืน และจากที่เดินทางมายังประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าหลังมีระบบบัตรทอง ระบบสุขภาพของไทย ก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทิ้งห่างประเทศเพื่อนบ้านรอบด้านไปไกล” ศ.นพ.ลินคอล์นกล่าว 

ศ.นพ.ลินคอล์น กล่าวอีกว่า จุดแข็งของระบบสุขภาพไทย ได้แก่ การที่ไทย สร้างระบบผลิตแพทย์โดยยึดโยงกับพื้นที่ชนบท โดยกำหนดไว้ชัดเจนให้นักศึกษาแพทย์ที่เรียนจบต้องไปใช้ทุนในต่างจังหวัด 2-3 ปี ทำให้พวกเขาได้เห็นพื้นที่จริง และเห็นปัญหาของระบบสาธารณสุขจริง เพราะฉะนั้น เมื่อมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้น เพื่อยกระดับชีวิตคนในพื้นที่ชนบท แพทย์จึงพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คนในชนบท ได้เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น

“นอกจากนี้ ระบบการผลิตพยาบาลของไทยเอง ภาครัฐก็ค่อนข้างให้ความสำคัญ โดยไทยมีจำนวนพยาบาลสัดส่วนเยอะเป็นลำดับต้น ๆ ของภูมิภาค และสามารถกระจายพยาบาลได้ดีกว่าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน ขณะเดียวกัน สังคมไทยก็ค่อนข้างให้เกียรติ และให้เครดิตพยาบาลมากกว่าประเทศอื่น ๆ อาจเป็นเพราะสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระอัยยิกาของพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันเอง เคยเป็นพยาบาลมาก่อน” ศ.นพ.ลินคอล์นกล่าว

อย่างไรก็ตาม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในไทย ยังคงมีความท้าทายสำคัญหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้สูงอายุ ปัญหาจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโดยส่วนตัว เห็นว่าไทย จะต้องเตรียมรับมือโดยการฝึกบุคลากรทางการแพทย์ให้พร้อมต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ให้มากขึ้น และลงทุนกับระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยยึดชุมชนเป็นฐานในการจัดการปัญหา ซึ่งจากระบบสุขภาพที่แข็งแรง เชื่อว่าไทยจะสามารถผ่านไปได้ด้วยดี

ประธาน China Medical Board กล่าวอีกว่า เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals ที่ให้ทุกประเทศสมาชิกสหประชาชาติบรรลุเป้าหมาย มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายในปี 2573 ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา มีทิศทาง มีนโยบายไปอีกอย่าง คือมุ่งเน้นการเติบโตของภาคเอกชน แทนที่จะสร้างระบบสวัสดิการแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้คนเข้าถึงระบบบริการได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ถือเป็นโอกาสดี ที่องค์กรสหประชาชาติ หยิบยกประเด็นนี้มากำหนดเป็นเป้าหมาย เพราะทำให้ทุกองคาพยพ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอย่าง ธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก กำหนดทิศทางวาระระดับโลกมุ่งไปสู่การดูแลสุขภาพของประชากรทุกคนบนโลกนี้อย่างเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงบริการ ให้ได้มากที่สุด