ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.อุตรดิตถ์ ล้างไตผ่านช่องท้องกว่า 10 ปี ปัจจุบันมีคนไข้ 230 ราย สามารถจัดวางระบบ-บริหารน้ำยาล้างไตได้ครอบคลุมมีประสิทธิภาพ ส่งต่อ รพ.สต.เยี่ยมบ้าน ใช้ชุมชนช่วยดูแลต่อเนื่อง

น.ส.กมลธร จิตรธร พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ กล่าวถึงวิธีการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วยวิธีล้างไตผ่านช่องท้อง (CAPD) ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตอนหนึ่งว่า โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ได้เปิดให้บริการล้างไตผ่านช่องท้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2551 หรือประมาณ 10 ปีที่แล้ว โดยขณะนั้นมีคนไข้เพียง 1 คน แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 230 รายแล้ว สำหรับปัญหาที่พบจะมีเพียงเรื่องการวางสายล้างไตให้ผู้ป่วยที่ต้องใช้เวลานอนโรงพยาบาลนานเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการจัดระบบแก้ไขปัญหาแล้ว จากเดิมที่ต้องมานอนโรงพยาบาล 5-7 วัน ก็ลดลงเหลือเพียง 2-3 วัน ซึ่งจะช่วยประหยัดทั้งในส่วนของคนไข้และโรงพยาบาลด้วย

สำหรับการล้างไตผ่านช่องท้อง โรงพยาบาลจะเริ่มดูแลคนไข้ตั้งแต่การพูดคุยเพื่อให้ข้อมูลว่าวิธีการรักษามีอะไรบ้าง กระบวนการเป็นอย่างไร ตรงนี้จะทำให้คนไข้เข้าใจและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการวางสายล้างไต พักท้อง ต่อมาคือการฝึกอบรมคนไข้และคนในครอบครัวอีกประมาณ 5-7 วัน เมื่อทุกอย่างแล้วเสร็จก็จะมีการนัดผู้ป่วยมาติดตามอาการ โดยช่วงแรกจะนัดถี่หน่อยคือทุก 1 สัปดาห์ ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็จะเว้นช่วงยาวขึ้นคือ 1 เดือน 2 เดือน และ 3 เดือน

“ในส่วนของคนไข้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว เราก็จะทำหนังสือไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อแจ้งเขาว่าคนไข้ผ่าน CAPD แล้วนะ จากนั้น รพ.สต.ก็จะเข้าไปเยี่ยมบ้าน ซึ่งจะทำให้คนไข้ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง แต่จริง ๆ แล้วการประเมินสถานที่เพื่อเยี่ยมบ้านจะมีตั้งแต่ก่อนวางสายล้างไตแล้ว พอคนไข้กลับบ้าน รพ.สต.ก็จะเข้าไปดูความเรียบร้อย การจัดวางน้ำยาล้างไต ตลอดจนการดูแลตัวเอง การรับประทาน ฉะนั้นชุมชนจะช่วยดูแลผู้ป่วยต่อได้เป็นอย่างดี”น.ส.กมลธร กล่าว

น.ส.กมลธร กล่าวถึงการจัดการน้ำยาล้างไตต่อไปว่า การจัดการน้ำยาล้างไตเป็นบทบาทหลักของพยาบาลที่จะทำให้คนไข้รู้จักน้ำยาล้างไตที่มีหลากหลายชนิด ที่สำคัญคือน้ำยาล้างไตจะส่งตรงไปยังบ้านผู้ป่วย ตรงนี้เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่าคุ้มทุนในการดูแลน้ำยาล้างไตด้วย เนื่องจากในระยะแรกของการดำเนินการ เราพบปัญหาน้ำยาล้างไตไปรวมกันอยู่ที่บ้านคนไข้ในปริมาณที่มาก มีหลายความเข้มข้น

“เราจึงกลับมาคุยกันในทีมเพื่อแก้ปัญหาไม่ให้น้ำยาล้างไตไปตกค้างอยู่ที่บ้านผู้ป่วย และเวลาที่คุณหมอเปลี่ยนแผนการรักษาก็สามารถปรับแผนตามคุณหมอได้ทันท่วงที ตรงนี้จึงนำไปสู่การออกแบบฟอร์มให้คนไข้บันทึก เรียกว่าแบบฟอร์มเวชภัณฑ์ คือให้บันทึกว่าน้ำยาล้างไตเหลืออยู่ที่บ้านเท่าใด แล้วให้นำมาในวันนัดตรวจติดตามอาการ เราก็นำแบบฟอร์มนั้นมาลงในแบบฟอร์มของโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเบิกน้ำยาในช่วงปลายเดือนของทุก ๆ เดือน”น.ส.กมลธร กล่าว

ทั้งนี้ สามารถแบ่งช่องทางที่โรงพยาบาลได้รับน้ำยาล้างไตออกได้เป็น 2 ช่องทาง ประกอบด้วย 1. การเบิกผ่านระบบ DMIS ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 2. น้ำยาที่อยู่ในบ้านผู้ป่วยที่ไม่มีการใช้งานแล้ว (คนไข้อยู่ในระยะสุดท้าย หรือเสียชีวิต) ซึ่งในส่วนหลังนี้จะมีการประสานกับส่วนกลางให้รับน้ำยาจากบ้านผู้ป่วยกลับมาเป็นสต็อกของโรงพยาบาล และเรายังมีพยากรณ์อีกว่าผู้ป่วยที่มีอยู่ในมือนั้น ผู้ป่วยใดมีแนวโน้มที่จะ Drop out หรือทำล้างไตช่องท้องได้ลดลง โดยคนไข้กลุ่มนี้เราจะไม่เบิกน้ำยาไปลงที่บ้านผู้ป่วย

“การบริหารจัดการน้ำยาเหล่านี้ช่วยให้ไม่มีน้ำยาไปตกค้างที่บ้านผู้ป่วยเยอะ ประกอบกับในกระบวนการอบรมคนไข้ ที่เราจะเน้นย้ำถึงคุณค่าของน้ำยาล้างไตที่ 1 ถุงมีมูลค่าถึง 100 บาท และใน 1 เดือน จะมีการใช้ถึง 120 ถุง ฉะนั้นถ้าใครไม่ใช้น้ำยาแล้วจะขอความกรุณาให้ช่วยส่งคืนให้กับโรงพยาบาล” น.ส.กมลธร กล่าว

สำหรับความกังวลของผู้ป่วยนั้น น.ส.กมลธร กล่าวว่า มักพบว่าผู้ป่วยจะกังวลเรื่องการติดเชื้อ ซึ่งเราแก้ปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนการให้คำปรึกษา-ให้ข้อมูลตั้งแต่แรก โดยมีการบอกถึงข้อดี-ข้อเสีย ทั้งกับผู้ป่วยและคนในครอบครัว เพราะไม่ว่าจะเป็นการล้างไตผ่านช่องท้องหรือการฟอกเลือดก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย แต่การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ละเอียด และตรงไปตรงมา จะทำให้คนไข้และญาติเกิดความเข้าใจ เมื่อเขาเข้าใจแล้วก็จะป้องกันการติดเชื้อได้